ฮาวทู Learn เพลิน Online

image

 

        OEC News Connext
จดหมายข่าวสภาการศึกษา ปีที่ 5 ฉบับที่ 7
 

     ไวรัสวายร้ายเร่งปฏิรูปการศึกษา!

     ใครจะเชื่อว่า.... ‘โควิด-19’ กลายเป็นทั้งวิกฤตและโอกาสสามารถจุดกระแสวงการการศึกษาทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย พร้อมใจพลิกใช้ Digital platform สร้างรูปแบบใหม่ ‘การเรียน-การสอน’ รองรับการเรียนรู้ของ ‘ผู้เรียน’ ที่มิได้หยุดยั้งไปตามสถานการณ์นี้ 

     ผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางต่อวงการศึกษาคือ การเพิ่มอัตราเร่งในการปฏิรูปการศึกษาทั่วโลกครั้งใหญ่ โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) มาใช้พัฒนาระบบการเรียนการสอนมากขึ้น เพื่อส่งเสริมระบบการศึกษาทั่วโลกดำเนินต่อไปได้อย่างไม่สะดุดและไม่ว่าผู้เรียน หรือผู้สอนจะอยู่ที่ไหนก็สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ทั้งนั้น

 

 

     โลกปรับใหญ่เรียนรู้ Online          

     เช่นเดียวกับเมืองอื่น ๆ ในทุกทวีป รัฐบาลไทยได้มีคำสั่งปิดเมือง (Lockdown) สกัดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แน่นอนที่สุดหมวกอีกใบของพลเมืองก็คือบทบาทในฐานะพ่อ-แม่ ผู้ปกครองของลูก ซึ่งวันนี้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดโอกาสให้เด็ก ๆ นักเรียน นักศึกษา ได้พักผ่อนระยะยาวไม่น้อยกว่า 3 เดือนจากเวลาปิดเทอมตามวงรอบปกติ!   

     องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ประเมินว่าผู้เรียนมากกว่า 1.5 พันล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนมากกว่า 90% ของประชากรโลกถูกกักตัวอยู่ที่บ้าน และเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง เพราะการเรียนรู้ทางออนไลน์และการเรียนทางไกลถูกนำมาใช้ต่อยอดการเรียนรู้ของผู้คนกลายเป็นเทรนด์ Learn from Home 

     อย่างไรก็ตาม ด้วยจำนวนประชากรโลกมากกว่าครึ่งที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองเมือง จึงเกิดคำถามว่าระบบโครงสร้างขั้นพื้นฐานในแต่ละประเทศจะสร้างความมั่นใจว่าผู้เรียนทุกคนยังคงได้รับการเข้าถึงการศึกษาออนไลน์หรือไม่ สำหรับการจัดการศึกษาผ่านระบบทางไกล (Distance learning) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารและในครอบครัวที่ยังขาดแคลนระบบอินเทอร์เน็ต

    ที่มืองหวู่ฮั่น สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นเมืองอันต้น ๆ ที่พบการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีนักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษามากกว่า 1 ล้านคน เข้าร่วมเรียนด้วยระบบสาธารณะที่เรียกว่า air classes ตั้งแต่เดือน ก.พ. 2563 นอกเหนือจากสอนวิชาปกติแล้ว โรงเรียนยังปรับหลักสูตรเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับเชื้อโควิด-19 เพิ่มเติมอีกด้วย

     ส่วนที่เมืองตูริน ประเทศอิตาลี รัฐบาลได้ทุ่มเททำงานอย่างหนักเพื่อสนับสนุนโรงเรียนที่ถูกสั่งปิดพื้นที่ และไม่สามารถจัดการเรียนแบบเห็นหน้ากันได้ จึงปรับมาใช้กิจกรรมการเรียนรู้ออนไลน์ทั้งหมด ซึ่งไม่ได้สร้างปัญหาสำหรับครูผู้สอน เพราะมีการติวเข้มทั้งเชิงเทคนิคและหลักสูตรการสอนออนไลน์ แม้แต่โรงเรียนที่ไม่มีประสบการณ์ออนไลน์มาก่อนก็สามารถดำเนินการเรียนการสอนแบบออนไลน์ได้

     อย่างไรก็ตาม หลักสูตรการเรียนทางไกลและระบบออนไลน์ ได้สร้างช่องว่างใหม่ ๆ สำหรับการเรียนรู้ ยกตัวอย่างเช่น เด็กขาดอาหารในช่วงพัก รวมทั้งยังเป็นทางเลือกการเรียนรู้เพื่อตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานอย่างตรงจุด ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในความท้าทายของทุกประเทศต้องให้ความสำคัญ ขณะที่เมืองเซา เปาโล ประเทศบราซิล ยกให้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การเผชิญปัญหาด้านการศึกษา

     สำหรับเมืองศูนย์กลางการค้าในจีน เซี่ยงไฮ้ มีการสอนประชาชนผ่านช่องทางต่าง ๆ ว่าจะซื้อหน้ากากอนามัยเพื่อการป้องกันไวรัสโควิด-19 และวิธีการสั่งซื้ออาหารผ่านระบบออนไลน์ รวมถึงมีการให้คำแนะนำชีวิตประจำวันเพื่อรับมือการระบาดของไวรัสนี้ บรรดาครูถูกขอให้สื่อสารกับผู้ปกครองและนักเรียน เพื่อช่วยเหลือกระบวนการให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการรักษาสุขภาพและการดูแลผู้อื่น

     ในอิหร่าน ที่เมืองคาชาน ได้เปิดรายการโทรทัศน์เพื่อสอนวิธีป้องกันไวรัสไม่ให้แพร่กระจายต่อไป โดยเริ่มต้นจากบ้านที่มีสุขอนามัยดี ภายใต้แนวคิดของเมืองคาชาน “สุขภาพดีทุกบ้าน”!

     ความเชื่อมโยงระหว่างการศึกษาและสุขภาพนี้ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการสอดประสานกันระหว่างหน่วยงานที่เป็นหัวใจของการเรียนรู้ตลอดชีวิตและตระหนักว่าภาคประชาสังคมและภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมภาครัฐเพื่อขยายโอกาสการเรียนรู้ระดับท้องถิ่น

     ขณะที่เกาหลีใต้ ที่เมืองโอซาน มีการระดมภาคประชาสังคมเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนต่อต้านไวรัส เครือข่ายอาสาสมัครจำนวนพร้อมใจร่วมผลิตหน้ากากอนามัยป้องกันเชื้อไวรัสจำนวนหลายพันชิ้นเพื่อแจกจ่ายไปยังผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงโรค

     ในอิตาลี เมืองโตริโน ทุกภาคส่วนทั้งรัฐและภาคเอกชนได้ร่วมมือกันแก้ไขวิกฤตโควิด-19 ด้วยการให้บริการฟรีทั่วทั้งเมืองสำหรับการสร้างสรรค์และทดสอบนวัตกรรมใหม่ ๆ ภายใต้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันเพื่อขยายผลการสกัดกั้นโรคระบาด

 


 

     WEF ชี้ 4 ทางเปลี่ยนอนาคต

     รายงานฉบับหนึ่งของสภาเศรษฐกิจโลก (WEF) ชี้ชัดว่า ขณะนี้นักการศึกษาทั่วโลกกำลังถกเถียงกันถึง “แนวคิดใหม่” และรูปแบบวิธีให้การศึกษาสำหรับคนรุ่นอนาคต ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคสำหรับเราทุกคนที่ต้องทบทวนความคิดใหม่เกี่ยวกับวิธีที่เราให้การศึกษา และตั้งคำถามกับสิ่งที่เราต้องสอน รวมทั้งสิ่งที่เรากำลังเตรียมการสิ่งใดสำหรับนักเรียน ขณะที่นักการศึกษาอาจต้องเร่งทำความเข้าใจวิธีการใหม่ ๆ ในการสื่อสารกับ “ผู้เรียน” นอกเหนือไปจากห้องเรียนและคำบรรยายการสอน ซึ่งอาจเป็นเวลาที่ดีต่อการสะท้อนให้เห็นว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นสามารถช่วยกำหนดรูปแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับคน Generation Z ซึ่งหมายถึงคนที่เกิดหลัง พ.ศ. 2540 หรือเด็กกว่านั้น

     ในท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 นี้ นักการศึกษาทั่วโลกกำลังสงสัยว่าสิ่งที่ต้องเตรียมการเพื่อรองรับนักเรียนในอนาคตควรเป็นสิ่งใดกันแน่ หากเป็นไปตาม ตามรายงานของบริษัท เดลล์ เทคโนโลยี ที่ระบุว่า 85% ของงานในปี 2573 จะตกอยู่ในมือของคน Gen-Z และ Gen-Alpha ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เกิดหลังปี พ.ศ. 2553 - 2568 ส่งผลต่อพฤติกรรมและการใช้ชีวิตล้ำสมัย สามารถสร้างประโยชน์และรายได้จากเทคโนโลยีเป็นกอบเป็นกำ เช่นเดียวกับรายงานของ WEF ชี้ว่า 65% ของเด็กประถมในวันนี้จะทำงานรูปแบบใหม่ที่ยังไม่เคยมีมาก่อน

     อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์การศึกษาของ WEF ได้สังเคราะห์ 4 แนวทางแห่งอนาคตเพื่อเปลี่ยนวิธีให้การศึกษาแก่คนรุ่นใหม่ ประกอบด้วย

     1.ให้ความรู้แก่พลเมืองในโลกที่เชื่อมโยงถึงกัน

     ผู้ที่ประสบความสำเร็จในศตวรรษที่กำลังจะมาถึงจำเป็นต้องเข้าใจความสัมพันธ์และความเชื่อมโยงระหว่างความแตกต่างของผู้คนที่มีหลากหลายเชื้อชาติและเข้าใจความร่วมมือกันทั่วโลก

     2.นิยามบทบาทใหม่ของผู้สอน

     ครูหรือนักการศึกษาต้องหันมาทบทวนและเปลี่ยนบทบาทตนเองเสียใหม่ เพราะรูปแบบการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ก้าวล้ำไปมาก สามารถหาได้จากทุกที่เพียงแค่คลิกบนสมาร์ทโฟน แท็บเลต หรือคอมพิวเตอร์ นักการศึกษาจึงต้องแนะนำและมุ่งพัฒนาคนรุ่นใหม่ให้มีคุณภาพที่ดีของสังคม

     3.สอนทักษะชีวิตสำหรับอนาคต

     เมื่อมองถึงอนาคตทักษะสำคัญที่สุดในสายตานายจ้างคือ ความคิดสร้างสรรค์ การสื่อสาร และการทำงานร่วมกับผู้อื่นควบคู่กับการเอาใจใส่และความฉลาดทางอารมณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานได้อย่างหลากหลายและสร้างเอกภาพการทำงานเป็นทีมที่มีประสิทธิภาพ

     4.ปลดล็อกเทคโนโลยีส่งต่อการศึกษา

     ระบบเทคโนโลยีกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเรียนรู้ของผู้เรียนในทุกภาคส่วน ดังนั้น ภาคการศึกษาจึงต้องแสวงหาสิ่งใหม่ ๆ ที่มีความแตกต่างจากรูปแบบเดิม ซึ่งมีความยืดหยุ่นต่อการเข้าถึงของผู้เรียนทั่วโลก และกลายเป็นการสอนรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนตั้งแต่ระดับปฐมวัยต่อเนื่องไปจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

           

     Shopping เรียนรู้ สื่อผสมเสรี            

     งานวิจัยของสำนักบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) ร่วมกับ สถาบันการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ที่ศึกษารูปแบบการเรียนรู้สำหรับคนรุ่นใหม่ พบว่า รูปแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับยุคข้อมูลข่าวสารคือ รูปแบบที่สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ ซึ่งมวลชนหมู่มากสามารถเรียนรู้ได้แต่ต้องเรียนรู้อย่างเหมาะสมกับความสนใจและความสามารถของแต่ละบุคคลด้วย ทำให้เกิดรูปแบบการเรียนรู้ใหม่ เช่น หลักสูตรออนไลน์แบบเปิดสำหรับมวลชน (MOOCs) หรือช่องทางการเรียนรู้อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพ เสียง วีดิทัศน์ สื่อสังคม เกม จึงนับเป็นโอกาสดีของคนรุ่นใหม่ในการเลือกรูปแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับตนเองได้

     แนวโน้มทางด้านบูรณาการระหว่าง platform ออนไลน์จะทำให้เกิดรูปแบบ platform การเรียนรู้ที่มีการผสมผสานมากขึ้น อาทิ MOOCs หลักสูตรออนไลน์มีการใช้ platform อื่นเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้อย่างเผยแพร่วีดิทัศน์บน Youtube ใช้เกมเพื่อดึงดูดเนื้อหา เป็นต้น 

     สำหรับแนวโน้มการเกิดอาชีพใหม่ที่จะเกิดขึ้นจากการพัฒนาทางเทคโนโลยี รูปแบบการเรียนรู้ที่เปลี่ยนไป อาทิ ครูชื่อดังที่มีชื่อเสียงในการสอนแต่ละวิชาใน MOOCs นักจัดรายการเพื่อการเรียนรู้ทั้งบนสื่อวีดิทัศน์และสื่อทางเสียง นักวิจารณ์รายการ Commentator หรือ recommender เป็นต้น

     ประการสำคัญที่สุดสำหรับคน Gen-Z Alpha และคนรุ่นอนาคตต่อไป ต้องสามารถแยกแยะประสบการณ์การเรียนรู้เหล่านี้คู่ขนานกับบทบาทในชีวิตจริง ทั้งนี้ การเรียนรู้ทางไกล ทั้งการสอนของครู การเรียนร่วมชั้นในห้องเรียนนั้นเป็นเสมือนเครื่องเตือนใจว่า “มนุษย์” ยังจำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมแบบตัวต่อตัว

     แม้ว่าเทคโนโลยีจะก้าวไกลเพียงใดก็ตาม....

Download : http://backoffice.onec.go.th/uploads/Book/1770-file.pdf

 

***********************************
ติดตามข่าวสาร ได้ที่

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด