ประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ ๕๙ สมาคมประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษานานาชาติ

image

การประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ ๕๙ ของสมาคมประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษานานาชาติ
The 59th Assembly of International Association
for the Evaluation of Education Achievement : IEA
ระหว่างวันที่ ๙ -๑๑ ตุลาคม ๒๕๖๑
กรุงอัสตานา สาธารณรัฐคาซัคสถาน

             ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา และคณะผู้แทนสำนักงานฯ เข้าร่วมการประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ ๕๙ ของสมาคมประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษานานาชาติ (IEA) ณ กรุงอัสตานา สาธารณรัฐคาซัคสถาน ระหว่างวันที่ ๙ -๑๑ ตุลาคม ๒๕๖๑
             The International Association for the Evaluation of Education Achievement (IEA) หรือ สมาคมประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษานานาชาติ (IEA) จัดประชุมสมัยสามัญขึ้นเป็นประจำทุกปีเพื่อเป็นรายงาน ผลการดำเนินงานโครงการ กิจกรรม การบริหารงานโครงการที่สำคัญ และสถานะทางการเงินของสมาคมฯ ในรอบปีที่ผ่านมา ตลอดจนการตัดสินใจเกี่ยวกับการดำเนินงานที่สำคัญในปีถัดไป ต่อคณะกรรมการบริหาร ซึ่งประกอบไปด้วยผู้แทนจากประเทศสมาชิก การประชุมสามัญประจำปียังเป็นโอกาสให้ผู้แทนจากประเทศสมาชิกได้พบปะหารือกับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของสมาชิกในทุกๆปี และเป็นโอกาสให้ผู้แทนจากประเทศสมาชิกต่างๆ ได้พบปะหารือและสร้างเครือข่ายระหว่างกัน ทั้งนี้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้เข้าร่วมการประชุมข้างต้น ในฐานะผู้แทนประเทศไทยในการประชุมสมัชชาใหญ่ของสมาคม IEA ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๒๑ โดยในแต่ละปีได้มีผู้บริหารหรือข้าราชการที่ได้รับมอบหมายเข้าร่วมการประชุมสมัยสามัญในปีนี้ ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา ได้เข้าร่วมการประชุมในฐานะกรรมการบริหารสมาคมจากประเทศไทย พร้อมด้วยข้าราชการจำนวน ๓ ราย ได้แก่ นางสาววิชชุลาวัณย์ พิทักษ์ผล นักวิชาการศึกษาชำนาญการพิเศษ สำนักวิจัยและพัฒนาการศึกษา นายสิงหชาต ไตรจิตต์ นักวิชาการศึกษาชำนาญการ สำนักนโยบายความร่วมมือกับต่างประเทศ และนางสาวตวงดาว ศิลาอาศน์ นักวิชาการศึกษาชำนาญการ สำนักนโยบายและแผนการศึกษา
            การประชุมสมัยสามัญครั้งที่ ๕๙ มีกำหนดการประชุมทั้งสิ้น ๓ วัน ตั้งแต่วันที่ ๙ – ๑๑ ตุลาคม ๒๕๖๑ ดังมีรายละเอียดการประชุมโดยสรุปในแต่ละวัน ดังนี้

 สาระของการประชุมในวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๖๑
             ๑) ที่ประชุมได้รับรองรายงานการประชุมสามัญสมัยที่ ๕๘ ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงบูดาเปส สาธารณรัฐฮังการี โดยไม่มีการแก้ไข และได้มีมติเห็นชอบระเบียบวาระการประชุมสามัญสมัยที่ ๕๙
             ๒) โครงการศึกษาเรื่องความเป็นพลเมือง (International Civic and Citizenship Education Study: ICCS) รอบปี 2022
            คณะผู้ดำเนินงานโครงการการศึกษาเรื่องความเป็นพลเมือง หรือ ICCS ได้นำเสนอผลการติดตามแนวโน้มเกี่ยวกับหน้าที่พลเมือง ทัศนคติ และปฏิสัมพันธ์ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษา บริบทของประชาธิปไตย และการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ได้ประมวลจากการศึกษาในรอบปี 2018 และได้เสนอแผนดำเนินงานการศึกษาเรื่องความเป็นพลเมืองในรอบปี 2022 (ICCS 2022) ซึ่งจะเริ่มต้นดำเนินการในเดือนกุมภาพันธ์ 2019 โดยมีแผนการดำเนินงานสำคัญที่ควรกล่าวถึงคือ การจัดทดสอบผ่านระบบคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต (Computer-based) ซึ่งเป็นการจัดทดสอบในแบบใหม่ที่เกิดขึ้นในการศึกษารอบนี้ แต่คณะทำงานฯ ยังคงไม่ละทิ้งการทดสอบในแบบใช้กระดาษที่มีอยู่เดิม ทั้งนี้เพราะคำนึงถึงความพร้อมทางเทคโนโลยีของประเทศผู้เข้าร่วมการศึกษาเป็นสำคัญ การจัดทดสอบในระบบคอมพิวเตอร์จะมีเนื้อหาข้อคำถามทั้งของนักเรียน ครู โรงเรียน และแบบสำรวจข้อมูลระดับชาติ ที่เหมือนกันกับการทดสอบโดยกระดาษทุกประการเพียงแต่ผู้เข้าทดสอบจะทำการทดสอบผ่านระบบคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต สำหรับประเด็นในการศึกษาความเป็นพลเมืองในรอบปี 2022 มีประเด็นสำคัญ ดังนี้  Global Citizenship Education (GCE) / Education for Sustainable Development (ESD) / การใช้สื่อเทคโนโลยีในการสนับสนุนข้อมูลและการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้อง (Digital citizenship) / และการให้ความสำคัญกับผู้อพยพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม
             ๓) โครงการศึกษาด้านทักษะการอ่านระดับนานาชาติ (Progress in International Reading Literacy Study: PIRL) รอบปี 2021
             คณะผู้ดำเนินงานโครงการการศึกษาด้านทักษะการอ่านระดับนานาชาติ นำเสนอแผนการดำเนินงานสำหรับการทดสอบด้านทักษะการอ่านระดับนานาชาติในรอบปี หรือ  PIRLS 2021 โดยสถานะปัจจุบันมีประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมใหม่ คือ บอสเนีย โคโซโว มาซีโดเนีย มองเตเนโกร โครเอเชีย และไซปรัส และเช่นเดียวกับโครงการการศึกษาเรื่องความเป็นพลเมือง (ICCS) โครงการ PIRLS ในรอบใหม่นี้ได้มีการริเริ่มการจัดทดสอบโดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตฯ ยังคงไม่ละทิ้งการทดสอบในแบบใช้กระดาษที่มีอยู่เดิม ทั้งนี้เพราะคำนึงถึงความพร้อมทางเทคโนโลยีของประเทศผู้เข้าร่วมการศึกษาเป็นสำคัญ ในการประชุมคณะทำงานฯ ได้นำตัวอย่างบทอ่านที่ทางคณะทำงานฯ ได้มีการประชุมคัดเลือกเพื่อใช้จริงในการจัดทดสอบนำมาแสดงให้ผู้เข้าร่วมการประชุมทราบ
            ที่ประชุมรับฟังการนำเสนอผลปฎิบัติการโครงการ PIRLS ใน ๓ ประเทศ คือ เดนมาร์ก สเปน และ รัสเซีย  ซึ่งพบว่าทั้งประเทศสเปน และ รัสเซีย ประสบความสำเร็จอย่างงดงามในการดำเนินการโครงการ ส่วนประเทศเดนมาร์กนั้นได้รายงานถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในการดำเนินโครงการคือ การไม่สามารถบังคับหรือแจ้งโรงเรียนต่างๆ ในประเทศให้ทราบถึงความจำเป็นหรือควรเข้าร่วมในโครงการ  PIRLS ในการนี้เดนมาร์กในนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาของประเทศโดยการปรับกระบวนการดำเนินงานและปรับตัวแบบทดสอบให้ง่ายขึ้นเพื่อเป็นการเชื้อเชิญโรงเรียนสนใจเข้าร่วมการทดสอบมากขึ้น

สาระของการประชุมในวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๖๑


 

          ๑) การประชุมในวันนี้ประกอบด้วยการประชุมหารือเพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับการบริหารงานสมาคม ซึ่งเป็นการประชุมแบบปิด (Closed Session) โดยผู้เข้าประชุมจะต้องเป็นผู้แทนจากประเทศสมาชิกเท่านั้น ซึ่งท่านเลขาธิการฯ ได้เข้าร่วมการประชุมข้างต้นในฐานะคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ (IEA Representative)โดยได้ออกเสียงเลือกตั้งในนามประเทศไทยในการคัดเลือกประธานการประชุมคนใหม่ (Chairperson) แทน Ms. Anne Berit Kavli ประธานการประชุมคนปัจจุบันซึ่งหมดวาระการดำรงตำแหน่งในปีนี้
โดยประธานการประชุมคนใหม่ได้แก่ Dr.Thierry Rocher จากประเทศฝรั่งเศส ในโอกาสเดียวกันท่านเลขาธิการ ได้ออกเสียงเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ (Standing Committee) ชุดใหม่จำนวน ๒ ราย แทนกรรมการที่หมดวาระ ได้แก่ ผู้แทนจากเดนมาร์กและออสเตรเลีย นอกจากนี้ยังได้ร่วมรับฟังรายงาน การดำเนินงานของสมาคมและรายงานทางการเงินในรอบปีที่ผ่านมา
         ๒) การประชุมในภาคบ่ายเป็นการรายงานเกี่ยวกับโครงการศึกษาระดับนานาชาติว่าด้วยการรู้คอมพิวเตอร์และสารสนเทศ (International Computer and Information Literacy Study : ICILS) รอบปี 2018 และ 2024 และโครงการศึกษาแนวโน้มการจัดการศึกษาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เปรียบเทียบนานาชาติ (Trends in International Mathematics and Science Study: TIMSS) รอบปี 2019
         ๓) โครงการศึกษาระดับนานาชาติว่าด้วยการรู้คอมพิวเตอร์และสารสนเทศ (International Computer and Information Literacy Study : ICILS) รอบปี 2018 และ ปี 2023
         โครงการ ICILS มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินทักษะการรู้และเท่าทันการใช้คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศของเยาวชนให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑ อีกทั้งยังประโยชน์ในการเฝ้าระวังพฤติกรรมการใช้คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศของเยาวชน โดยทำการทดสอบความสามารถในการใช้คอมพิวเตอร์ในการสืบค้นองค์ความรู้  การสร้างผลงาน การวิเคราะห์และใช้วิจารณญาณในการเข้าถึงข้อมูลดิจิทัลจากแหล่งข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือต่างกัน การแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันผ่านการใช้คอมพิวเตอร์และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ความรับผิดชอบในการสร้างและเสพสื่อดิจิทัล การติดต่อสื่อสารผ่านระบบดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งที่บ้าน ที่โรงเรียน ที่ทำงาน และที่อื่นๆ ของนักเรียนเกรด ๘ หรือเทียบเท่า ครูผู้สอนของนักเรียนเกรด ๘ ผู้บริหารระดับสูงและผู้ประสานงานด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศของทุกโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ
         ผลการทดสอบจะนำไปสู่การที่ประเทศสมาชิกนำไปพิจารณาประกอบการจัดทำนโยบาย เพื่อพัฒนาความสามารถด้านดิจิทัลของนักเรียนเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ โดยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งสอดคล้องกับโครงการ ICILS คือเป้าหมายที่ ๔.๔ (SDG ๔.๔) ที่กำหนดให้ภายในปี ค.ศ. 2030 “การเพิ่มจำนวนอย่างจริงจังของเยาวชนผู้มีทักษะที่สำคัญประกอบด้วยความรู้ด้านเทคนิค ทักษะอาชีพทั้งเพื่อการถูกจ้างงานและการเป็นเจ้าของกิจการ” โดยมีตัวชี้วัดที่กำหนดคือ สัดส่วนของเยาวชนและผู้ใหญ่ที่มีทักษะทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) และประเภทของทักษะที่มี นอกจากนี้ยังช่วยสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกสามารถตัดสินใจถึงวิธีการในการเตรียมตัวผู้เรียนสู่สังคมดิจิทัลและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่เหมาะสมในห้องเรียน
          โครงการ ICILS ในรอบปี 2018 ได้สิ้นสุดลงแล้วและกำลังจะมีการเผยแพร่รายงานผลการศึกษาให้สาธารณะทราบอย่างเป็นทางการในปลายปีนี้ (2018) ซึ่งประเทศไทยไม่ได้เข้าร่วมการทดสอบในรอบข้างต้น ที่ประชุมยังได้รับฟังแผนงานการดำเนินโครงการ ICILS ในรอบใหม่คือปี 2023 ซึ่งการดำเนินงานที่ได้ดำเนินการแล้วได้แก่ การรับสมัครประเทศสมาชิกที่ประสงค์จะเข้ารับการทดสอบ การรวบรวมข้อมูลสำหรับแบบทดสอบหลักในประเทศที่อยู่ซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ การทบทวนวรรณกรรมและการศึกษาที่เกี่ยวข้อง การจัดเตรียม วิเคราะห์ และพัฒนาข้อมูลและฐานข้อมูลนานาชาติ โดยโครงการในรอบปี 2023 จะมีการประชุมผู้ประสานงานระดับชาติ (National Research Coordinators : NRCs) ครั้งที่ 1 ในเดือนมีนาคมปี 2020ช
        ๔) โครงการศึกษาแนวโน้มการจัดการศึกษาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เปรียบเทียบนานาชาติ (Trends in International Mathematics and Science Study: TIMSS) ในรอบปี 2019
         คณะผู้ดำเนินงานได้นำเสนอผลการดำเนินงานที่ผานมาของโครงการซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา โดยได้รายงานความคืบหน้าในการเก็บข้อมูลซึ่งแบ่งกลุ่มประเทศที่เก็บข้อมูลเป็น ๒ ภาค คือ ซีกโลกเหนือ (Northern Hemisphere) และ ซีกโลกใต้ (Southern Hemisphere) โดยใช้เส้นศูนย์สูตรเป็นเกณฑ์ คณะทำงานได้รายงานถึงผลการเก็บข้อมูลห้าครั้งที่ผ่านมาและการดำเนินงานเก็บข้อมูลภาคสนามในรูปแบบคอมพิวเตอร์หรือ e-TIMSS ซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในการทำงานรอบนี้ แต่คณะทำงานฯ ยังคงไม่ละทิ้งการทดสอบในแบบใช้กระดาษที่มีอยู่เดิม (Paper Test) ทั้งนี้เพราะคำนึงถึงความพร้อมทางเทคโนโลยีของประเทศผู้เข้าร่วมการศึกษาเป็นสำคัญ สำหรับประเทศไทยนั้นสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบไม่ได้เข้าร่วมการดำเนินงานในรอบนี้แต่มีความเป็นไปได้ที่จะเข้าร่วมการศึกษาในรอบถัดไป

สาระของการประชุมในวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๖๑       
             ที่ประชุมได้มีการระดมความคิดเห็นในประเด็นการใช้ประโยชน์จากผลการศึกษาของ IEA กับสถานศึกษา ครู และนักเรียน  โดยสามารถสรุปสาระที่สำคัญได้ ดังนี้
             ๑) สถานศึกษาจะได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมโครงการของ IEA ต้องอาศัยความร่วมมือจากครูเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องได้รับการอธิบายและอบรมเกี่ยวกับการเชื่อมโยงการสอนกับหลักสูตรแกนกลางของชาติ
             ๒) ควรมีข้อมูลเปรียบเทียบระหว่างสถานศึกษาระดับเดียวกัน เพื่อให้สถานศึกษาได้ทราบสถานะและคุณภาพของตน
             ๓) IEA ควรมีการจัดทำสรุปรายงานที่มีลักษณะเป็น Small Report ที่มีผลการประเมินและการวิเคราะห์ข้อมูลที่เข้าใจง่าย เพื่อเผยแพร่ให้สถานศึกษาและผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบ
             ๔) นวัตกรรมในทุกๆ เรื่องเป็นสิ่งสำคัญ และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการทำงานปัจจุบัน เพราะสามารถลดขั้นตอนการทำงานให้กระชับลงได้ในหลายๆ กระบวนการ แต่ต้องคำนึงถึงความระมัดระวังและมีความรอบคอบในการใช้งานประกอบด้วย อนึ่งนวัตกรรมมาพร้อมกับมูลค่าและการลงทุน ดังนั้นการสนับสนุนการใช้นวัตกรรมในการศึกษาของ IEA ควรคำนึงถึงความพร้อมและสถานะทางการลงทุนของประเทศสมาชิกด้วย
             ๕) การใช้ประโยชน์จากโครงการประเมินผลของ IEA ไม่จำกัดเพียงประโยชน์ที่ได้จากผลการประเมินและข้อมูลสถิติเท่านั้น แต่รวมถึงการใช้ประโยชน์จากแบบประเมินด้วย ซึ่งครูสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับบทเรียนและการประเมินการสอนของตนเองได้
             ประธานการประชุมแจ้งว่า กำหนดการจัดประชุมสมัยสามัญครั้งที่ ๖๐ มีกำหนดจัดขึ้นในช่วงต้นเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ ณ กรุงลูบลิยานา (Ljubljana) สาธารณรัฐสโลวีเนีย

ผู้จัดทำ
นางสาววิชชุลาวัณย์ พิทักษ์ผล นักวิชาการศึกษาชำนาญการพิเศษ
สำนักวิจัยและพัฒนาการศึกษา
นางสาวตวงดาว ศิลาอาศน์ นักวิชาการศึกษาชำนาญการ
สำนักนโยบายและแผนการศึกษา
นายสิงหชาต ไตรจิตต์ นักวิชาการศึกษาชำนาญการ
สำนักนโยบายความร่วมมือกับต่างประเทศ

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด