ชวนรู้ ทักษะเด็กไทย เตรียมรับ New Normal

อัจฉรา ทังนะที
ขวัญเมษา จงนุเคราะห์
สำนักสื่อสารองค์กร สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
“ การเรียนในยุคปัจจุบันจะเรียนในห้อง หรือ เรียนออนไลน์อย่างเดียวไม่ได้ ต้องเรียนในเชิงปฏิบัติเพื่อเตรียมพร้อมให้เด็กมีทักษะการทำงานในโลกศตวรรษที่ 21 ด้วย ”
หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า New Normal กันมาบ้างแล้ว ซึ่งมันคือ ความปกติแบบใหม่ หรือฐานวิถีชีวิตใหม่ เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นหลังจากเกิดภาวะวิกฤต แล้ว New Normal จะเปลี่ยนการเรียนของเด็กไทยไปด้วยหรือไม่ วันนี้ คุณอรรถการ ตฤษณารังสี กรรมการสภาการศึกษา ในฐานะผู้แทนภาคเอกชน ร่วมแลกเปลี่ยนว่า ปัจจุบันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ทำให้ต้องเว้นระยะห่างทางสังคม จนพฤติกรรมการสื่อสารก็เปลี่ยนจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นการประชุม การเรียนการสอน รวมไปถึงการสอบของนักเรียน ที่จำเป็นต้องใช้ระบบออนไลน์เข้ามาช่วย แต่การใช้ระบบออนไลน์ไม่ใช่ทุกคำตอบของการศึกษาไทย เพราะการสร้างทักษะพื้นฐานให้เด็กกลายเป็นคนที่เก่งคิด เก่งวิเคราะห์ เก่งแก้ปัญหา กลายเป็นนิยามของคนเก่งในการศึกษาแบบใหม่
นิยามคนเก่ง ในการศึกษาแบบใหม่ มีอะไรบ้าง ..
ไม่เพียงเท่านั้นนะ ยังมีองค์ความรู้แกนหลัก แกนเสริม ไม่ว่ายุคไหนเด็กไทยก็ต้องมี เพราะการเปลี่ยนแปลงด้านสังคมและเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ทำให้การศึกษาไทยต้องขยับตัว เตรียมพร้อมทักษะให้เด็กไทยก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ดังนั้นองค์ความรู้แกนหลัก เป็นการสร้างรากฐานความรู้ที่จำเป็นต่อการศึกษาในอนาคต นั่นหมายถึงความเชี่ยวชาญในด้านใดด้านหนึ่ง หรือเชี่ยวชาญในสาขาวิชาชีพของตนเอง ส่วนองค์ความรู้แกนเสริม จะเน้นเสริมทักษะการใช้ชีวิต การฝึกให้มีทักษะในการสืบค้นข้อมูลสารสนเทศอย่างถูกต้อง และสามารถอ่านข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ทำความเข้าใจ ร่วมกับการใช้ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณประกอบการตัดสินใจ ช่วยให้เด็กสามารถบูรณาการความรู้ และใช้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านั้นได้
แบบนี้สภาการศึกษา ทำอะไรบ้าง ..
คุณอรรถการเล่าว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ศาสตราจารย์ ดร. สุพจน์ หารหนองบัว ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หนึ่งในคณะกรรมการสภาการศึกษา ให้แนวคิดว่า ทุกพื้นที่สามารถเป็นห้องเรียนรู้ได้ ความรู้ในห้องทดลองวิทยาศาสตร์ไม่ได้มีอยู่แค่ในเมืองอย่างเดียว เพราะห้องทดลองธรรมชาติ ท้องไร่ ท้องนา ก็สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ได้เช่นกัน ทำให้การเรียนรู้ไม่ได้มีแค่ในห้องเรียน และการเรียนออนไลน์เท่านั้น การเรียนรู้นอกห้องเรียนเพื่อเสริมทักษะชีวิตก็เป็นเรื่องสำคัญ ควรส่งเสริมให้พื้นที่ชนบทใช้ความรู้ปราชญ์ชาวบ้านพัฒนาเป็นหลักสูตรที่ปฏิบัติได้จริง ในที่นี้หมายถึงให้นำความรู้ท้องถิ่นที่มีประยุกต์ให้เป็นหลักสูตรการเรียนการสอน โดยนำเทคโนโลยีมาช่วยเผยแพร่ต่อสังคมผ่านสื่อออนไลน์
ดังนั้น สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจึงเตรียมผลักดันเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะการเปิดพื้นที่ให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอน ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ง่ายขึ้น โดยไม่ลืมว่าภายใต้ยุคดิจิทัล เราต้องหันมาใช้เทคโนโลยีกับการเรียนการสอนให้เกิดประโยชน์ เช่น การทำคลิปวิดีโอให้ความรู้ตามความถนัดและศักยภาพของแต่ละพื้นที่ ลงบนโซเชียลมีเดียอย่าง Youtube เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการสร้างสื่อการเรียนการสอนออนไลน์ได้ด้วยตนเอง การเรียนการสอนในอนาคตจะไม่จำกัดแค่ในห้องเรียนอย่างแน่นอน
ไม่เรียนในห้อง จะประเมินได้ไหม ..
พูดถึงการประเมินการเรียนการสอนในแบบเดิม คงไม่พ้นการเสนอผลงานต่อผู้ทรงคุณวุฒิที่เชี่ยวชาญ แต่ถ้าเราใช้เทคโนโลยีเป็นสื่อในการเรียนแล้ว สังคมจะเข้ามามีส่วนร่วมในการประเมิน ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครอง และนักเรียน ซึ่งเป็นผู้รับบริการทางการศึกษาโดยตรง เช่น คลิปวิดีโอการเรียนการสอนต่าง ๆ สามารถประเมินได้จากยอดผู้ชม (view) ยอดกดไลค์ (Like) ยอดการแชร์ (Share) และยอดผู้ติดตาม (Subscribe) ทำให้การประเมินการเรียนการสอนจะไม่ถูกประเมินจากผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่กี่คนอีกต่อไป .. “กระบวนการการตอบรับจากสังคมนี้ คือ แนวคิดหนึ่งที่จะส่งเสริมให้เกิดขึ้นจริงในเร็ว ๆ นี้ ภายใต้บทบาทสภาการศึกษา”
ท้ายที่สุดแล้ววิธีการรับมือที่ดีที่สุดคือการเตรียมพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ หลังจากนี้ ความปกติใหม่ หรือ New Normal จะปรับพฤติกรรมการเรียนรู้และการใช้ชีวิตของทุกคนไปทิศทางไหน มีผู้คาดการณ์ไว้แล้วมากมาย จะดีแค่ไหนถ้าการศึกษาไทยใช้โอกาสนี้ ศึกษารูปแบบการเรียนรู้และริเริ่มการเรียนแบบใหม่ที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ไปพร้อม ๆ กับพัฒนาให้เด็ก ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศให้มีทั้งทักษะพื้นฐาน และทักษะการใช้ชีวิตในยุคใหม่ แบบนี้เรียกได้ว่า พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสของจริง
***********************************
ติดตามข่าวสารได้ที่
Facebook : OEC News สภาการศึกษา
Youtube : OEC News สภาการศึกษา
LINE: @OECNews | http://line.me/ti/p/@OECNews

