The 63rd General Assembly of the International Association for the Evaluation of Education Achievement : IEA

image

สรุปผลการประชุมสามัญประจำปี ครั้งที่ 63
ของสมาคมประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษานานาชาติ
The 63rd General Assembly of the International Association
for the Evaluation of Education Achievement : IEA
ระหว่างวันที่ 1 - 6 ตุลาคม 2565
ณ เมืองสปลิท สาธารณรัฐโครเอเชีย

 


 

          สมาคมประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษานานาชาติ (The International Association for the Evaluation of Education Achievement : IEA) จัดประชุมสามัญขึ้นเป็นประจำทุกปีเพื่อรายงานผลการดำเนินงานโครงการ กิจกรรม การบริหารงานโครงการที่สำคัญ และสถานะทางการเงินของสมาคมฯ ในรอบปีที่ผ่านมา ตลอดจนการตัดสินใจเกี่ยวกับการดำเนินงานที่สำคัญในปีถัดไป ต่อคณะผู้บริหารสมาคม (Standing Committee) และประเทศสมาชิก (Country General Member Assembly: GA) การประชุมสามัญประจำปียังเป็นโอกาสให้ผู้แทนจากประเทศสมาชิกได้พบปะหารือกับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของสมาคมในทุกๆ ปี และเป็นโอกาสให้ผู้แทนจากประเทศสมาชิก พบปะหารือและสร้างเครือข่ายระหว่างกัน

          สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ในฐานะสมาชิกของ IEA ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2521 ที่มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาในปัจจุบัน) เป็นศูนย์กลางแห่งชาติของสมาคมนานาชาติเพื่อการประเมินสัมฤทธิผลทางการศึกษา โดยมีเลขาธิการ
สภาการศึกษาเป็นผู้แทนประเทศไทยในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของสมาคมฯ (IEA General Assembly Thailand Representative) ทำหน้าที่รักษาสมาชิกภาพของประเทศไทยในสมาคมฯ และสนับสนุนหน่วยงานด้านการศึกษาของไทยในการเข้าร่วมโครงการประเมินสัมฤทธิผลของผู้เรียนในด้านต่างๆ สำหรับในปีนี้ เลขาธิการสภาการศึกษาได้มอบหมายผู้แทนจำนวน 3 คน เข้าร่วมประชุมประจำปีของสมาคมฯ ได้แก่ 1) นางศิริพร ศริพันธุ์
ที่ปรึกษาด้านวิจัยและประเมินผลการศึกษา 2) นางสาวรุ่งนภา จิตรโรจนรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการศึกษา และ 3) นางสาวอรวิภา รุ่มโรย นักวิชาการศึกษาปฎิบัติการ สำนักนโยบายความร่วมมือกับต่างประเทศ

ผลการประชุมสามัญประจำปีมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
เรื่องทั่วไป
          1. การประชุมสามัญประจำปีครั้งนี้จัดเป็นครั้งที่ 63 โดยจัดประชุม ณ เมืองสปลิท สาธารณรัฐโครเอเชีย ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการประชุมจำนวน 110 คน จาก 48 ประเทศ ประกอบด้วย คณะกรรมการบริหารสมาคม (Standing Committee) ผู้แทนประเทศสมาชิก (GA) ผู้แทนประเทศผู้สังเกตการณ์ หัวหน้าโครงการวิจัยนานาชาติต่าง และ เจ้าหน้าที่สมาคมฯ
          2. ที่ประชุมมีมติรับรองผลการประชุมสามัญ สมัยที่ 62 ซึ่งจัดในรูปแบบทางไกลวันที่ 25-28 กันยายน 2564
          3. ในการประชุมร่วม (Plenary Discussion) สมาคมฯ จะตั้งอนุกรรมการเพื่อวางแผนทางกลยุทธ์ นโยบาย หรือช่วยกำหนดทิศทางการบริหารงานของคณะกรรมการสมาคมซึ่งจะมีการเปิดเผยที่มาของการสรรหากรรมการต่อไป
          4. ในปีนี้มีกรรมการประจำของสมาคมฯ หมดวาระ 1 คน คือ Dr. Zuwaina Saleh Al-Maskari จากรัฐสุลต่านโอมาน ซึ่งสมาชิกสมาคมฯ ได้ลงคะแนนเลือก Dr. Sophia Gorgodze จากสาธารณรัฐจอร์เจีย เป็นกรรมการแทนกรรมการที่หมดวาระ

การรายงานความก้าวหน้าของโครงการวิจัยและประเมินผลนานาชาติ
1) โครงการศึกษาเรื่องความเป็นพลเมือง (International Civic and Citizenship Education Study: ICCS)
          โครงการศึกษาเรื่องความเป็นพลเมือง (International Civic and Citizenship Education Study: ICCS) เป็นโครงการวิจัยความพร้อมของเยาวชนในฐานะพลเมืองโลกในบริบทของประชาธิปไตยรวมถึงการมีส่วนร่วมทางสังคม การศึกษานี้ดำเนินการครั้งแรกในปี 2009 โดยมีรอบการติดตามในปี 2016 และปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการในรอบปี 2022
          โครงการ ICCS 2022 ได้มีการกำหนดกรอบการวิจัยซึ่งได้เผยแพร่บนเว็บไซต์ของสมาคมฯ แล้ว และอยู่ในขั้นตอนการจัดเตรียมเผยแพร่ลงบนฐานข้อมูล Springer โดยจะเก็บข้อมูลจากประเทศสมาชิก 23 ประเทศที่เข้าร่วมโครงการในวงรอบนี้ด้วยการทดสอบผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์เป็นส่วนหลัก
ประเด็นใหม่ที่ต้องพิจารณาสำหรับโครงการในวงรอบนี้ คือ ความเปลี่ยนแปลงในบริบทของการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง ซึ่งทีมวิจัยเห็นควรเพิ่มประเด็นในงานวิจัย 5 ประเด็น คือ 1) การมีส่วนร่วมทางสังคมผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล 2) ทัศนคติต่อความหลากหลายทางสังคม 3) ความเห็นของเยาวชนต่อการเมือง 4) การพัฒนาอย่างยั่งยืน และ 5) การเป็นพลเมืองโลก โดยคาดว่าจะสรุปผลการวิจัยได้ภายในเดือนพฤษภาคม 2566 และเผยแพร่บนฐานข้อมูล Springer ได้ภายในเดือนตุลาคม 2566

2) โครงการศึกษาแนวโน้มการจัดการศึกษาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ (Trends in International Mathematics and Science Study: TIMSS)
          โครงการศึกษาแนวโน้มการจัดการศึกษาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของนักเรียนไทยระดับนานาชาติ (Trends in International Mathematics and Science Study: TIMSS) เป็นโครงการที่สมาคมฯ ดำเนินการร่วมกับประเทศสมาชิกเพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชา คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ตามหลักสูตรของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 (Grade 4) และมัธยมศึกษาปีที่ 2 (Grade 8) การประเมินเริ่มมีขึ้นในปี 1995 และประเมินต่อเนื่องทุก 4 ปี


          โครงการ TIMSS วงรอบใหม่จะเริ่มต้นปี 2023 ดังนั้น โครงการจะสามารถดำเนินตามแผนดำเนินงานโดยไม่มีผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ปัจจุบันมีประเทศสมาชิก 67 ประเทศได้ตกลงเข้าร่วมโครงการ โดยมี 7 ประเทศสนใจเข้าร่วมประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ตามหลักสูตรของนักเรียนทั้งระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 และมัธยมศึกษาปีที่ 2 และมี 61 ประเทศเข้าร่วมในการประเมินนักเรียนชั้น ป.4 และมี 44 ประเทศเข้าร่วมประเมินนักเรียนในระดับชั้น ม.2 ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีนักเรียนในโครงการประมาณ 100,000 คน
          ในวงรอบนี้ โครงการ TIMSS จะเปลี่ยนไปสู่การทดสอบทางดิจิทัลเต็มรูป โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ในการเก็บคะแนน รวมถึงวิเคราะห์ทัศนคติของผู้เข้าประเมินด้วย ระบบที่กำลังพัฒนาอยู่เรียกว่า ระบบการให้คะแนนจากการตอบสนองโดยรูปทรง (Automated Scoring of Graphical Responses) ซึ่งมีความแม่นยำของ AI สูงสุดถึง 98% จึงคาดว่าการเปลี่ยนแปลงไปสู่การทดสอบแบบดิจิทัลเต็มรูปแบบจะทำให้การเก็บข้อมูลในส่วนของการตอบสนองของนักเรียนดีขึ้น เช่น ระยะเวลาในการตอบข้อสอบในแต่ละข้อ เป็นต้น ซึ่งเป็นประโยชน์โดยตรงต่อการวิจัย รวมถึงลดต้นทุนและจำนวนคนตรวจความถูกต้องของผลทดสอบของประเทศสมาชิก

 


          นอกจากนี้ ได้มีการแปลชุดทดสอบเป็นภาษาอื่นนอกเหนือจากภาษาอังกฤษ การแปลเครื่องมือสำหรับการทดสอบภาคสนามและการตรวจสอบระบบที่เปลี่ยนเป็นภาษาอื่นได้เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 โดยประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมจะต้องส่งเนื้อหาที่แปลตามภาษาแม่ของประเทศผ่านระบบ Assessment Master ซึ่งจะมีการตรวจสอบงานแปลโครงการ IEA ก่อนส่งไปตรวจสอบยังศูนย์ TIMSS & PIRLS International Study
          ผู้บริหารโครงการจะเริ่มเก็บของข้อมูลในเดือนมกราคม ปี 2566 โดยประเทศซีกโลกเหนือจะเริ่มเก็บข้อมูลเต็มรูปแบบระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-มิถุนายน 2566 และประเทศซีกโลกใต้จะเริ่มการเก็บข้อมูลเดือนกันยายน 2566

 

 

3) โครงการศึกษาด้านทักษะการอ่านระดับนานาชาติ (Progress in International Reading Literacy Study: PIRLS)
          โครงการศึกษาด้านทักษะการอ่านระดับนานาชาติ (Progress in International Reading Literacy Study: PIRLS) เป็นหนึ่งในโครงการศึกษาหลักของ IEA เริ่มต้นดำเนินการครั้งแรกเมื่อปี 2001 กำกับดูแลโดยศูนย์การศึกษานานาชาติ TIMSS และ PIRLS ที่วิทยาลัยบอสตัน วงรอบโครงการดำเนินการทุกๆ 5 ปี ทั้งนี้ PIRLS ได้รับการยอมรับว่าเป็นมาตรฐานระดับโลกสำหรับการประเมินทักษะการอ่านในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
          การระบาดของโควิด-19 เป็นอุปสรรคในการเก็บรวบรวมข้อมูล PIRLS 2021 เนื่องจากการปิดโรงเรียนและความไม่แน่นอนเกี่ยวกับมาตรการด้านความปลอดภัย แต่หลายประเทศก็สามารถรวบรวมข้อมูลได้สำเร็จแม้ว่าจะต้องมีการขยายกรอบเวลาการทดสอบไปบ้าง ปัจจุบัน 64 ประเทศได้เก็บรวบรวมข้อมูลแล้วเสร็จ โดยในจำนวนนี้ 55 ประเทศได้ส่งข้อมูลไปยังสำนักงานที่ทำการสมามคมประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษานานาชาติประจำเมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมัน (IEA Hamburg) เพื่อประมวลผลข้อมูลแล้ว


          ในปีที่ผ่านมา ศูนย์การศึกษานานาชาติ TIMSS & PIRLS ได้ทำงานร่วมกับประเทศต่างๆ ในการจัดทำเอกสารผลกระทบของการระบาดใหญ่ของ COVID-19 ต่อการรวบรวมข้อมูลและการเรียนของนักเรียนด้วย เช่น การปิดโรงเรียนและระยะเวลาในการเรียนรู้ที่สูญเสียไป
          ทั้งนี้ โครงการ PIRLS ในวงรอบปี 2021 มีกำหนดเผยแพร่ผลการประเมินทักษะการอ่านและการอ่านเชิงข้อมูลออนไลน์ระดับสากลต่อสาธารณะได้ในเดือนธันวาคม 2022 อนึ่ง เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาได้มีการเผยแพร่สารานุกรม PIRLS 2021 (PIRLS 2021 Encyclopedia) ซึ่งบันทึกบริบทที่สำคัญควบคู่ไปกับข้อมูล PIRLS และอธิบายระบบการศึกษา นโยบาย และหลักสูตรของประเทศที่เข้าร่วมไปแล้ว

 

4) โครงการศึกษาระดับนานาชาติว่าด้วยการฉลาดรู้คอมพิวเตอร์และสารสนเทศ (International Computer and Information Literacy Study: ICILS)
          โครงการประเมินผลด้านการรู้คอมพิวเตอร์และสารสนเทศ (International Computer and Information Literacy: ICILS) เป็นการประเมินผลเกี่ยวกับการรู้คอมพิวเตอร์และสารสนเทศของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 (Grade 8) โดยข้อสอบ ICILS ประเมินการรู้คอมพิวเตอร์และสารสนเทศ (Computer and Information Literacy) ซึ่งครอบคลุมถึง “ความสามารถของบุคคลในการใช้คอมพิวเตอร์ในการตรวจสอบหาความจริง (investigate) การสร้างสรรค์ (create) และติดต่อสื่อสาร (communicate) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งที่บ้าน โรงเรียน สถานที่ทำงาน และในชุมชน”
          โครงการ ICILS ในรอบวงปี 2023 เกิดความล่าช้าในการส่งข้อมูลการทดสอบและเครื่องมือ เนื่องจากระบบการทดสอบขัดข้องส่งผลให้การลงพื้นที่เก็บข้อมูลล่าช้า ปัจจุบันได้รับข้อมูลจาก 29 ประเทศสมาชิกจากประเทศที่เข้าร่วมโครงการ 33 ประเทศ โดยเป็นข้อมูลของนักเรียนมากกว่า 20,000 คน ครูใหญ่ 600 คน
ผู้ประสานงานด้าน ICT 580 คน และครูผู้สอน 7,800 คน
          ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ต่อ ICILS เป็นปัจจัยหลักที่คำนึงถึงในการวางแผนการต่างๆ ตั้งแต่ระดับคณะวิจัยย่อยจนถึงการทำวิจัยและลงพื้นที่เก็บข้อมูล โดยการประชุมฝึกอบรมการปฏิบัติงานภาคสนามแบบสำรวจหลักของ ICILS จะจัดทางออนไลน์ซึ่งกำหนดเบื้องต้นในเดือนพฤศจิกายน อย่างไรก็ตาม คณะทำงานได้วางแผนจัดประชุมฝึกอบรมผู้ทำคะแนนสำหรับการทดสอบภาคสนามของ ICILS โดยคาดหวังว่าจะจัดประชุมแบบพบกัน ณ สถานที่จริงได้

การบรรยายพิเศษ
การบรรยายพิเศษ เรื่อง Ensuring Greater Equity and Inclusion in Education

          การบรรยายพิเศษในครั้งนี้เกิดจากความร่วมมือระหว่างองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) กับ สมาคมประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาฯ ว่าด้วยเรื่องความเสมอภาคและการมีส่วนร่วมทางการศึกษา โดยยึดตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) เป้าหมายที่ 4 สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งผู้บรรยายได้เสนอตัวบ่งชี้ต่างๆ เช่น การอ่านหนังสือ คณิตศาสตร์ ความสามารถในการสื่อสารและการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น
          ที่ประชุมมีความเห็นพ้องกันว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้โรงเรียนต้องปิดการเรียนการสอนตามนโยบายการควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุขและองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) โดยประมาณ 190 ประเทศ มีนโยบายสั่งให้ปิดโรงเรียนและเปลี่ยนเป็นการเรียนออนไลน์ทั้งหมด ซึ่งส่งผลกระทบต่อนักเรียนทั่วโลกราวร้อยละ 90 หรือประมาณ 1,500 ล้านคน ทั้งนี้ พบว่า ค่าเฉลี่ยเวลาที่โรงเรียนปิดประมาณ 20 สัปดาห์ ส่วนระยะเวลาที่โรงเรียนปิดยาวที่สุดพบในทวีปเอเชียใต้ ละตินอเมริกา และประเทศในหมู่เกาะแคริบเบียน อยู่ที่ประมาณ 35-37 สัปดาห์

          ผลการสำรวจโดยธนาคารโลก (World Bank) พบว่า ความยากจนทางการเรียนรู้ (Learning Poverty) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหลังการระบาดของโควิด-19 จากการเปรียบเทียบระหว่างปี 2019 และ 2022 พบว่าเด็กอายุ 10 ปี ทั่วโลกที่ไม่มีทักษะการอ่านขั้นพื้นฐาน ไม่สามารถเข้าใจประโยคง่ายๆ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 52 เป็น
ร้อยละ 64 โดยประชากรยากจนทางการเรียนรู้ส่วนมากพบในทวีปเอเชียใต้ ละตินอเมริกา และประเทศในหมู่เกาะแคริบเบียน ซึ่งเป็นบริเวณที่โรงเรียนปิดเป็นเวลานานที่สุด
          องค์การยูเนสโกได้เปิดตัวโครงการ Global Education Coalition เพื่อเป็นเวทีสำหรับความร่วมมือและ
การแลกเปลี่ยนเพื่อปกป้องสิทธิในการศึกษาในช่วงที่เกิดการหยุดชะงักอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนและในประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยรวบรวมสมาชิกได้กว่า 175 คน จากภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และภาคเอกชนของประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) เป็นต้น
          องค์การยูเนสโกและสมาคมฯ มีเป้าหมายขยายกรอบความร่วมมือว่าด้วยการทดสอบผลสัมฤทธิ์ทางการคึกษาระดับภูมิภาค โดยแบ่งออกเป็น 2 ความร่วมมือฯ ได้แก่ 1) Network on Education Quality Monitoring in Asia-Pacific (NEQMAP) ซึ่งดูแลโดยสำนักงานเพื่อการศึกษาในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (UNESCO Asia and Pacific Regional Bureau for Education) และ 2) Teaching and Learning: Educator’s Network for Transformation (TALENT) ซึ่งดูแลโดยสำนักงานยูเนสโกประจำกรุงธากา (UNESCO Reginal Office in Dakar for sub-Sahara Africa and Arab region) และสำนักงานยูเนสโกประจำกรุงเบรุต (UNESCO in Beirut)

 

เรื่องอื่นๆ
          1. คณะผู้แทนไทยได้เข้าร่วมการอภิปรายกลุ่ม (Group Discussion) ใน 2 หัวข้อ โดยสรุปประเด็นการอภิปราย ดังนี้


          ประเด็นที่ 1 การทบทวนคำจำกัดความและเกณฑ์ในการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย การให้สิทธิ์ การยกเว้นสิทธิ์ และการตอบสนองความต้องการของนักเรียนในกลุ่มการศึกษาพิเศษ การอภิปรายมีความเห็นแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 เห็นว่าในการเก็บข้อมูลควรรวมนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษไว้ในโครงการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา เนื่องจากหลายประเทศมีการจัดการเรียนการสอนแบบเรียนร่วม โดยเห็นว่าจะทำให้เป็นการประเมินตามสภาพความเป็นจริงและช่วยให้นักเรียนที่มีความต้องการพิเศษสามารถเข้ากับสังคมได้ ในขณะที่ กลุ่มที่ 2 เห็นว่าในบางประเทศได้มีการจัดห้องเรียนเฉพาะสำหรับนักเรียนกลุ่มดังกล่าว เนื่องจากเด็กแต่ละคนมีประเด็นความละเอียดอ่อนที่ต่างกัน การตัดนักเรียนกลุ่มต้องการพิเศษออกจากกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษา
จะทำให้สามารถประเมินผลสำหรับนักเรียนทั่วไป ซึ่งเป็นกลุ่มตัวอย่างใหญ่ได้ตรงเป้าหมายกว่า
          ประเด็นที่ 2 ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ต่อระบบการศึกษาและการประเมินระดับชาติและระดับนานาชาติ ในประเด็นนี้ ประเทศสมาชิกมีความเห็นพ้องกันว่าควรมีนโนบายเฉพาะกิจเพื่อฟื้นฟูปัญหาการเรียนรู้ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากนโยบายปิดโรงเรียนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19
          2. โครงการวิจัย Northern Light Series เป็นงานศึกษาวิจัยของประเทศในกลุ่มนอร์ดิก (สวีเดน เดนมาร์ก ฟินแลนด์ กรีนแลนด์ ไอซ์แลนด์ และหมู่เกาะแฟโร) ที่ได้รับการยอมรับว่ามีคุณภาพการศึกษาสูง ผู้วิจัยและนักการศึกษาได้ประกาศวิสัยทัศน์ใหม่ปี 2030 คือ กลุ่มประเทศนอร์ดิกซ์จะเป็นประเทศรักษาสิ่งแวดล้อม (Green) มีสมรรถนะในการแข่งขันโดยเติบโตแบบรักษ์โลก (Competitive) และเป็นสังคมที่พัฒนาอย่างยั่งยืน (Socially Sustainable) ทั้งนี้ โครงการ Northern Light Series จะร่วมกับโครงการ TIMSS เพื่อเน้นการวิจัยและพัฒนาการเรียนรู้คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในประเด็นต่างๆ ด้วย เช่น การจัดการสอน หลักสูตร บทบาทของเครื่องมือดิจิทัล ความสัมพันธ์ระหว่างภูมิหลังของนักเรียนต่อการศึกษา ความสัมพันธ์ระหว่างการทดสอบผลสัมฤทธิ์และการเรียนรู้และพัฒนา เป็นต้น
          3. การประชุมสามัญประจำปีครั้งต่อไป ซึ่งเป็นสมัยที่ ๖๔ มีกำหนดจัดขึ้น ณ เมืองแวร์ซายส์ สาธารณรัฐฝรั่งเศส ในช่วงปลายเดือนตุลาคม ๒๕๖๖ ซึ่งสมาคมฯ จะแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับ วัน เวลา และ สถานที่จัดประชุมให้ทราบต่อไป

 

 

นางสาวอรวิภา รุ่มโรย
นักวิชาการศึกษาปฏิบัติการ
ผู้จดบันทึกและสรุปรายงานการประชุม
            

นางศิริพร ศริพันธุ์
        ที่ปรึกษาด้านวิจัยและประเมินผลการศึกษา
นางสาวรุ่งนภา จิตรโรจนรักษ์
        ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการศึกษา
ผู้ตรวจรายงานการประชุม

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด