การเสริมพลังเด็ก (Child Empowerment) : เสียงเล็ก ๆ กำลังเปลี่ยนโลก

image

การเสริมพลังเด็ก (Child Empowerment) : เสียงเล็ก ๆ กำลังเปลี่ยนโลก

การดำเนินชีวิตในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในหลากหลายมิติ หนึ่งในพลังสำคัญที่มักถูกมองข้ามคือ “เสียงของเด็ก” โดยปัจจุบันแนวคิดเรื่อง “การเสริมพลังเด็ก” ได้กลายเป็นประเด็นสำคัญระดับนานาชาติ
ซึ่งการเสริมพลังเด็ก (Child Empowerment) หมายถึง การส่งเสริมให้เด็กมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในการตัดสินใจที่มีผลกระทบต่อชีวิตของตนเอง โดยมุ่งเน้นการสร้างการมีอำนาจตัดสินใจด้วยตนเอง (Autonomy) ความสามารถ (Competence) และความสัมพันธ์กับผู้อื่น (Relatedness)  และแนวคิดนี้ยึดหลักสิทธิของเด็ก เสียงของเด็ก และการตัดสินใจ โดยเฉพาะเอกสารจากองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ The Organization for Economic Cooperation and Development (OECD) ได้ชี้ให้เห็นว่า การเปิดโอกาสให้เด็กได้มีสิทธิ มีเสียง และ
มีบทบาทในการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ จะช่วยสร้างพลเมืองที่มีความมั่นใจ คิดเป็น และมีความรับผิดชอบต่อสังคม

การเสริมพลังเด็กไม่ได้หมายถึงการปล่อยให้เด็กทำทุกอย่างโดยลำพัง แต่เป็นการสร้าง “พื้นที่ปลอดภัย” ที่เด็กสามารถแสดงออก เรียนรู้ และมีส่วนร่วมในชีวิตของตนเองอย่างแท้จริง โดยองค์ประกอบของการเสริมพลัง ประกอบด้วย ๓ เสาหลักสำคัญ ได้แก่ ๑) การมีส่วนร่วม (Participation) การเปิดโอกาสให้เด็กมีบทบาทอย่างแท้จริงในการตัดสินใจ ทั้งในครอบครัว โรงเรียน และชุมชน ๒) การคุ้มครอง (Protection) การเสริมพลังต้องควบคู่ไปกับการปกป้องเด็กจากอันตราย และ ๓) การจัดหาสิ่งจำเป็น (Provision) การจัดหาบริการพื้นฐานที่มีคุณภาพ อาทิ การศึกษา สุขภาพ และการสนับสนุนทางสังคม ทั้งนี้ ทั้ง ๓ องค์ประกอบต้องทำควบคู่กันอย่างสมดุล นอกจากนี้ แม้แนวทางการเสริมพลังเด็กจะเป็นเป้าหมายที่ดี แต่มีอุปสรรคในการดำเนินงานหลายประการ อาทิ การฟังเสียงเด็กเพียงเชิงสัญลักษณ์ การมองว่าเด็กยังไม่รู้เรื่อง มีองค์ความรู้และประสบการณ์ไม่เพียงพอ หรือขาดทรัพยากรในการสนับสนุนเด็กอย่างแท้จริง ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องร่วมกันสร้างนโยบาย กฎหมาย และสภาพแวดล้อมที่ “เห็นคุณค่าของเด็ก” ไม่ใช่แค่ในฐานะผู้รับบริการ แต่ในฐานะ “เจ้าของชีวิตของตนเอง”

ดังนั้น เพื่อให้การเสริมพลังเด็กเกิดขึ้นได้จริง ไม่ใช่เพียงแค่แนวคิดในเอกสาร และลดข้อจำกัดที่อาจทำให้การเสริมพลังเด็กไม่ประสบความสำเร็จ อาทิ การมีส่วนร่วมแบบเสแสร้ง (tokenism) ทัศนคติแบบผู้ใหญ่เป็นใหญ่ (Adultism) ที่ขัดขวางเสียงของเด็ก และการขาดทักษะในการส่งเสริมเด็กของผู้ใหญ่ จึงจำเป็นต้องกำหนดโครงสร้างที่สนับสนุนเด็กอย่างรอบด้าน ทั้งในระดับนโยบาย และระดับปฏิบัติ โดยแนวทางและข้อเสนอแนะ
ในการเสริมพลังเด็ก สรุปได้ดังนี้

๑) สร้างพื้นที่ให้เด็กมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
-  ส่งเสริมกลไกที่เด็กสามารถแสดงความคิดเห็น เช่น สภาเด็ก หรือเวทีสนทนาเยาวชน

-  จัดกิจกรรมที่เด็กเป็นผู้นำ (Child-led activities)

-  ใช้ภาษาที่เหมาะกับวัย เข้าใจง่าย และส่งเสริมการแสดงออก

๒) ปรับทัศนคติของผู้ใหญ่
-  ส่งเสริมแนวคิด “เด็กมีศักยภาพ” แทน “เด็กยังไม่พร้อม”

-  ฝึกอบรมครู ผู้ปกครอง และเจ้าหน้าที่ ให้เข้าใจเรื่องสิทธิเด็กและการรับฟังอย่างแท้จริง

๓) บูรณาการการเสริมพลังไว้ในระบบการศึกษา
-  พัฒนาหลักสูตรที่ส่งเสริมการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และการมีส่วนร่วมของนักเรียน

-  เปิดโอกาสให้นักเรียนมีบทบาทในการตัดสินใจเกี่ยวกับกิจกรรมหรือกฎ ระเบียบของโรงเรียน

๔) ใช้เทคโนโลยีเพื่อสื่อสาร/ขยายเสียงของเด็ก

-  พัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ปลอดภัยและเหมาะสมกับวัย

-  ส่งเสริมให้เด็กใช้สื่อดิจิทัลอย่างสร้างสรรค์ อาทิ การทำคลิป การเขียนบล็อก หรือกิจกรรมเพื่อสังคม

๕) สร้างระบบติดตามผลการดำเนินงานที่เปิดพื้นที่ให้เด็กประเมินผล
-  กำหนดตัวชี้วัดที่สะท้อนมุมมองของเด็ก

-  เปิดโอกาสให้เด็กเข้ามามีบทบาทในกระบวนการประเมินผลนโยบายหรือโครงการที่เกี่ยวข้องกับตนเอง

การเสริมพลังเด็กหากดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มีแนวโน้มที่จะมีประโยชน์/โอกาสดี ๆเกิดขึ้น ได้แก่
การเพิ่มคุณภาพชีวิต (Enhanced well-being) เกิดขึ้นเมื่อเด็กได้รับการเสริมพลังในการทำสิ่งที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับพวกเขา การเสริมพลังเด็กช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต ความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง ความเชื่อมั่น/ความมั่นใจในตนเอง และทักษะการเป็นผู้นำ ซึ่งไม่เพียงช่วยให้พวกเขาประสบความสำเร็จทางการเรียน แต่ยังเสริมสร้างความสามารถในการรับมือกับสถานการณ์ทางสังคมต่าง ๆ ด้วยความยืดหยุ่นและความมั่นใจด้วย การพัฒนานโยบายที่ดีขึ้น (Better policy making) การให้บทบาทที่มากขึ้นแก่เด็กในการพัฒนานโยบายทำให้พวกเขามีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องและเหมาะสมกับวัย ช่วยสนับสนุนการพัฒนาทางบุคลิกภาพ ของเด็กและทำให้นโยบายสะท้อนถึงความต้องการและมุมมองของเด็กได้ดียิ่งขึ้น และประชาธิปไตยที่เข้มแข็งขึ้น (Stronger democracies) ทักษะการคิดเชิงวิจารณ์ ความรู้ด้านดิจิทัล และความตระหนักเกี่ยวกับจริยธรรม เป็นทักษะสำคัญสำหรับการมีส่วนร่วมในกระบวนการประชาธิปไตย หากระบบการศึกษาช่วยพัฒนาทักษะดังกล่าวจะทำให้เด็ก
มีส่วนร่วมในฐานะพลเมืองที่มีข้อมูลและเสริมสร้างประชาธิปไตยในสังคม  ทั้งนี้ ปัจจุบันหลายประเทศได้เริ่มต้นแนวปฏิบัติดี  เช่น การจัดตั้ง “สภาเด็ก” หรือเปิดพื้นที่ให้เด็กออกแบบโครงการของตนเอง ซึ่งเป็นสัญญาณว่า
การเปลี่ยนแปลงได้เริ่มขึ้นแล้ว และหากเราฟังเสียงเด็กอย่างจริงจังตั้งแต่วันนี้ เสียงเล็ก ๆ นี้ อาจเป็นพลัง
ที่เปลี่ยนแปลงสังคมในวันข้างหน้าได้อย่างแท้จริง

-----------------------------------

 

ที่มา :   Interactive nursery manager.  (2024).  The Importance of Child Empowerment.

           Retrieved from https://www.interactivenurserymanager.co.uk/the-importance-of-child-empowerment/

          OECD.  (2024).  What Does Child Empowerment Mean Today?. 

           Retrieved from https://www.oecd.org/en/publications/what-does-child-empowerment-mean-today_8f80ce38-en.html

 

 

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด