สภาการศึกษาปรับกระบวนทัพ เร่งขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา

image

                                                                                                                   ปัทมา คำภาศรี นักวิชาการศึกษาชำนาญการพิเศษ

เต็มศิริ ทรงเจริญ นักวิชาการศึกษาปฏิบัติการ

สำนักอำนวยการ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

 

     แผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาที่จัดทำโดยคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (กอปศ.) ได้กำหนดแผนงานการปฏิรูปการศึกษา จำนวน 7 เรื่อง 29 ประเด็น เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาให้บรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ คณะกรรมการสภาการศึกษาเห็นความสำคัญของการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา จึงมีมติให้ปรับโครงสร้างคณะอนุกรรมการสภาการศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาให้เกิดผลเป็นรูปธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธากร (นายณัฏฐพล  ทีปสุวรรณ) ประธานสภาการศึกษา ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสภาการศึกษา เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2563 จำนวน 6 คณะ ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการสภาการศึกษา คณะที่ 1 ด้านการปฏิรูประบบการศึกษาและการเรียนรู้โดยรวมของประเทศ คณะที่ 2 ด้านการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา คณะที่ 3 ด้านการปฏิรูปกลไกและระบบการผลิต คัดกรอง และพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครู ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษา คณะที่ 4 ด้านการปฏิรูปการจัดการเรียนการสอนเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 คณะที่ 5 ด้านการปฏิรูปโครงสร้างของหน่วยงานในระบบการศึกษา และคณะที่ 6 ด้านการปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้โดยการพลิกโฉมด้วยระบบดิจิทัล ซึ่งคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาที่จัดตั้งขึ้นทั้ง 6 คณะ มีหน้าที่พิจารณาเสนอความเห็นหรือคำแนะนำเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้านต่าง ๆ ที่นำสู่การปฏิบัติตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาให้บังเกิดผล

     ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561-2580 จัดเป็นแผนระดับที่ 1 ตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นเป้าหมายในการขับเคลื่อนประเทศ ส่วนแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เป็นแผนระดับที่ 2 ที่ใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนประเทศเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ และจัดอยู่ในระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (Electronic Monitoring and Evaluation System of National Strategy and Country Reform: eMENSCR) ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาเป็นแผนที่ประกอบด้วยเรื่องและประเด็นการปฏิรูปที่ครอบคลุมทุกเรื่องที่หน่วยงานทางการศึกษาจะต้องเร่งดำเนินการเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศ ปัจจุบันการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษายังมีความล่าช้า เนื่องจากขาดการสื่อสารที่ชัดเจนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังขาดการปฏิบัติที่ทำให้เกิดผลจริงอย่างเป็นรูปธรรม

     คณะกรรมการสภาการศึกษาเห็นความสำคัญของแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาที่ต้องการให้มีการยกระดับคุณภาพของการจัดการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และปรับปรุงระบบการศึกษาให้มีประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร เพิ่มความคล่องตัวในการรองรับความหลากหลายของการจัดการศึกษา และสร้างธรรมาภิบาล จึงนำแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษามาเป็นประเด็นพิจารณาในการประชุมสภาการศึกษาหลายครั้ง โดยในการประชุมสภาการศึกษา ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2563 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายณัฏฐพล  ทีปสุวรรณ) เป็นประธานสภาการศึกษา และมีเลขาธิการสภาการศึกษา (นายสุภัทร  จำปาทอง) เป็นกรรมการและเลขานุการ ซึ่งเลขาธิการสภาการศึกษาได้นำเสนอแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาให้ที่ประชุมได้รับทราบรายละเอียด พร้อมทั้งปัญหาและอุปสรรคที่ทำให้การดำเนินการตามแผนล่าช้า ประธานสภาการศึกษาจึงมอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ศึกษา วิเคราะห์ และจัดทำข้อมูลความก้าวหน้าการดำเนินงานตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา พร้อมกับหาแนวทางการพิจารณาปรับโครงสร้างของคณะอนุกรรมการสภาการศึกษา เพื่อให้มีการดำเนินงานที่สอดรับกับแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา และในการประชุมสภาการศึกษา ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563 ที่ประชุมเห็นควรให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาดำเนินการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาที่สอดรับกับแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เพื่อให้คณะอนุกรรมการสภาการศึกษาและสภาการศึกษาได้มีบทบาทสำคัญในการเสนอความเห็น ให้ข้อเสนอแนะ และส่งเสริมให้เกิดการดำเนินงานตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา รวมทั้งประเด็นสำคัญที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเห็นสมควร ซึ่งนับเป็นการปรับกระบวนทัพของคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาครั้งใหญ่ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ซึ่งเป็นแผนระดับ 2 ให้บรรลุตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ

    สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการสภาการศึกษา ได้ศึกษาองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาชุดเดิมแต่ละคณะ และวิเคราะห์ผนวกรวมกับภารกิจตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา รวมถึงภารกิจของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาเข้าด้วยกัน และจัดทำ (ร่าง) โครงสร้างคณะอนุกรรมการสภาการศึกษา จำนวน 6 คณะ ตามมติที่ประชุมสภาการศึกษา เสนอต่อที่ประชุมสภาการศึกษาพิจารณาให้ความเห็นชอบ ในการประชุมสภาการศึกษา ครั้งที่ 3/2563เมื่อวันจันทร์ที่ 27 เมษายน 2563 และเสนอต่อประธานสภาการศึกษา (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ) ซึ่งประธานสภาการศึกษาได้ให้ความเห็นชอบและมีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสภาการศึกษา เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2563 มีผลให้คณะอนุกรรมการสภาการศึกษาชุดเดิมที่ดำเนินการตามภารกิจของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จำนวน 9 คณะ สิ้นสุดวาระลง และส่งต่อภารกิจการดำเนินงานให้กับคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาชุดใหม่ ที่จัดตั้งขึ้นตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา จำนวน 6 คณะ

     คณะอนุกรรมการสภาการศึกษาได้นำเสนอแนวทางการดำเนินงานต่อสภาการศึกษาเพื่อพิจารณาและให้ข้อเสนอแนะ ในการประชุมสภาการศึกษา ครั้งที่ 5/2563 เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2563 มีสาระสำคัญ ดังนี้

     คณะที่ 1 คณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านการปฏิรูประบบการศึกษาและการเรียนรู้โดยรวมของประเทศ (นายกิตติรัตน์ มังคละคีรี ประธานอนุกรรมการ) มีแนวทางการดำเนินงานในประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1) จัดทำดัชนีการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งเป็นประเด็นเร่งด่วนที่จะเสนอต่อสภาการศึกษาและเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบภายในปี พ.ศ. 2564 2) จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายที่สำคัญ ได้แก่ การพัฒนาระบบการศึกษาและการเรียนรู้โดยการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมการพัฒนากฎหมายการศึกษา การเสริมสร้างสมรรถนะที่จำเป็นของคนไทยในศตวรรษที่ 21 และการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ และ 3) ติดตามและขับเคลื่อนการดำเนินงานตามกิจกรรมที่กำหนดไว้ในประเด็นย่อยของแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เรื่องที่ 1 การปฏิรูประบบการศึกษาและการเรียนรู้โดยรวมของประเทศ โดยพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่และกฎหมายลำดับรอง ทั้ง 5 ประเด็นย่อย 16 กิจกรรม ให้เป็นไปตามเป้าหมาย ผลผลิต/ผลลัพธ์ที่คาดว่าจะได้รับของคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาคณะที่ 1 ได้แก่ 1) ดัชนีการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต 2) ข้อเสนอเชิงนโยบายในประเด็นสำคัญ เช่น การพัฒนาระบบการศึกษาและการเรียนรู้โดยการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม การพัฒนากฎหมายการศึกษา การเสริมสร้างสมรรถนะที่จำเป็นของคนไทยในศตวรรษที่ 21 เป็นต้น และ 3) ผลการติดตามและขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เรื่องที่ 1 ทั้ง 5 ประเด็นย่อย

     คณะที่ 2 คณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา (ศาสตราจารย์ดิเรก  ปัทมสิริวัฒน์ ประธานอนุกรรมการ) มีแนวทางในการดำเนินงานโดยเน้นการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของผู้ที่อยู่นอกระบบการศึกษาและครอบคลุมการศึกษาตลอดชีวิต (ไม่จำกัดเฉพาะการศึกษาขั้นพื้นฐานในระบบ) การจัดการศึกษาสำหรับบุคคลพิการ บุคคลที่มีความสามารถพิเศษ และบุคคลที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ  การยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาในพื้นที่ห่างไกล หรือในสถานศึกษาที่ต้องมีการยกระดับคุณภาพอย่างเร่งด่วน นอกจากนี้ยังมีการดำเนินการเรื่องการพัฒนาและการรังสรรค์นวัตกรรมในรูปแบบใหม่ (Sandbox) เพื่อ Up Scale โครงการหรือสถานศึกษาต้นแบบ รวมทั้งการตรวจเยี่ยมสถานศึกษาที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างต่อเนื่อง โดยมีเครื่องมือ/กลไกในการนำสู่การปฏิบัติ ได้แก่ 1) การระดมทรัพยากรจากภาคเอกชน และภาคส่วนต่าง ๆ 2) การบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน และ 3) การพัฒนาฐานข้อมูล (AI หรือ Big Data)  ผลผลิต/ผลลัพธ์ที่คาดว่าจะได้รับของคณะอนุกรรมการสภาการศึกษา คณะที่ 2 คือข้อเสนอแนวทางการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ

     คณะที่ 3 คณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านการปฏิรูปกลไกและระบบการผลิต คัดกรอง และพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครู ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษา (ศาสตราจารย์กิตติคุณชนิตา  รักษ์พลเมือง ประธานอนุกรรมการ) มีแนวทางการดำเนินงานในประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1) จัดทำข้อเสนอการปฏิรูปกลไกและระบบการผลิต คัดกรอง และพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครู ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษา และการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยการสังเคราะห์เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปกลไกและระบบการผลิต คัดกรอง และพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครู ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษา ประสานการดำเนินงานของคณะกรรมการและอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การดำเนินงานมีความสอดคล้องกัน และ 2) ดำเนินกิจกรรมนำร่องการพัฒนาวิชาชีพครู ในประเด็นที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อการเปลี่ยนโฉมบทบาท “ครู” ให้เป็นครูยุคใหม่ ผลผลิต/ผลลัพธ์ที่คาดว่าจะได้รับของคณะอนุกรรมการสภาการศึกษา คณะที่ 3 คือ ข้อเสนอการปฏิรูปกลไกและระบบการผลิต คัดกรอง และพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครู ผู้บริหาร บุคลากรทางการศึกษา และการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งรายงานผลการดำเนินกิจกรรมนำร่องการพัฒนาวิชาชีพครูเพื่อเปลี่ยนโฉมบทบาท “ครู” ให้เป็นครูยุคใหม่

     คณะที่ 4 คณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านการปฏิรูปการจัดการเรียนการสอน เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 (รองศาสตราจารย์จุลนี  เทียนไทย ประธานอนุกรรมการ) มีแนวทางในการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเกี่ยวกับการปฏิรูปการจัดการเรียนการสอนเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21ในประเด็นสำคัญ ได้แก่ การปรับปรุงหลักสูตรพร้อมกระบวนการจัดการเรียนการสอน และการประเมินเพื่อพัฒนาการเรียนรู้เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ การจัดการศึกษาเพื่อเสริมสร้างคุณธรรมและจริยธรรม การประเมินคุณภาพการจัดการศึกษาระดับชาติและระบบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อ ระบบความปลอดภัยและระบบสวัสดิภาพของผู้เรียนการปฏิรูปอาชีวศึกษาเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และการปฏิรูปอุดมศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ประสิทธิภาพ และธรรมาภิบาลของระบบอุดมศึกษา ผลผลิต/ผลลัพธ์ที่คาดว่าจะได้รับของคณะอนุกรรมการสภาการศึกษา คณะที่ 4 คือคู่มือ กฎระเบียบ หรือสื่อเกี่ยวกับการปฏิรูปการจัดการเรียนการสอนเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ที่จะเผยแพร่ตามช่องทางต่าง ๆ เพื่อทำให้การนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติเกิดประสิทธิภาพสูงสูด

     คณะที่ 5 คณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านการปฏิรูปโครงสร้างของหน่วยงานในระบบการศึกษา (นายอภิมุข  สุขประสิทธิ์ ประธานอนุกรรมการ) มีแนวทางการดำเนินงานในการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ในประเด็นสำคัญ 3 เรื่อง ได้แก่ 1) จัดทำความเห็น/ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับความเป็นอิสระในการบริหารจัดการศึกษาของสถานศึกษา โดยการวิเคราะห์จากข้อเท็จจริงและสภาพปัญหา อุปสรรคในการดำเนินการบริหารจัดการ ตลอดจนประเภท ลักษณะ และขนาดของสถานศึกษาที่เชื่อมโยงกับการกระจายอำนาจการบริหารและจัดการศึกษา 2) จัดทำความเห็น/ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการพัฒนานวัตกรรมการเรียนการสอนและยกระดับคุณภาพผู้เรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่ได้ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลจากสภาพปัญหาและอุปสรรคในการจัดการเรียนการสอนของแต่ละพื้นที่ และ 3) จัดทำความเห็น/ข้อเสนอเกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลและข้อเสนอแนะแนวทางการปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการจากหน่วยงานต่าง ๆ และผู้ทรงคุณวุฒิ ผลผลิต/ผลลัพธ์ที่คาดว่าจะได้รับของคณะอนุกรรมการสภาการศึกษา คณะที่ 5 คือข้อเสนอแนะในการดำเนินการ 3 เรื่อง ได้แก่ 1) ความเห็น/ข้อเสนอแนะต่อสภาการศึกษาเกี่ยวกับสถานศึกษาที่มีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการศึกษา 2) แนวทางการพัฒนา/การจัดการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และ 3) แนวทางการปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ

     คณะที่ 6 คณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านการปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้โดยการพลิกโฉมด้วยระบบดิจิทัล (นายอรรถการ  ตฤษณารังสี ประธานอนุกรรมการ) มีแนวทางการดำเนินงานโดยแต่งตั้งคณะทำงาน 2 คณะ เพื่อขับเคลื่อนการเรียนรู้ด้วยระบบดิจิทัล และขับเคลื่อน Big Data ด้านการศึกษาโดยสาระสำคัญของคณะทำงาน คณะที่ 1 คือ การขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมและจัดทำแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้ด้วยระบบดิจิทัล เพื่อเป็นต้นแบบการเรียนรู้ด้วยระบบดิจิทัล และการพัฒนาความเป็นพลเมืองดิจิทัล และสาระสำคัญของคณะทำงาน คณะที่ 2 คือ การขับเคลื่อนโครงการพัฒนาการบูรณาการระบบข้อมูลทางการศึกษาแห่งชาติ โดยวิเคราะห์และจัดทำข้อเสนอในการขับเคลื่อนระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารการศึกษา (Education Management Information System : EMIS) การวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analysis) และรูปแบบการนำเสนอข้อมูลสารสนเทศ (Data Visualization) เพื่อประโยชน์ในการสนับสนุนนโยบายการจัดการศึกษา  ผลผลิต/ผลลัพธ์ที่คาดว่าจะได้รับของคณะอนุกรรมการสภาการศึกษา คณะที่ 6 คือ แพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้ด้วยระบบดิจิทัล ซึ่งเป็นต้นแบบการเรียนรู้ด้วยระบบดิจิทัล แนวทางการพัฒนาความเป็นพลเมืองดิจิทัล และต้นแบบสาธิตในการขับเคลื่อน Big data ของกระทรวงศึกษาธิการ

     สภาการศึกษาปรับโครงสร้างคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินงานตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา โดยนำภารกิจของคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาชุดเดิมและภารกิจของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษามาผนวกรวมเข้าด้วยกัน ซึ่งคณะอนุกรรมการสภาการศึกษา จำนวน 6 คณะ ได้นำเสนอแนวทางการดำเนินงานที่สอดรับแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาต่อสภาการศึกษา และได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมสภาการศึกษาแล้ว ลำดับถัดไปคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาแต่ละคณะจะดำเนินงานตามแนวทางที่เสนอต่อสภาการศึกษา ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด และจะรายงานความก้าวหน้าการดำเนินการให้สภาการศึกษาทราบเป็นระยะ

....................................................................................................................................................

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด