ปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรไทย พ.ศ. 2563
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา 54 ที่รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ซึ่งต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการในระบบต่างๆ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต และจัดให้มีการร่วมมือกันระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนในการจัดการศึกษาทุกระดับ ประกอบกับเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ที่มุ่งให้ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว มีการพัฒนาทุนมนุษย์ ให้มีศักยภาพในการเพิ่มขีดความสามารถใน
การแข่งขันและพัฒนาอย่างยั่งยืนในสาขาต่างๆ รวมถึงพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน ที่ต้องยกระดับคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ให้มีคุณภาพ เท่าเทียม และทั่วถึง อีกทั้งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 พ.ศ. 2560-2564 ที่กำหนดให้มีการเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ ที่คนในสังคมไทยทุกช่วงวัยมีทักษะ ความรู้ และความสามารถเพิ่มขึ้น มีการศึกษาที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากลและมีความสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2579 ด้านการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา ยังกำหนดเป้าหมายประชากรไทยวัยแรงงาน (กลุ่มอายุ 15-59 ปี) มีจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 12.5 ปี
ในปี 2579 ตลอดจนการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการศึกษาของประเทศไทยโดยเวทีเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum : WEF) ของ Global Competitiveness Index 4.0 (GCI 4.0) ได้นำจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรไทยมาเป็นส่วนหนึ่งในการจัดอันดับด้วยเช่นกัน
จากรัฐธรรมนูญและแผนพัฒนาต่างๆ ข้างต้น ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาทุนมนุษย์ ให้คนไทยทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษาเรียนรู้ฟรีตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพตามมาตรฐานสากล มีความสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง เท่าเทียม ทั่วถึง อย่างมีศักยภาพ สามารถแข่งขันกับนานาประเทศ และพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายและยุทธศาสตร์ดังกล่าว สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้คำนวณจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรไทยวัยแรงงาน โดยใช้ข้อมูล
การสำรวจสภาวะการทำงานของประชากรทั่วราชอาณาจักร รอบที่ 3 ซึ่งเป็นการสำรวจในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน พ.ศ. 2563 จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ มีรายละเอียดดังนี้
ปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรไทยวัยแรงงาน
ปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรไทยวัยแรงงาน (กลุ่มอายุ 15 - 59 ปี) ซึ่งเป็นผู้อยู่ในกำลังแรงงานปัจจุบัน หรือเป็นผู้ถูกจัดจำแนกอยู่ในประเภทกำลังแรงงานตามการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปีโดยเฉลี่ย 0.1 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2558 จนถึง พ.ศ. 2563 ซึ่งใน
พ.ศ. 2563 มีจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยเท่ากับ 9.86 ปี หรือมีการศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และจากเป้าหมายใน พ.ศ. 2579 ตามแผนการศึกษาแห่งชาติอยู่ที่ 12.5 ปี หรือมีการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นอย่างต่ำ ซึ่งปัจจุบัน พ.ศ. 2563 พบว่ายังห่างจากค่าเป้าหมายถึง 2.64 ปี ซึ่งแนวโน้มจะถึง
ค่าเป้าหมายได้ยาก เนื่องจากต้องเพิ่มโดยเฉลี่ยปีละ 0.15 ปี แต่ปัจจุบันสามารถผลักดันได้โดยเฉลี่ย 0.1 ปี ที่ทำให้การคาดการณ์จำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยเมื่อสิ้นสุดแผนการศึกษาแห่งชาติใน พ.ศ. 2579 อยู่ที่ประมาณ 11.25 ปี ห่างจากค่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องร่วมกันผลักดันประชากรไทยกลุ่มอายุ 15-39 ปี เป็นกลุ่มเป้าหมายที่กระทรวงศึกษาธิการสามารถพัฒนาส่งเสริม
เพื่อยกระดับการพัฒนาให้มีความรู้ที่สามารถต่อยอดวุฒิการศึกษาให้สูงขึ้นเพื่อสร้างโอกาสให้เพิ่มพูนความรู้ และเพิ่มโอกาสความก้าวหน้าในอาชีพการงาน โดยในปี 2563 มีปีการศึกษาเฉลี่ย เท่ากับ 10.97 ปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยปีละ 0.07 ปี และกลุ่มอายุ 40-59 ปี เป็นกลุ่มเป้าหมาย
ที่ดำเนินการพัฒนาให้ความรู้ที่ไม่เน้นการเพิ่มวุฒิการศึกษาแต่เป็นการให้ความรู้แก่ประชาชน
ในด้านอื่นๆ เช่น การให้ความรู้ในการอบรมทักษะอาชีพ โดยในปี 2563 มีปีการศึกษาเฉลี่ย เท่ากับ 8.59 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยปีละ 0.16 ปี
ประชากรไทยวัยแรงงานจำแนกตามภูมิภาค ในปี 2563 โดยเฉลี่ยแต่ละภาคมีการศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น หรือมีการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี และมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกภูมิภาค
ซึ่งกรุงเทพมีจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยสูงที่สุด 11.76 ปี รองลงมาเป็นภาคกลาง 10.08 ปี ภาคใต้ 9.63 ปี ภาคเหนือ 9.18 ปี และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 9.02 ปี
ประชากรไทยวัยแรงงาน จำแนกตามจังหวัด ใน พ.ศ. 2563 มี 53 จังหวัด คิดเป็นร้อยละ 68.83 ที่มีการศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และมี 24 จังหวัด คิดเป็นร้อยละ 31.17 ที่มีการศึกษาอยู่ในระดับประถมศึกษา หากพิจารณาปีการศึกษาเฉลี่ย พบว่าประชากรไทยวัยแรงงานที่อาศัยในจังหวัดนนทบุรีมีปีการศึกษาเฉลี่ยสูงที่สุด เท่ากับ 11.80 ปี รองลงมาเป็นจังหวัดกรุงเทพฯ เท่ากับ 11.76 ปี จังหวัดสมุทรปราการ เท่ากับ 10.96 ปี โดยที่ 3 ลำดับสุดท้ายเป็นจังหวัดศรีสะเกษ เท่ากับ 8.32 ปี จังหวัดตาก เท่ากับ 7.99 ปี และน้อยที่สุดเป็นจังหวัดแม่ฮ่องสอน 7.20 ปี
ระดับการศึกษาของประชากรไทยวัยแรงงาน
ประชากรไทยวัยแรงงานส่วนใหญ่มีการศึกษาอยู่ในระดับประถมศึกษา และมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปีในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและอุดมศึกษา กล่าวคือ ในปี 2561 ประชากรไทยมีการศึกษาระดับประถมศึกษาคิดเป็น ร้อยละ 32.79 และในปี 2563 ลดลงเหลือเท่ากับร้อยละ 30.21 ส่วนประชากรไทยวัยแรงงานที่มีการศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ในปี 2561 มีร้อยละ 20.04 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20.48 ในปี 2563 ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในปี 2561 มีร้อยละ 21.21 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 22.16 ในปี 2563 และระดับอุดมศึกษา ในปี 2561 มีร้อยละ 22.68 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 24.23 ในปี 2563
ข้อเสนอแนะ
จากการศึกษาจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรไทย ใน พ.ศ. 2563 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 0.1 ปี อย่างไรก็ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ตามแผนการศึกษาแห่งชาติ 20 ปี ในปี 2579 อยู่ที่ 12.5 ปี หากจะให้บรรลุตามแผนการศึกษาแห่งชาติกำหนด รัฐบาลต้องมีการผลักดัน ส่งเสริม สนับสนุนให้ประชากรไทยได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น ดังนี้
-
จัดทำระบบรับและติดตามนักเรียนเข้ารับการศึกษาที่เป็นระบบเดียวกันทั้งประเทศ ที่สามารถตรวจสอบความถูกต้องและแก้ไขได้ทัน โดยใช้บัตรประจำตัวประชาชนในการยืนยันข้อมูล ที่ทุกภาคส่วนและผู้ปกครองต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการติดตามเด็กให้เข้ารับการศึกษา โดยโรงเรียนต้องติดตามเด็กในพื้นที่ตามรายชื่อที่โรงเรียนรับผิดชอบให้ได้รับการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี และส่งเสริมให้ศึกษาต่อถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปี
-
จัดการศึกษาเชิงรุกให้ครอบคลุมประชากรทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะกลุ่มประชากรวัยแรงงานในสถานประกอบการ และผู้เรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษา ให้กลับเข้ารับการศึกษามากที่สุด
-
สนับสนุนจัดการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย รวมทั้งการพัฒนาหลักสูตรและวิธีการสอน เพื่อให้สามารถสนองต่อวิถีชีวิตและความต้องการของกลุ่มผู้ด้อยโอกาส มีรูปแบบการศึกษาที่หลากหลาย เพื่อเป็นทางเลือกให้กลุ่มบุคคลต่างๆ ที่ไม่สามารถเข้าเรียนในระบบโรงเรียนปกติได้
-----------------------------
เอกสารอ้างอิง
ราชกิจจานุเบกษา. 2560. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย. เล่ม 134 ตอนที่ 40 ก ตราไว้
6 เมษายน 2560.
ราชกิจจานุเบกษา. 2561. ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561-2580). เล่ม 135 ตอนที่ 82 ก ตราไว้
13 ตุลาคม 2561.
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. 2556. การคาดประมาณการประชากรของประเทศไทย พ.ศ. 2553-2583. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เดือนตุลา.
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. 2559. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่สิบสอง พ.ศ. 2560-2564. กรุงเทพฯ.
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา, กระทรวงศึกษาธิการ. 2560. แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2579. กรุงเทพฯ : บริษัท พริกหวานกราฟฟิค จำกัด.
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา, กระทรวงศึกษาธิการ. 2561. ปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรไทย ปี 2555-2562. กรุงเทพฯ : บริษัท พริกหวานกราฟฟิค จำกัด.
สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม. การสำรวจสภาวะการทำงานของประชากรทั่วราชอาณาจักร ไตรมาสที่ 3 เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2563. สำนักงานสถิติแห่งชาติ
********************************
ติดาม OEC News สภาการศึกษา
• Facebook: www.facebook.com/OECSocial/
• YouTube: https://bit.ly/2zXPkxO
• LINE: @OECNews | http://line.me/ti/p/@OECNews
• Blockdit: www.blockdit.com/oecnews