สภาพแวดล้อมการเรียนรู้ (Learning Environment)

image

สภาพแวดล้อมการเรียนรู้  (Learning Environment)

สภาพแวดล้อมการเรียนรู้ คือ สิ่งต่างๆ และสภาวะแวดล้อมที่อยู่รอบๆ ตัวผู้เรียน ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม ซึ่งส่งผลต่อผู้เรียนทั้งทางบวกและทางลบ และมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลการเรียนรู้ของผู้เรียน และเป็นสถานที่ที่ผู้คนได้เรียนรู้ ซึ่งอาจรวมถึงพื้นที่ทางกายภาพ เช่น ห้องเรียน โรงเรียน หรือสถานที่ทำงาน พื้นที่เสมือนจริง เช่น แพลตฟอร์มดิจิทัล หรือพื้นที่ผสมผสานที่ผสมผสานทั้งองค์ประกอบทางกายภาพและดิจิทัลเข้าด้วยกัน สภาพแวดล้อมการเรียนรู้เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา โดยปรับให้เข้ากับความต้องการของนักเรียน ซึ่งหมายความว่าครูจะต้องปรับสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ให้เหมาะสมอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยให้นักเรียนบรรลุเป้าหมายทางการศึกษา

สภาพแวดล้อมการเรียนรู้สามารถแบ่งได้เป็น ๓ ประเภท ดังนี้

๑. สภาพแวดล้อมทางกายภาพ  สภาพแวดล้อมการเรียนรู้ทางกายภาพครอบคลุมทุกแง่มุมที่จับต้องได้ของพื้นที่การเรียนรู้ ซึ่งรวมถึงการจัดวางทางกายภาพและการออกแบบห้องเรียน  ซึ่งมีความแตกต่างกันในโรงเรียนแต่ละระดับการศึกษา อาทิ สภาพแวดล้อมที่มีชีวิตชีวาและสนุกสนานในโรงเรียนระดับประถมศึกษา และการจัดการที่มีโครงสร้างมากขึ้นในวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย  นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงบ้านและการเรียนรู้รูปแบบอื่น ๆ ทั้งการเรียนรู้ออนไลน์ การเรียนรู้ทางไกล ซึ่งการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่แตกต่างและปราศจากสิ่งรบกวนมีความสำคัญและส่งผลต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน

๒. สภาพแวดล้อมทางจิตวิทยา  สภาพแวดล้อมทางจิตวิทยาที่มีประสิทธิภาพจะช่วยส่งเสริมให้นักเรียนมีส่วนร่วมกับหลักสูตรและมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนด้วยกันเอง ซึ่งจะช่วยเสริมพัฒนาทั้งของผู้เรียนเองและการเรียนรู้หรือการพัฒนาทักษะที่ส่งผลต่อวิชาชีพ ครูสามารถสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่ดี เพื่อสร้างความไว้วางใจและความรู้สึกปลอดภัยและเป็นมิตรให้กับผู้เรียน  ซึ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนมีโอกาสในการเรียนรู้ และมีส่วนร่วมในการตั้งคำถามและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพิ่มมากขึ้น

๓. สภาพแวดล้อมทางอารมณ์ การจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนอาจส่งผลให้เกิดความเครียดได้กับผู้เรียนในทุกช่วงวัย ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมนักเรียนจึงต้องมีสภาพแวดล้อมทางอารมณ์เชิงบวกที่ช่วยสนับสนุนเส้นทางและประสิทธิภาพในการศึกษาและเรียนรู้ ซึ่งการสร้างสภาพแวดล้อมทางอารมณ์ที่ดี ที่ส่งเสริมการแสดงออกและความเป็นอิสระในการแสดงอารมณ์ของผู้เรียนเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสภาพแวดล้อมทางจิตวิทยาที่ทำให้ผู้เรียนรู้สึกปลอดภัยด้วย

          เมื่อพิจารณาสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ของผู้เรียนในปัจจุบัน พบว่ามีความแตกต่างกันตามวิธีการเรียนรู้ของผู้เรียนอีกด้วย โดยแบ่งเป็น ๔ ประเภท ดังนี้

๑. สภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง จะเน้นไปที่ผู้เรียนแต่ละคนและผู้เรียนโดยรวม สภาพแวดล้อมเหล่านี้มุ่งเน้นไปที่วิธีการเรียนรู้ที่ดีที่สุดของผู้เรียน ในสภาพแวดล้อมเหล่านี้ ผู้เรียนจะเป็นผู้ควบคุมกระบวนการเรียนรู้และเนื้อหาที่ผู้เรียนสนใจ

. สภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่เน้นความรู้ เน้นไปที่ความรู้ที่ผู้เรียนได้รับจากเนื้อหา สภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่เน้นความรู้นั้น มีโครงสร้างที่ชัดเจนสำหรับสิ่งที่ผู้เรียนที่มีเป้าหมายและมีความคาดหวังที่จะเรียนรู้

๓. สภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่เน้นการประเมินและข้อเสนอแนะ เพื่อช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาทักษะหรือบรรลุเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจง สภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่เน้นการประเมินมักมีโครงสร้างที่ชัดเจน และมีการใช้เหตุการณ์สำคัญเพื่อช่วยให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนาและการเรียนรู้ ส่งเสริมให้การเรียนรู้ของผู้เรียนสามารถบรรลุตามเป้าหมาย

๔. สภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่เน้นชุมชน จะเน้นไปที่การสร้างเครือข่ายความร่วมมือของชุมชนที่ทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุภารกิจต่างๆ สภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่เน้นชุมชนจะเน้นไปที่ปฏิสัมพันธ์กลุ่ม พลวัตของกลุ่ม และการสร้างสภาพแวดล้อมที่ผู้เรียนช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยพื้นฐานของสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่เน้นชุมชนเป็นศูนย์กลางจะเน้นการส่งเสริมค่านิยมหรือบรรทัดฐานที่ชัดเจนในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของผู้เรียน อาทิ ผู้เรียนรู้สึกมั่นใจที่จะตั้งคำถามและกล้าที่จะพูดว่า “ไม่รู้”  รวมทั้งกิจกรรมที่เน้นชุมชนเป็นศูนย์กลางยังช่วยให้ผู้เรียนได้เห็นมุมมองของตนเองที่อาจแตกต่างจากความคิดเห็นของเพื่อนๆ และร่วมกันตัดสินว่าความแตกต่างดังกล่าวจะเป็นที่ยอมรับได้หรือไม่ และกิจกรรมในลักษณะนี้ยังเป็นโอกาสที่ทำให้ผู้เรียนเข้าใจแนวคิดเกี่ยวกับความความคิดที่แตกต่างในสังคม โดยใช้การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันเพื่อฝึกให้ผู้เรียนรู้จักการยอมรับ ความอดทน การทำงานร่วมกัน และความเคารพต่อผู้อื่น

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาสภาพสังคมในปัจจุบันและการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดดที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงได้ดังกล่าวได้ส่งผลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเรียนรู้ของนักเรียนและรูปแบบการสอน อาทิ ผู้เรียนมีการเรียนรู้อย่างไม่เป็นทางการ (ไม่มุ่งเน้นปริญญาบัตร) เพิ่มขึ้น ความรู้พื้นฐานที่ความแตกต่างของนักเรียนในห้องเรียน และความไม่สอดคล้องระหว่างการเลือกอาชีพของผู้เรียนและทิศทางการพัฒนากำลังคนของประเทศ ดังนั้น การจัดการศึกษาอาจต้องปรับเปลี่ยนจากสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ (Learning Environment) ในปัจจุบันเป็นสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ หรืออาจเรียกว่าสภาพแวดล้อมการเรียนรู้อัจฉริยะ (Smart Learning Environment) โดยนำนวัตกรรมที่เกิดขึ้นใหม่มาใช้ในส่งเสริมและการจัดการเรียนการสอน เช่น ห้องเรียนอัจฉริยะ (Smart Classroom) ห้องเรียนที่พลิกกลับ (flipped classroom) การเรียนรู้ผ่านเกม (game based learning) การเรียนรู้ด้วยการเคลื่อนไหว (gesture based learning) รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาที่เกี่ยวข้อง อาทิ การจัดทำแฟ้มสะสมผลงาน (portfolio) การเรียนรู้ตลอดชีวิต และการสอนร่วมกัน (team teaching) ซึ่งจะเป็นแนวทางในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของไทยให้เหมาะสมกับยุคสมัยต่อไป

--------------------------------------------

เอกสารอ้างอิง :

มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่. ม.ป.ป. บทที่4 การจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้. [Presentation] แหล่งที่มา: https://gened2.cmru.ac.th/ge_learning/src/gen1302/GEN1302-C4.pdf

Dimitriadou, A. 2024. Artificial intelligence in smart learning environments: an overview and case studies. [PhD. Thesis, Cyprus University of Technology] Available from: https://hdl.handle.net/20.500.14279/32478

IRIS. n.d. How can faculty present important content to be learned in ways that improve student learning? Page 5: Community-Centered Learning Environments. [Online] Available from: https://iris.peabody.vanderbilt.edu/
module/hpl/cresource/q1/p05/

Kinshuk, Nian-Shing Chen, I-Ling Cheng & Sie Wai Chew. 2016. Evolution Is not enough: Revolutionizing Current Learning Environments to Smart Learning Environments. International Journal of Artificial Intelligence in Education, 26:561-581. DOI 10.1007/s40593-016-0108-x

Lee, S. 2024. 3 Types of Learning Environments. [Online] Available from: https://www.wgu.edu/blog/3-types-learning-environments2111.html

Williams, K. & Clint, F. 2023. Learning Environment | Definition, Types & Characteristics. [Online] Available from: https://shorturl.at/tImJv

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด