การสัมภาษณ์ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ จากมุมมองที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติและที่แก้ไขเพิ่มเติม และแนวทางของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่

image

1. ความจำเป็นที่ต้องเร่งยกเครื่องการศึกษาทั้งระบบ

           โลกในศตวรรษที่ 21 ขับเคลื่อนด้วยทุนมนุษย์และเทคโนโลยี แต่เทคโนโลยีจะพัฒนาขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีทุนมนุษย์ที่มีความสามารถพอ วิกฤตการศึกษาไทยที่สะท้อนผ่านความเหลื่อมล้ำ ความล้าหลังและความอ่อนด้อยได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพของคนไทย อย่างน้อย 2 ประการ ได้แก่ 1) การขาดความรู้ความสามารถที่จะรับมือ กับชุดของโอกาสและความท้าทายในศตวรรษที่ 21 และ 2) การขาดโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียม เป็นปฐมบทของช่องว่างความเหลื่อมล้ำในหลากหลายมิติที่ถ่างมากขึ้น นำไปสู่วิกฤตทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และการถูกครอบงำจากต่างประเทศตามมา สภาวการณ์ต่าง ๆ ข้างต้นอาจนำไปสู่วิกฤตชาติในอนาคต ดังนั้นจึงต้องเร่งแก้ไขวิกฤตทางการศึกษาซึ่งเป็น “วิกฤติฐานราก” ที่ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบตามมาเป็นลูกโซ่ ดังภาพ 1

ภาพ 1  วิกฤตทางการศึกษา เป็น “วิกฤตฐานราก” ก่อเกิดผลกระทบเชิงลบเป็นลูกโซ่

          การยกเครื่องระบบการศึกษาจึงเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นและพอเพียงที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วได้อย่างแท้จริง

 

2. ประเด็นปัญหาของระบบการศึกษาไทยในภาพรวม

          ปัญหาของระบบการศึกษาไทยเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ไล่ตั้งแต่ต้นน้ำจนปลายน้ำ ต้นน้ำ คือ ระดับโครงสร้างธรรมาภิบาล (Governance Structure) กลางน้ำ คือ ระดับนโยบายและยุทธศาสตร์ (Policy and Strategy) และปลายน้ำ คือ ระดับปฏิบัติการ (Execution) ดังภาพที่ 2  

ภาพ 2 ปัญหาเชิงระบบการศึกษาไทย

           ในระดับโครงสร้างธรรมาภิบาล ยังมีความอ่อนแอในเชิงสถาบัน (Institutional Framework) ภายใต้ระบบนิเวศทางการศึกษา 3 ผู้มีบทบาทหลัก (Key Player) อันได้แก่ 1) ภาคการเมือง 2) ระบบราชการ และ 3) ผู้มีส่วนได้เสีย (Interest Groups) ขาดเจตจำนงร่วมในการขับเคลื่อนการศึกษาไทยอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ดังภาพ 3

ภาพ 3 สภาพความอ่อนแอของสถาบันในระบบนิเวศทางการศึกษา

          การเมือง ซึ่งเป็นภาคที่มีความสำคัญมากต่อการพัฒนาศึกษายังติดอยู่ในกับดัก Short-termism 
ในลักษณะมองสั้นไม่มองยาว การเห็นแก่ประโยชน์ระยะสั้นที่อาจส่งผลเสียในระยะยาว (Short-term Gain Long-term Loss) เน้นสร้างคะแนนเสียงจากประชาชนเพียงเพื่อการชนะเลือกตั้ง ทำให้การศึกษาซึ่งเป็นการลงทุนระยะยาว (Long-Term Investment) และต้องใช้เวลาไม่ได้รับความสนใจและใส่ใจ พรรคการเมืองยังให้ความสำคัญกับวาระการศึกษาเป็นลำดับรอง ที่สำคัญไม่เพียงแต่ขาดเจตจำนงทางการเมืองที่จะแก้ไขปัญหาด้านการศึกษาอย่างจริงจัง ยังเอาทรัพยากรทางการศึกษาไปแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมือง

          ระบบราชการ ยังติดกับดัก Bureaucracy ของการบริหารจัดการแบบรวมศูนย์ (Centralized Hierarchical Structure) เฉื่อยต่อการเปลี่ยนแปลง มีแนวโน้มต่อต้านการเปลี่ยนแปลง ทำให้การศึกษาไทยปรับเปลี่ยนไม่ทัน อีกทั้งในการทำงานยังยึดปัจจัยนำเข้า (Input-Based) เป็นหลัก ไม่ได้มุ่งผลสัมฤทธิ์(Outcome - Based) ที่ยึดพัฒนาการของเด็กและเยาวชนเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก

          ผู้มีส่วนได้เสีย ไม่ว่าจะเป็นตัวเด็กและเยาวชน ผู้ปกครอง ชุมชนท้องถิ่น องค์กร สมาคม สถาบันด้านการศึกษา มีความอ่อนแอ ขาดอำนาจต่อรอง ไม่มีเจตจำนงและเป้าหมายร่วมกัน ขาดการผนึกกำลัง (Collective Action) ปัจจุบันต่างคนต่างดำเนินการอย่างกระจัดกระจาย แบบเบี้ยหัวแตก ทำให้ไม่มี Power to Lead the Change

          ในระดับนโยบายและยุทธศาสตร์ เรามีภาพฝันของนโยบายและยุทธศาสตร์ตลอดจน Best Practices และ Lesson Learned ทางการศึกษาอยู่จำนวนมาก สูญเสียงบประมาณจำนวนไม่น้อยกับการไปดูงานการศึกษาจากต่างประเทศ แต่ภาพฝันดังกล่าวไม่ได้ถอดรหัสออกมาสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง (Thinking - Doing Gap)

          ความอ่อนแอของสถาบันในระบบนิเวศทางการศึกษา ไม่ว่าจะเป็น ภาคการเมือง ระบบราชการ และผู้มีส่วนได้เสีย ส่งผลให้การพัฒนาหรือการปฏิรูปการศึกษาขาดเจ้าภาพที่แท้จริง ไม่มีวิสัยทัศน์ร่วม ขาดเจตจำนงร่วมเชิงยุทธศาสตร์ และความมุ่งมั่นอันแรงกล้า ไม่มีพิมพ์เขียวหรือแผนแม่บท ตลอดจนข้อบังคับกำกับการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง

          จะเห็นได้จากความล้มเหลวของความพยายามที่จะปฏิรูปการศึกษาครั้งแล้วครั้งเล่าจนกระทั่ง เกิดกลายเป็นความชินชาและความเบื่อหน่ายทุกครั้งที่มีการพูดถึงการปฏิรูปการศึกษา  

          ในระดับการปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติยังทำงานในรูปแบบเดิม ๆ (Business as Usual) มีกระบวนทัศน์การทำงานแบบเดิม ๆ ไม่ยอมปรับเปลี่ยนภายใต้สภาวะแวดล้อมและพลวัตที่เปลี่ยนไป

          ความอ่อนแอของสถาบันในระบบนิเวศทางการศึกษา นโยบายและยุทธศาสตร์ที่ไม่ชัดเจนต่อเนื่อง ก่อให้เกิดประเด็นปัญหาในระดับปฏิบัติ มากมาย อาทิ

                    1) ค่าตอบแทนและสวัสดิการครูได้รับการปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมา แต่ค่าตอบแทน และสวัสดิการดังกล่าวเป็นเพียงเงื่อนไขที่จำเป็นแต่ไม่พอเพียงต่อการปลดปล่อยศักยภาพของครูอย่างเต็มที่ ค่าตอบแทนและสวัสดิการดังกล่าว จะต้องดำเนินการควบคู่กับการบริหารจัดการหนี้ครูที่เป็นหนึ่งในประเด็นปัญหาใหญ่ในปัจจุบันพร้อม ๆ กับป้องกันไม่ให้เกิดเป็นประเด็นปัญหาขึ้นอีกในอนาคตได้อย่างไร

                    2) จะทำอย่างไรให้ “ครูติดถิ่น” และ “ครูคืนถิ่น” เพื่อตัดวงจรการวิ่งเต้นขอย้ายไปยังภูมิลำเนา ที่ต้องการและทำให้ครูมีความทุ่มเทกับการเรียนการสอนอย่างเต็มที่

                    3) จะทำอย่างไรให้ครูมีเส้นทางอาชีพที่สามารถเติบโตได้ในสายของการเรียนการสอนจะได้ทุ่มเทให้กับเด็กได้อย่างเต็มที่ แทนที่จะพยายามหาโอกาสแข่งขันขึ้นสู่ตำแหน่งบริหารเพียงอย่างเดียว

                    4) จะทำอย่างไรที่จะลดภาระที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนของครู

                    5) ภายใต้พลวัตโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จะทำอย่างไรให้มีการพัฒนาครูอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความรู้ความเข้าใจในพลวัตโลก แนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน รูปแบบการเรียนรู้ ที่หลากหลาย ความเข้าใจในโอกาส ข้อจำกัด และภัยคุกคามจากปัญญาประดิษฐ์

                    6) จะทำอย่างไรให้ระบบการประเมินตรงปก ไม่ว่าจะเป็นการประเมินผู้เรียน ครู หรือโรงเรียน ต้องกำหนดตัวชี้วัดที่ตอบคำถามได้ว่า การประเมินผู้เรียนสะท้อนพัฒนาการของผู้เรียนได้จริงหรือไม่ การประเมินครูสะท้อนภารกิจทั้งเชิงประสิทธิผล คุณภาพและประสิทธิภาพได้มากน้อยเพียงใด การประเมินโรงเรียนหากใช้ได้จริง โรงเรียนที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานแล้วต้องทัดเทียมกัน ความเหลื่อมล้ำของโรงเรียน จากความแตกต่างของขนาดและที่ตั้งต้องลดลง

          การกำหนดตัวชี้วัดเป็นสิ่งสำคัญในการกำหนดทิศทางการศึกษา ดังคำว่า You Are What You Measure การกำหนดตัวชี้วัดที่ไม่สอดคล้อง เหมาะสม ทำให้เกิดการทุ่มเททรัพยากรไปในทิศทางที่ไม่ตอบโจทย์ เกิดปรากฏการณ์ “ถมไม่เต็ม” สิ้นเปลืองทรัพยากรโดยไม่ได้ยกระดับคุณภาพการศึกษาให้ดีขึ้น  

          ปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบการศึกษาไทยในทั้ง 3 ระดับ ดังกล่าวทำให้ผลผลิตและผลลัพธ์ไม่ตอบโจทย์ ส่งผลให้เด็กและเยาวชนไทยส่วนใหญ่เมื่อเติบโตไปไม่สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพและเป็นปกติสุขเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ในสังคมศตวรรษที่ 21

          ปัญหาใหญ่ของเด็กไทยที่พบ ได้แก่ การอ่านได้แต่ไม่เข้าใจ คิดไม่เป็น ทำงานไม่เป็น สื่อสารไม่ได้ ทั้งการสื่อสารด้วยภาษาและเทคโนโลยีดิจิทัล สะท้อนจากคะแนน PISA ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งการอ่าน การคิดวิเคราะห์แบบวิทยาศาสตร์และการใช้ภาษาอังกฤษ โดยรวมแล้วเด็กไทยโดยส่วนใหญ่ยังมีคุณภาพต่ำ โอกาสน้อย มีแรงบันดาลใจต่ำ ขาดเจตจำนงและเป้าหมายในการเรียนรู้ มีปัญหาการหลุดออกจากระบบการศึกษา ขาดการพัฒนาตนเองและการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างต่อเนื่อง

 

3. การปรับเปลี่ยนระบบนิเวศการเรียนรู้

          พลวัตโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับเปลี่ยนทางเทคโนโลยีได้ทำให้ระบบนิเวศการเรียนรู้เปลี่ยนไปจาก The School is My World เป็น The World is My School นโยบาย ยุทธศาสตร์ และการบริหารจัดการทางการศึกษาจึงต้องปรับเปลี่ยน โดยเน้นการสร้างสมดุลระหว่างการเรียนรู้ในห้องเรียน ในโรงเรียนและในระบบ กับการเรียนรู้นอกห้องเรียน นอกโรงเรียน และนอกระบบ

          ภายใต้ The World is My School จะมี 2 โลกการเรียนรู้ คือ การเรียนรู้ทั้งจากโลกจริงและโลกเสมือนจะต้องจัดความสมดุลของการเรียนรู้ ใน 2 โลก เพื่อให้เด็กสามารถ Optimize การเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่

          มิเพียงเท่านั้น ภายใต้ The World is My School ต้องทำให้เด็กสามารถเข้าถึง Physical และ Digital Platform ทั้งส่วนของ Hardware และ Software ในต้นทุนที่ต่ำ เข้าถึง Content และ Application ที่มีประโยชน์และมีคุณภาพ รวมถึงการนำปัญญาประดิษฐ์มาช่วยยกระดับการเรียนรู้ควบคู่ไปกับการลด ความเหลี่ยมล้ำทางด้านการศึกษาในเวลาเดียวกัน

          หลักสูตรภายใต้ The World is My School นี้จะต้องมีความยืดหยุ่น มีทางเลือก มีทั้งส่วนที่เป็นสากล ส่วนที่สอดรับกับบริบทเชิงพื้นที่ รวมถึงส่วนที่ตอบโจทย์ความต้องการและศักยภาพรายบุคคล

          3.1) หลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อการใช้ชีวิตในโลกกว้าง

​         ​         หลักสูตรภายใต้ The World is My School จะต้องเน้นการเรียนการสอนเพื่อการเข้าใจชีวิต (Life) ควบคู่ไปกับการดำรงชีพ (Living) ในโลกกว้าง

​         ​         ในความเป็นจริง สังคมไทยมีหลักคิดเพื่อการเข้าใจในชีวิตและการดำรงชีพอยู่ไม่น้อย ยกตัวอย่าง เช่น หลักปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ ปริยัติ หมายถึง การเรียนรู้ (Learning) ปฏิบัติ หมายถึง การพัฒนาทักษะผ่านการลงมือทำ การฝึกฝน (Practicing) เพื่อสั่งสมประสบการณ์ และปฏิเวธ หมายถึง ความกระจ่างชัด จนเกิดเป็นปัญญา (Realizing) ซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของอับราฮัม มาสโลว์ ในการพัฒนาให้เต็มศักยภาพของตนเอง นำไปสู่ขั้นการบรรลุความหมายเติมเต็มความสมบูรณ์ของชีวิต (Self Actualization)

​         ​         ในการใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติสุข ในศตวรรษที่ 21 เด็กและเยาวชนต้องมีความรู้คู่ปัญญา หลักสูตรการศึกษาควรสร้างปัญญาสำหรับการใช้ชีวิต (Wisdom for Life) และ ความรู้สำหรับการดำรงชีพ(Knowledge for Living) ควบคู่กันไป

​         ​         เนื้อหาสาระในหลักสูตรควรประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก ได้แก่ 1) ชุดการเรียนรู้ฐานราก (Fundamental-Based Learning) 2) ชุดการเรียนรู้เชิงฟังก์ชัน และการเรียนรู้รายประเด็นเพื่อการพัฒนาเฉพาะทางหรือ ตอบโจทย์เฉพาะเรื่อง (Functional & Agenda -Based Learning) ดังภาพ 4

ภาพ 4 ชุดการเรียนรู้ 2 ระดับที่ควรมีในหลักสูตร

                    3.1.1 ชุดการเรียนรู้ฐานราก (Fundamental-Based Learning) เป็นชุดความรู้ที่มีความสำคัญแต่หลักสูตรในระบบการศึกษาไทยยังขาดส่วนนี้ไปไม่น้อย ประกอบไปด้วย

                                        1. ชุดค่านิยมที่ถูกต้อง (The Right Values) แม้จะมีค่านิยมที่ดีจำนวนมากสังคมไทยแต่ก็ยังมีค่านิยมผิด ๆ ที่ฝังรากมานานและไม่เคยคิดแก้ไขเปลี่ยนแปลง อาทิ อำนาจนิยม วัตถุนิยม สุขนิยม และบริโภคนิยมจึงควรปลูกฝังค่านิยมที่ 1) ยึดประโยชน์ส่วนรวม 2) เน้นสิทธิที่มาพร้อมหน้าที่ 3) ยึดหลักการและความถูกต้อง 4) เน้นการรู้จักอดเปรี้ยวไว้กินหวาน 5) เน้นเนื้อหาสาระมากกว่ารูปแบบ 6) เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ 7) เน้นเนื้องานมากกว่าคอนเนคชั่น ค่านิยมที่ถูกต้องดังกล่าวจะเป็นฐานรากสำคัญของการสร้าง 1) สังคมที่โปร่งใสตรวจสอบได้ (Clean & Clear Society) 2) สังคมที่เสรีและเป็นธรรม (Free & Fair Society) และ 3) สังคมที่เอื้ออาทรและแบ่งปันกัน (Care & Share Society)  

                                        สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความย้อนแย้งอยู่ค่อนข้างมาก แต่เราไม่เคยปรับเปลี่ยนความย้อนแย้ง ให้เป็นพลัง ประเทศอิสราเอลเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจที่สามารถนำความย้อนแย้งมาทำให้เกิดพลัง อาทิ 1) การผสมผสานระหว่างความทันสมัยกับขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิม 2) การนำเรื่องศาสนามาผสาน กับการดำรงชีวิตของประชาชนในทางโลก ได้อย่างลงตัว 3) การพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยไม่ลืมวิถีชีวิตเดิม (โดยแต่ละสัปดาห์กำหนดให้ 1 วัน เป็นวันงดใช้ไฟฟ้า) และ 4) การสร้างครอบครัว ที่มีความผูกพันกัน (แต่ละสัปดาห์กำหนดให้ 1 วัน เป็นวันที่ทุกคนในครอบครัวจะทำกิจกรรมร่วมกัน) สังคมอิสราเอลมองว่าทุกคนอยู่ในครอบครัวเดียวกันพร้อมให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน (It's Not Just About You)

                                        สังคมไทยควรปรับค่านิยมให้ถูกต้องและสอดรับกับบริบทของโลกศตวรรษที่ 21 ยกตัวอย่างเช่น การน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาสร้างความลงตัว ความพอประมาณ ความพอดี รวมถึงการพึ่งพาตนเอง พึ่งพากันเอง และรวมกันเป็นกลุ่มอย่างมีพลัง ตลอดจนการหลอมรวมความเป็นสากลเข้ากับความเป็นไทยในทำนองเช่นเดียวกับกรณีของอิสราเอล

                                        2. ชุดความคิดที่ถูกต้อง (The Right Mind Set) ควรปลูกฝังชุดความคิดที่ถูกต้องก่อนการพัฒนาทักษะและความรู้ให้กับเด็ก เพราะหากมีชุดความคิดที่ไม่ถูกต้องอาจใช้ความรู้ความสามารถและทักษะในทางที่ผิด อย่างน้อยต้องปลูกฝัง 3 ชุดความคิดตั้งแต่เด็ก ได้แก่ 1) ความเป็นพลเมืองโลก (Global Mindset) ที่ตระหนักถึงความเป็นพลเมืองของประเทศและท้องถิ่น (National & Local Citizen) ควบคู่ไปด้วย 2) ความคิดที่ก้าวไปข้างหน้า (Growth Mindset) การพัฒนาตนเอง เอาชนะข้อจำกัด ล้มแล้วลุกได้ มองโลกของความเป็นไปได้ และ 3) ความคิดที่มองระบบนิเวศเป็นศูนย์กลาง (Eco-Centric Mindset) เห็นแก่ส่วนรวม มนุษยชาติ ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากกว่าการเห็นประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก  

                                        3. ชุดทักษะ (Skills Set) เพื่อการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพ เช่น การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) ทักษะการสื่อสาร (Communication Skills) และทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น (Collaboration Skills)

                                        4. ชุดเครื่องมือ (Tools Set) ปลูกฝังความชำนาญในการนำเครื่องมือมาสนับสนุนการทำงานหรือการดำรงชีวิต อาทิ การใช้ปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีโลกเสมือน (Augmented Reality: AR, Mixed Reality: MR, Virtual Reality: VR)  

                                        5. ชุดของความฉลาดรู้ (Literacy)  อาทิ ความฉลาดรู้ในการใช้ชีวิต (Life Literacy) ความฉลาดรู้ทางสังคม (Social Literacy) ความฉลาดรู้ในการติดต่อสื่อสาร(Communication Literacy) ความฉลาดรู้ด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี (Digital and Technology Literacy) เป็นต้น

                    3.1.2. ชุดการเรียนรู้เชิงฟังก์ชัน และการเรียนรู้ผ่านโจทย์หรือประเด็นท้าทาย (Functional & Agenda-Based Learning)

                    เป็นความรู้พื้นฐานสำหรับนำไปใช้ในชีวิตประจำวันหรือการประกอบอาชีพ ประกอบด้วย ความรู้ใน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ (ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม สุขศึกษาและพลศึกษา ศิลปะ การงานอาชีพและเทคโนโลยี และภาษาต่างประเทศ) ควรออกแบบหลักสูตรให้เกิดการบูรณาการองค์ความรู้จากทั้ง 8 กลุ่ม เพื่อพัฒนากระบวนการเรียนรู้จากการบูรณาการดังกล่าว อาทิ การมอบหมายงานที่เป็นลักษณะโครงงาน การทำงานเป็นทีม การมอบหมายงานที่ค่อย ๆ เพิ่มขอบเขต และขนาดของโครงงานเพื่อเพิ่มพูนทักษะและความรู้ข้ามศาสตร์ที่ต้องใช้ในการทำให้โครงการบรรลุผลสัมฤทธิ์ การปรับเปลี่ยนจากการหยิบยื่นการเรียนรู้ให้เด็ก (For Youth) มาเป็นการเรียนรู้ร่วมกับเด็ก (With Youth) และการเรียนรู้โดยเด็ก (By Youth) ให้มากขึ้น

          3.2 การปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้เพื่อการใช้ชีวิตในโลกกว้าง

          กระบวนการจัดการเรียนการสอนภายใต้ The World is My School จะต้อง 1) ยึดตัวผู้เรียนมากกว่าผู้สอนเป็นศูนย์กลาง 2) เปิดโอกาสให้เรียนรู้มากกว่าเน้นการสอน 3) ทิ้งเชื้อให้ไปคิดต่อมากกว่าหลักสูตรปรุงสำเร็จ 4) เน้นความคิดสร้างสรรค์มากกว่าการลอกเลียนแบบ 5) เน้นการลงมือปฏิบัติมากกว่าทฤษฎี 6) เน้นการพึ่งพาตนเองมากกว่าการพึ่งพาผู้อื่น  และ 7) เน้นการสร้างความเป็นคนมากกว่าการสร้างความเป็นตน 

          กระบวนการเรียนรู้เพื่อการใช้ชีวิตในโลกกว้างจะต้องเป็นการผสมผสาน Learning, Living และ Loving ไปด้วยกันอย่างลงตัว เริ่มต้นจาก 1) รักที่จะเรียนรู้ (Love to Learn) เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ต่อการเรียน และ 2) รู้ที่จะเรียน (Learn to Learn) เพื่อให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการแสวงหาแนวทางการเรียนรู้ที่เหมาะสมครอบคลุมทั้ง Why, What, How to Learn รวมถึงเครื่องมือในการเรียนรู้มากมาย อาทิ การจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย ทั้งการเรียนรู้ในโรงเรียนและในระบบกับนอกโรงเรียนและนอกระบบ การเรียนรู้ต้องยืดหยุ่นเป็นวงจรของการเรียนรู้ (Learning) และการพัฒนาปรับปรุงให้ดีขี้น (Improving) จนกลายเป็นวงจรการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง (Self-Learning) ติดตัวไปตลอดชีวิต เอื้อให้เกิดผลลัพธ์ในเรียนรู้ที่จะอยู่รอด (Learn to Live) คือการเรียนรู้เพื่อความเป็นตนควบคู่ไปกับเรียนรู้ ที่จะรัก (Learn to Love) คือการเรียนรู้เพื่อสร้างความเป็นคน ดังภาพ 5 โดยการผสมผสานผลลัพธ์การเรียนรู้ทั้งสองให้สมดุลกันระหว่างความเป็นตนและสร้างความเป็นตนถือเป็นสาระสำคัญหนึ่งในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

ภาพ 5 การปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้

          3.3 เป้าหมาย บทบาทของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง บริบทและพัฒนาการของการเรียนรู้

          หลักสูตรควรมีความยืดหยุ่นรองรับพลวัตการเปลี่ยนแปลง (ดังภาพ 6) องค์ประกอบสำคัญของการเรียนรู้ คือ เนื้อหาและกระบวนการเรียนรู้ เนื้อหาที่ผสมผสานอย่างลงตัวในกระบวนการเรียนรู้ต้องทำให้ผู้เรียนสนุก เกิดแรงบันดาลใจ มีบรรยากาศของการเอื้ออาทรและแบ่งปันกัน ปลูกฝึกฝังนิสัย “การสำรวจสืบค้น” (Exploring) ให้ผู้เรียนท่องไปในโลกกว้างทั้งโลกจริงและโลกเสมือน รู้จักฝึกใช้จินตนาการ รังสรรค์ความคิดใหม่ ๆ กล้าที่จะลองผิดลองถูกในการทดลองทดสอบความรู้ (Experimenting) เพื่อสร้างเสริมประสบการณ์จากการเรียนรู้ (Experiencing) และนำองค์ความรู้ที่ได้ไปแชร์ไปแบ่งปันกับผู้อื่น (Exchanging) เพื่อปลูกฝัง “Free Culture” ที่เน้น Free to Take ควบคู่ไปกับ Free to Share

          ภายใต้แนวคิด The World is My School ต้องมีเป้าหมายการเรียนรู้ 4 ประการ ที่ยึดโยงกันเป็นองค์รวม ได้แก่ 1) การเรียนรู้อย่างมี “ความมุ่งมั่นและเป้าหมาย” (Purposeful  Learning) 2) การเรียนรู้ที่เน้นการรังสรรค์ (Generative Learning) 3) การเรียนรู้ที่เน้น “การมีส่วนร่วมและแบ่งปัน” (Collective Learning) และ 4) การเรียนรู้ที่ “เน้นผลสัมฤทธิ์” (Resual-Based Learning)

          จากการวิจัยของคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าบทบาทของครูและผู้ปกครอง ควรเป็นหุ้นส่วนในการสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ให้กับเด็ก ประกอบด้วย 1) การเฝ้าติดตามการพัฒนาการ อยู่ห่าง ๆ (Monitoring) โดยไม่เข้าไปรุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวของเด็กมากจนเกินงาม 2) การสนับสนุนทางจิตใจ (Moral Support) คอยให้กำลังใจเมื่อล้มแล้วลุกได้ สามารถก้าวผ่านช่วงเวลายากลำบาก และ 3) การคอยให้คำแนะนำปรึกษา (Mentoring) ซึ่งแตกต่างจากเดิมที่ครูมีหน้าที่สอน และเด็กมีหน้าที่เรียนเท่านั้น
แต่โลกปัจจุบันทั้งครูและเด็กต้องมีทั้งสองบทบาทเป็นทั้งผู้สอนและเป็นผู้เรียนด้วย ครูนอกจากสอนแล้วสามารถเรียนรู้จากเด็กได้ เด็กนอกจากเรียนแล้วยังสอนให้เพื่อนร่วมชั้นและครูในสิ่งที่ตัวเองสนใจหรือถนัดได้

          ตัวอย่างกรณีศึกษาการทำวิจัย โครงการ Fun, Find, Focus, Fulfill (สนุก ค้นหา มุ่งเน้น เติมเต็ม) ของโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้เด็กเกิดความสนุกที่จะเรียนรู้แล้วเด็กก็จะขวนขวายค้นหาความรู้เอง เมื่อมีข้อมูลจากการค้นหาที่มากพอเด็กจะเริ่มรู้ว่าตนเองชอบอะไร ถนัดอะไร จะมุ่งเน้นเรื่องอะไรและแสวงหาความรู้และประสบการณ์ต่าง ๆ มาเติมเต็มเพิ่มเติม ดังนั้นวงรอบของหลักสูตรต้องยืดหยุ่นเอื้อต่อกระบวนการเรียนรู้ดังกล่าว  

ภาพ 6 บริบทและพัฒนาการของการเรียนรู้

4. ข้อเสนอการปรับโครงสร้างและรูปแบบการบริหารจัดการศึกษา

          โครงสร้างและรูปแบบการบริหารจัดการศึกษาของประเทศไทยยังเป็นแบบรวมศูนย์ในแนวดิ่งจากบนลงล่าง (Centralized Hierarchical Structure) ทำให้เกิดปัญหาตามมาเป็นลูกโซ่ เช่น ผู้อำนวยการสถานศึกษาหรือหน่วยงานทางการศึกษาดำเนินการจัดการศึกษาหรือปฏิบัติงานในพื้นที่ภายใต้ตัวชี้วัดหรือกรอบนโยบายที่ไม่เหมาะสมจากส่วนกลาง ไม่ได้พิจารณาบริบทของพื้นที่และไม่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง จึงควรปรับเปลี่ยนโครงสร้างให้เป็นแบบกระจายอำนาจในแนวระนาบ (Multilayer Polycentric Network)
ให้โรงเรียนเป็นหน่วยการจัดการศึกษาที่ประกอบด้วยชุมชนท้องถิ่น ผู้ปกครอง เอกชนในพื้นที่ (ดูภาพที่ 7) เพื่อให้เกิดความคล่องตัว มีความเป็นอิสระในการออกแบบหลักสูตรที่สอดคล้องกับแผนความต้องการและบริบทของชุมชนท้องถิ่น ส่วนกลางจะต้องมีความเชื่อมั่นว่าชุมชนท้องถิ่นสามารถจัดการศึกษาด้วยตนเอง (Local Empowerment) เพราะการรวมศูนย์อำนาจแบบอำนาจนิยมทำให้การศึกษาไทยอ่อนแอ ส่งผลให้คนไทย ชุมชนท้องถิ่น และประเทศชาติอ่อนแอตามไปด้วย การกระจายอำนาจจะเป็นฐานรากสำคัญของการสร้างสังคมที่เป็นธรรม สังคมที่เท่าเทียม สังคมแห่งโอกาส สังคมที่สามารถและสังคมที่เอื้ออาทรแบ่งปัน

ภาพ 7 ภาพรวมของปัญหาทางการศึกษาของประเทศไทย

          อย่างที่ทราบกันดีว่า คนเราเกิดมามีความแตกต่างกันอย่างน้อย 2 ปัจจัย ได้แก่ 1) ธรรมชาติ ที่ติดตัวมาแต่กำเนิด (Nature) บางคนเกิดมาพร้อมความฉลาด บางคนเกิดมาพิการ และ 2) การเลี้ยงดู (Nurture) ธรรมชาติที่ติดตัวมาแต่กำเนิดและคุณภาพของการเลี้ยงดูจะส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาการของบุคคลนั้น ปัจจัยทั้งสองแสดงได้ดังภาพที่ 8 ดังนี้ กลุ่มที่ 1 กลุ่มธรรมชาติที่ติดตัวมาแต่กำเนิดเป็นบวก และ การเลี้ยงดูเป็นบวก เป็นกลุ่มคนที่มีศักยภาพเป็นเลิศ ควรใช้ศักยภาพของคนกลุ่มนี้สร้างประโยชน์ให้กับประเทศ ให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้มีโอกาสไปช่วยเหลือคนด้อยโอกาส กลุ่มที่ 2 กลุ่มธรรมชาติที่ติดตัวมาแต่กำเนิดเป็นบวก แต่การเลี้ยงดูเป็นลบ ทำให้การพัฒนาไม่เต็มศักยภาพ เป็นกลุ่มเพชรในตมที่จะช่วยกันเจียระไนให้เกิดประกายอย่างไร กลุ่มที่ 3 กลุ่มที่ธรรมชาติที่ติดตัวมาแต่กำเนิดเป็นลบแต่การเลี้ยงดูเป็นบวก เป็นกลุ่มผู้มีความบกพร่องพิการแต่ได้รับการเลี้ยงดูที่ดี และกลุ่มที่ 4 กลุ่มที่ธรรมชาติที่ติดตัวมาแต่กำเนิดเป็นลบและการเลี้ยงดูเป็นลบ เป็นกลุ่มผู้มีความบกพร่องพิการและได้รับการเลี้ยงดูที่ไม่ดีพอ

ภาพ 8 Nature - Nurture Policy

          นี่คือบทบาทภารกิจสำคัญในการสร้างคนของกระทรวงศึกษาธิการในอนาคต ภาพที่ 8 จะสะท้อนทิศทางนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาทุนมนุษย์ การสร้างความเท่าเทียมของเด็กและเยาวชนผ่าน Nature - Nurture Policy คนที่เกิดมามีศักยภาพดีอยู่แล้วจะทำอย่างไรให้เขาสร้างความเป็นเลิศและสร้างประโยชน์ให้กับประเทศ ทำให้คนเหล่านี้มีโอกาสที่จะไปช่วยคนด้อยโอกาสกลุ่มอื่น ๆ สำหรับกลุ่มเด็กที่ธรรมชาติที่ติดตัว มาตั้งแต่เกิดดีแต่อยู่ในสังคมที่ไม่ดีเปรียบเหมือน “เพชรในตม” จะพัฒนาเขาอย่างไร และกลุ่มเด็กพิเศษ เด็กพิการแต่อยู่ในสภาพสังคมที่ไม่ดีด้วยจะมีมาตรการช่วยเหลืออย่างไร

ภาพ 9  การแบ่งบทบาทหน้าที่ระหว่างส่วนกลางและชุมชนท้องถิ่น

          การบริหารจัดการศึกษาในทางปฏิบัติเป็นเรื่องของการสร้างความสมดุลระหว่างส่วนกลางและท้องถิ่น (ดังภาพที่ 9) การถ่ายโอนอำนาจจากส่วนกลางไปท้องถิ่นโดยไม่มีแผนการดำเนินการที่ดีจะทำให้ระบบการศึกษามีปัญหา งานของส่วนกลางควรต้องทำเอง แต่งานบางอย่างเหมาะกับส่วนท้องถิ่นควรให้ท้องถิ่นดำเนินการให้ท้องถิ่นบริหารจัดการได้ระดับหนึ่ง ภารกิจที่ส่วนกลางจะต้องทำคือ โครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษา อาทิ การกำหนดมาตรฐาน กองทุนต่าง ๆ เช่น กองทุนครู กองทุนเด็กเสมอภาค กองทุนนวัตกรรมทางการศึกษา กองทุนพัฒนาเทคโนโลยีด้านการศึกษา การส่งเสริมการจัดตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคมทางการศึกษา การเปิดโอกาสให้ทำ Regulatory Sandbox ในรูปแบบต่าง ๆ เป็นต้น

          พวกเราอาจจะเหนื่อยล้ากับการปฏิรูปการศึกษาที่ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ครั้งแล้วครั้งเล่าแต่ต้องไม่ท้อถอย ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดต้องผนึกกำลังกัน ร่วมกับขับเคลื่อน Education Transformation ทั้งระบบให้เกิดผลสัมฤทธิ์ เพื่อสร้างเด็กและเยาวชน ซึ่งจะเป็นกำลังของชาติในการนำพาประเทศไทยไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างยั่งยืนในอนาคต

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด