ความฉลาดรู้ทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Literacy)
ความฉลาดรู้ทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Literacy)
สืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นทั่วโลก ยูเนสโก (UNESCO) จึงเรียกร้องให้
ทุกประเทศบรรจุการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมเข้าไปในหลักสูตรหลักภายในปี 2568 ซึ่งหากจากการพิจารณา
แผนการศึกษาและกรอบหลักสูตรเรื่อง Learn for Our Planet จากเกือบ 50 ประเทศทั่วโลก จะพบว่า มากกว่าครึ่งไม่มีการกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเลย และมีเพียง 19% เท่านั้นที่พูดถึงความหลากหลาย
ทางชีวภาพ นอกจากนี้ กว่า 1 ใน 3 ของครูผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่า ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกอบรมครู
ในการศึกษาเรื่อง Environmental Literacy, Ecological Literacy, Ecoliteracy ได้มีการนิยาม ความฉลาดรู้ทางสิ่งแวดล้อม (Environmental literacy) ไว้ว่า เป็นความสามารถในการเข้าใจและจัดการปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีรากฐานมาจากแนวคิดของทักษะความฉลาดรู้ทั่วไป (General Literacy) และถูกขยายไปสู่บริบทของสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมให้ผู้คนตระหนักถึงประเด็นปัญหาทางสิ่งแวดล้อม เข้าใจ
ระบบนิเวศน์และประยุกต์ใช้ความรู้ดังกล่าวในการแก้ปัญหาในชีวิตจริงได้ องค์ประกอบของความฉลาดรู้
ทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Literacy) ประกอบด้วย 3 มิติหลัก ได้แก่
1) มิติด้านความคิด (Cognitive Dimension) ประกอบด้วย
- ความรู้ (Knowledge) เกี่ยวกับระบบธรรมชาติและสังคม ทั้งกระบวนการทางนิเวศวิทยา กระบวนการทางชีวภาพ วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม และผลกระทบของมนุษย์ที่มีต่อระบบดังกล่าว
- ทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ (Analytical Skills) ความสามารถในการประเมิน วิเคราะห์ และทำความเข้าใจกับข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการระบุปัญหาและแนวทางการแก้ไข
- ความเข้าใจผลกระทบในระยะยาว (Understanding Long-Term Impacts) มองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงความซับซ้อนของปัญหาสิ่งแวดล้อมในระดับโลก
2) มิติด้านจิตพิสัย (Affective Dimension) ประกอบด้วย
- ทัศนคติที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental Attitudes) พัฒนาทัศนคติที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมและ
ความมุ่งมั่นในการมีส่วนร่วมเพื่อการปกป้องธรรมชาติ เช่น ความรู้สึกผูกพันและความตระหนักในคุณค่าของธรรมชาติ
- แรงจูงใจ (Motivation) ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมไปถึงความพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเพื่อการลดผลกระทบเชิงลบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม
3) มิติด้านพฤติกรรม (Behavioral Dimension) ประกอบด้วย
- การกระทำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Pro-environmental Actions) การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและการตัดสินใจที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การประหยัดพลังงาน การลดขยะและรีไซเคิล และการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน
- การมีส่วนร่วมในสังคม (Civic Engagement) เข้าร่วมกิจกรรมที่ส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น การสนับสนุนนโยบายที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือการทำงานร่วมกับองค์กรที่มีเป้าหมายเพื่อความยั่งยืน
- ความรับผิดชอบส่วนบุคคล (Personal Responsibility) ตระหนักว่าการกระทำของตนเองมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และมีความรับผิดชอบที่จะลดผลกระทบดังกล่าว
ซึ่งความสำเร็จในการพัฒนาความฉลาดรู้ด้านสิ่งแวดล้อมนั้น จำเป็นต้องพัฒนาองค์ประกอบทั้งสามมิติ
ให้เกิดความสมดุล คนที่มีความฉลาดรู้ด้านสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริงจะต้องมีความรู้และเข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้ง (Cognitive Dimension) มีแรงจูงใจและทัศนคติที่ดี (Affective Dimension) และพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม (Behavioral Dimension)
ที่มา:
- UNESCO. 2021. Learn for our planet. Retrieved 20/12/2024, from https://unesdoc.unesco.org/ark:/48223/pf0000377362
- McBride, B.B., Brewer, C.A., Berkowitz, A. R. & Borrie, W.T. 2013. Environmental literacy, ecological literacy, ecoliteracy: What do we mean and how did we get here? . Ecosphere, 4(5). https://doi.org/10.1890/ES13-00075.1