บทวิเคราะห์ เรื่อง Home – based Learning (HBL)

image

 

บทวิเคราะห์ เรื่อง Home – based Learning (HBL)
ประสบการณ์สิงคโปร์กับการจัดการเรียนรู้ในช่วงวิกฤติ (Singapore COVID-19 Circuit Breaker)

ดร.ศศิรัศม์ วีระไวทยะ
สำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้


Background
การระบาดของ COVID-19

             นับตั้งแต่การเริ่มต้นสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ปลายปี พ.ศ.2562  ในช่วงต้น เดือนธันวาคม เมื่อทางการจีนเริ่มมีการประกาศว่าพบผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบจาก เชื้อไวรัส จำนวน 4 ราย และเพิ่มเป็นจำนวนหลายสิบคนภายในระยะเวลาไม่กี่วัน โดยแพทย์จีน ลงความเห็นเพียงว่า ผู้ป่วยเหล่านั้นมีอาการที่ไม่ตอบสนองการรักษาของแพทย์ และมีการแพร่กระจายต่อส่งผลให้มีจำนวนผู้ป่วยมากขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2562 รัฐบาลจีนจึงได้มีการออกแถลงการณ์ พร้อมชี้แจงต่อองค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อแสดงความมั่นใจว่า โรคที่พบในจีนจะสามารถป้องกันและควบคุมได้ แต่ในช่วงรอยต่อระหว่างเทศกาลวันขึ้นปีใหม่สากล ( 1 มกราคม 2563) และวันตรุษจีน (23 - 25 มกราคม 2563) ได้ปรากฏว่ามีการเคลื่อนย้ายออกของประชากรชาวจีนในมณฑลเหอเป่ย เมืองอู่ฮั่น จำนวนมาก โดยในวันที่ 21 มกราคม 2563 ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัย Columbia ได้ศึกษาและจัดทำบทวิเคราะห์ที่ชี้ให้เห็นว่า นักเดินทางชาวจีนจำนวนมากที่เดินทางออกนอกเมืองและประเทศในระหว่างช่วงระยะเวลาดังกล่าว มีอาการป่วยติดเชื้อทางปอด ซึ่งในวันเดียวกันนั้นเอง ทางการจีนก็ได้มีการแถลงยอมรับเป็นครั้งแรกว่า พบเชื้อไวรัสที่สามารถแพร่ระบาดเชื้อจากคนสู่คน และ เริ่มมีรายงานข่าวเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในเมืองใหญ่ของประเทศจีน ซึ่งทางการจีนก็ได้ประกาศปิดการเดินทางทั้งภายในประเทศและเดินทางออกนอกประเทศในวันที่ 23 มกราคม 2563 บทวิเคราะห์ดังกล่าวยังชี้ให้เห็นอีกด้วยว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสที่เกิดขึ้นในจีน ได้กระจายไปยังประเทศอื่นๆ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. จากชาวจีนที่เดินทางเคลื่อนย้ายออกจากมณฑลอู่ฮั่นจำนวนมากดังได้กล่าวไปแล้ว และเริ่มพบผู้ป่วยในโตเกียว สิงคโปร์ โซล ฮ่องกง กรุงเทพฯ และเมืองหลวงของประเทศต่างๆ จากผู้ที่เดินทางออกจาก อู่ฮั่นซึ่งติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน จนนำไปสู่การประกาศให้ COVID-19 เป็นโรคระบาดใหญ่ (Pandemic) ทั่วโลก โดยองค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2563 ภายหลังจากการระบาดของ COVID-19 กระจายไปอย่างน้อย 114 ประเทศ และมีผู้เสียชีวิตกว่า 4,000 ราย

มาตรการจำกัดการเคลื่อนไหวทางสังคม (COVID-19 Circuit Breaker) และมาตรการล็อกดาวน์ (Lockdown) ในสิงคโปร์

             สำหรับประเทศสิงคโปร์ เริ่มมีการแพร่ระบาดของ COVID-19 กรณีแรก ตั้งแต่ช่วงต้นของการระบาด คือ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2563 จากนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางออกจากมณฑลเหอเป่ย เมืองอู่ฮั่นในวัน เดียวกับที่อู่ฮั่นได้ประกาศล็อกดาวน์ (Lockdown) ในขณะนั้น สิงคโปร์ได้ใช้วิธีตรวจสุขภาพที่สนามบิน และดำเนินการตรวจหาผู้ป่วยอย่างกว้างขวางทันที โดยมุ่งให้ครอบคลุมผู้ที่มีภาวะเสี่ยงทุกราย มีการติดตามบุคคลและกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องภายหลังการสืบสวนโรคอย่างเคร่งครัด และจำกัดให้ผู้ที่สัมผัสติดต่อกับผู้ป่วยกักตนเอง (Quarantine) ในบ้านจนกว่าจะได้รับการตรวจวินิจฉัยซ้ำว่าปลอดเชื้อ หลายสัปดาห์จากนั้น สิงคโปร์ได้ทุ่มเทความพยายามในการกดจำนวนผู้ป่วยใหม่ในประเทศให้อยู่ในระดับต่ำและสามารถติดตามสอบสวนโรคได้ทั้งหมด ซึ่งพบว่ามีผู้ติดเชื้อแบบเป็นกลุ่มก้อน (Cluster) ขนาดเล็กซึ่งทำให้ง่ายต่อการควบคุม ทำให้สถิติผู้ติดเชื้อของสิงคโปร์ในเดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้นไม่เกิน 10 คนต่อวัน ผลจากการบริหารจัดการที่ดี ทำให้ประเทศยังสามารถจัดการเรียนการสอนได้ตามปกติ ไม่มีการปิดห้างร้าน อาคารสถานที่ต่างๆ และยังไม่ได้มีการใช้มาตรการจำกัดควบคุมอย่างเข้มงวดที่มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน ซึ่งทำให้นายลี เซียน ลุง นายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ ได้รับเสียงชื่นชมอย่างมากในภาวะผู้นำ การบริหารจัดการ การสร้างความเชื่อมั่น และการสร้างความร่วมมือของประชาชนในชาติจากองค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) และนานาประเทศเป็นอันมาก แสดงให้เห็นว่า ระบบที่รัฐบาลสิงคโปร์วางไว้ทำงานได้ดีนับตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมเป็นต้นมาจนถึงกลางเดือนมีนาคม 2563

             ในช่วงต้นเดือนมีนาคม สิงคโปร์มีจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศเพียง 100 กว่าคน และ มีศักยภาพในการหาตรวจเชื้อ Covid-19 ได้มากถึง 6,800 คนต่อประชากร 1 ล้านคน ในขณะที่เกาหลีใต้ตรวจได้ 6,500 คนต่อประชากร 1 ล้านคน แต่ต่อมาตัวเลขผู้ติดเชื้อ Covid-19 ของสิงคโปร์ในช่วงต้นเดือนเมษายนกลับพุ่งสูงขึ้นเป็น 1,000 คนอย่างรวดเร็ว ในวันที่ 1 เมษายน 2563 เพียงวันเดียว พบผู้ติดเชื้อรายใหม่มากถึง 74 ราย (มาจากผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ 20 คน และการระบาดในประเทศอีก 54 คน) ซึ่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ Jeremy Lim ผู้เชี่ยวชาญจาก The Saw Swee Hock School of Public Health อธิบายว่า สิงคโปร์ได้เข้าสู่การระบาดของ Covid-19 ในเฟสสองอย่างเป็นทางการ และกลายเป็นประเทศที่มียอดผู้ป่วยโควิด-19 มากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนเมษายน 2563 เป็นต้นมา

             งานวิจัยและบทวิเคราะห์หลายชิ้นได้ศึกษาถึงสาเหตุของการเข้าสู่การระบาดของ Covid -19 ในเฟสสองของสิงคโปร์ไว้ว่า ผู้ป่วยใหม่ในเฟสสองนี้เกือบทั้งหมดเป็นแรงงานต่างชาติที่อาศัยอยู่อย่างแออัดตามแหล่งหอพักคนงาน โดยหอพัก S11 ในเมืองปังโกล ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ เป็นสถานที่ ที่มีการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ที่สุด โดยพบผู้ติดเชื้อแล้วหลายพันราย ซึ่งรัฐบาลสิงคโปร์ได้มีการขยายขอบเขตให้หอพักคนงานเป็นพื้นที่ควบคุมด้านสาธารณสุขเพิ่มเป็นอย่างน้อย 19 แห่ง และส่งผลให้สิงคโปร์อยู่ภายใต้มาตรการจำกัดการเคลื่อนไหวทางสังคม (Circuit Breaker) โดยรอบแรกกำหนดมาตรการจำกัดการเคลื่อนไหวทางสังคม เป็นเวลา 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน จนถึงวันที่ 4 พฤษภาคม 2563 และต่อมา นาย ลี เซียน ลุง นายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ ได้ประกาศการขยายมาตรการจำกัดการเคลื่อนไหวทางสังคม (Circuit Breaker) ต่อไปอีก 4 สัปดาห์ จนถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2563 และมีการกำหนดมาตรการเพิ่มเติมเพื่อตัดวงจร ที่มีความเข้มงวดยิ่งขึ้น เช่น การปิดสถานที่ทำงาน การกำหนดและควบคุมการเข้าออกพื้นที่ที่เป็น Hot spot เช่น ตลาดสด เป็นต้น


สามารถดาวน์โหลด เอกสารฉบับเต็มที่นี่
          บทวิเคราะห์ เรื่อง Home – based Learning (HBL) ประสบการณ์สิงคโปร์กับการจัดการเรียนรู้ในช่วงวิกฤติ (Singapore COVID-19 Circuit Breaker)

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด