โดรนกับการศึกษา

image

             โดรน (Drone) หรืออากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicles: UAVs) เทคโนโลยีที่กำลังเป็นที่นิยมติดลมบน และถูกนำมาประยุกต์ใช้งานอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เน้นการปฏิบัติการแทนมนุษย์ ในปัจจุบัน โดรนสามารถแบ่งได้เป็นสองชนิดตามลักษณะการทำงานคือ
โดรนแบบปีกตรึง (Fixed wing drone) และ โดรนแบบปีกหมุน (Rotary wing drone)

          


             ในอดีต โดรนได้ถูกพัฒนาเพื่อใช้ทางการทหารเป็นหลัก เช่น การใช้เป็นเป้าสำหรับฝึกซ้อมยิงต่อต้านทางอากาศ ใช้เป็นเครื่องบินสอดแนม และใช้ติดอาวุธเพื่อการโจมตีทางอากาศ ต่อมาการพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านเซ็นเซอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เช่น หน่วยรับสัญญาณดาวเทียม (GNSS) หน่วยวัดการวางตัวของเครื่องบินด้วยความเฉื่อย (Inertial Measurement Unit : IMU) และอุปกรณ์ไมโครคอนโทรลเลอร์สำหรับประมวลผลและควบคุมการบิน ที่มีขนาดที่เล็กลง ประสิทธิภาพสูงขึ้น และมีราคาถูก ทำให้การใช้งานโดรนไม่ถูกจำกัดกับปฏิบัติการทางทหารอีกต่อไป

             “Drone Economy” วาทกรรมใหม่ที่เกิดขึ้นจากการคาดการณ์ว่า ภายในปี ค.ศ. 2020 อากาศยานไร้คนขับ: โดรนเครื่องเล็กๆ นี้ จะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่เขย่าวงการอุตสาหกรรมเกือบทุกด้าน ส่งผล  ต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ดี ความต้องการนำโดรนมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมต่างๆ เพิ่มขึ้นพร้อมกับการพัฒนาของซอฟแวร์และแอพลิเคชั่นที่นำมาใช้ร่วมกับโดรนในงานเฉพาะอย่าง จากการศึกษาของ Harvard Business Review (HBR, 2017) จะเห็นได้ว่า ตลาดของโดรนเติบโตอย่างก้าวกระโดด หลังจากการเข้าสู่ยุคของโทรศัพท์เคลื่อนที่และแอพลิเคชั่นในช่วงประมาณปี ค.ศ. 2014 และยิ่งขยายขนาดของตลาดขึ้นไปอีก เมื่อเทคโนโลยีคลาวน์เข้ามามีบทบาทกับชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น 


             สำหรับวงการการศึกษา โดรนเริ่มถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการเรียนรู้ของนักเรียนและนักศึกษาเพิ่มมากขึ้นในทุกระดับการศึกษา

การศึกษาขั้นพื้นฐาน
             โรงเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เริ่มมีการนำโดรนมาเป็นเครื่องมือสำหรับใช้ปฏิบัติการโครงการเชิงวิชาการต่างๆ  นักเรียนจะได้เรียนรู้การใช้เทคโนโลยีโดรน ทฤษฎีการไหลของเบอร์นูลี่ (Bernoulli’s theorem) สร้างความคุ้นเคยต่อโปรแกรม/แอพลิเคชั่นต่างๆ พัฒนาความคิดสร้างสรรค์และคิดเชื่อมโยงกับสาขาวิชาต่างๆ อาทิ คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ ศิลปศาสตร์ และวรรณกรรม เป็นต้น นอกจากนี้ อาจพัฒนาต่อไปถึงการเขียนโค้ด (Coding) ซึ่งเป็นทักษะจำเป็นสำหรับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ตลอดจนเล็งเห็นถึงประโยชน์และการนำโดรนไปประยุกต์ใช้สำหรับการพัฒนาและแก้ปัญหา โดยผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบ STEM Education, Problem-Based Learning: PBL หรือResearch-Based Learning: RBL เป็นต้น ซึ่งทำให้เกิดการบูรณาการองค์ความรู้เชิงสหวิทยาการและส่งเสริมการเรียนรู้แบบ STEM Education ได้อย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งยังเป็นการฝึกฝนและพัฒนาทักษะจำเป็น อาทิ กระบวนการคิด การรู้ดิจิทัล ความเป็นผู้นำ และการทำงานเป็นทีมนั้น มีความสำคัญยิ่งต่อโลกศตวรรษที่ 21 ด้วย

การอาชีวศึกษา
             แม้นโยบายประเทศไทย 4.0 รัฐบาลจะเน้นและเร่งส่งเสริมอุตสาหกรรมอากาศยานแบบดั้งเดิม (เครื่องบิน) และการพัฒนาครูช่างและช่างซ่อมบำรุงอากาศยานเป็นอย่างมาก แต่อุตสาหกรรมอากาศยานไร้คนขับก็เป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้ ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า โดรนจะ    นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงของระบบต่างๆ อย่างมีนัยสำคัญ เพราะโดรนไม่ได้เป็นเพียงเครื่องบินจิ๋วเท่านั้น แต่เป็นเครื่องมือที่สามารถนำมาซึ่งการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากจน ดังเช่น Aquila โดรนพลังงานแสงอาทิตย์ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดย Facebook เพื่อส่งสัญญาณและเพิ่มโอกาสการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในพื้นที่เข้าถึงยาก กำลังได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ให้มีน้ำหนักเบาและใช้พลังงานน้อยเพียง 5,000 วัตต์ หรือเท่ากับไดร์เป่าผมเพียง 3 เครื่องเท่านั้น และการพัฒนาด้านต่างๆ อาทิ เกษตรกรรม และการทำแผนที่ เป็นต้น จะเห็นได้ว่า เมื่อโดรนเป็นอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มการเติบโตและขยายตัวอย่างรวดเร็ว ความต้องการกำลังคนที่มีความสามารถในการผลิต พัฒนาและซ่อมแซมโดรนจึงเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก การอาชีวศึกษาจำเป็นต้องเรียนรู้และพัฒนาให้ทันต่อการเจริญเติบโตของเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วฉับพลันนี้ เพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าว ซึ่งการนำโดรนมาใช้ประโยชน์ในการศึกษาระดับอาชีวศึกษานั้น นักเรียนจะได้รับการพัฒนาทั้งทักษะที่เป็นเทคนิคเฉพาะของวิศวกรรมอากาศยาน และทักษะในศตวรรษที่ 21 ไปพร้อมกัน



การอุดมศึกษา
             แม้ปัจจุบัน ความต้องการกำลังคนที่สามารถบังคับโดรนสำหรับการใช้งานในอุตสาหกรรมต่างๆ กำลังเป็นที่ต้องการอย่างมาก แต่การพัฒนาด้านการวิจัยด้านวิศวกรรมอากาศยานไร้คนขับ    (Unmanned Aerial Vehicles: UAVs) และการควบคุมอัตโนมัติ (Automation) มีความก้าวหน้าไม่แพ้กัน และอัตราเร็วของการพัฒนาอาจจะล้ำหน้าเกินกว่าความต้องการนักบินโดรนภายในระยะเวลาใกล้ๆ นี้ ซึ่งสัมพันธ์กับการขยายตัวของ Drone Economy ที่การเติบโตของธุรกิจโดรนเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่เข้าสู่ยุคโทรศัพท์เคลื่อนที่และแอพลิเคชั่น ความก้าวหน้าด้านซอฟแวร์คือตัวแปรสำคัญ ธุรกิจโดรนจึงมีแนวโน้มของเคลื่อนย้ายการลงทุนจากฮาร์ดแวร์ไปสู่ซอฟแวร์และการบริการเพิ่มมากขึ้น การพัฒนาซอฟแวร์ที่สามารถสั่งการควบคุมอัตโนมัติ อำนวยความสะดวกแก่การทำธุรกิจและเพิ่มประสิทธิภาพของโดรนในการทำงานได้ด้วยค่าใช้จ่ายที่น้อยลง
             นอกจากนี้ การลงทุนด้านซอฟแวร์เป็นการส่งเสริมการวิจัยและขยายขอบเขตการใช้งานโดรนในหลากหลายอุตสาหกรรมมากขึ้น เช่น การติดเรดาร์สำหรับการวัดความชื้นในดิน การเก็บข้อมูลพายุ เพื่อประโยชน์ด้านการพยากรณ์อากาศ เกษตรกรรมและส่งเสริมการเป็น Smart Farming ตามนโยบายประเทศไทย 4.0 การอุดมศึกษาจึงต้องปรับตัวให้ทันต่อความก้าวหน้าของเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีหุ่นยนต์และการควบคุมอัตโนมัติ (Robot and Automation) เพื่อรองรับความต้องการของอุตสาหกรรมดังกล่าวที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว อีกทั้งผลิตและพัฒนานักวิจัยและบุคลากรเฉพาะด้าน ตลอดจนทำหน้าที่เป็นสะพานที่สามารถเชื่อมโยงงานวิจัยกับความต้องการของชุมชน สามารถนำไปพัฒนานวัตกรรมที่สามารถแก้ปัญหาของชุมชนและพัฒนาประเทศได้
             จะเห็นได้ว่า โดรนเป็นหนึ่งเครื่องมือสำคัญสำหรับการเรียนรู้และพัฒนาคนให้มีทักษะที่เหมาะสมต่อความต้องการในอนาคต ทั้งในด้านความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และการเติบโตทางธุรกิจและอุตสาหกรรมขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและสังคม อย่างไรก็ดี แม้การนำโดรนมาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพัฒนาการเรียนรู้ในแต่ละระดับการศึกษามีความน่าสนใจ แต่การเรียนรู้เป็นพลวัตเช่นเดียวกับเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การเลือกใช้สื่อการเรียนรู้ โดรน หรือเทคโนโลยีอื่น ที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนจึงมีความสำคัญมากกว่าตัวเทคโนโลยีเอง ดังนั้น ครูผู้สอนจึงมีความสำคัญกว่าโดรน เพราะครูเป็นผู้เลือกเครื่องมือสื่อการเรียนรู้และสอนหลักความรู้พื้นฐาน (Basic Knowledge) เพื่อให้ผู้เรียนสามารถใช้ประโยชน์จากโดรน เชื่อมโยงองค์ความรู้แบบสหวิทยาการ และสร้างสรรค์ประโยชน์ในด้านต่างๆ ต่อไปได้


รายการอ้างอิง
1) Harvard Business Review (HBR). 2017. Drones Go To Work. The Big Idea. Retrieved from https://hbr.org/cover-story/2017/05/drones-go-to-work. Accessed on 4 July 2017.
2) ____________. 2016. Companies Are Turning Drones into a Competitive advantage. Information & Technology. Retrieved from https://hbr.org/2016/06/companies-are-turning-drones-into-a-competitive-advantage. Accessed on 4 July 2017.
3) ____________. 2013. The Booming Business of Drones. Innovation. Retrieved from https://hbr.org/2013/01/the-booming-business-of-drones. Accessed on 4 July 2017.
4) World Economic Forum (WEF). Robots and Drones: Automation on the Rise. Digital Transformation. Retrieved from http://reports.weforum.org/digital-transformation/robots-and-drones-automation-on-the-rise/. Accessed on 4 July 2017.
5) ____________. 2017. These Drones Can Plant 100,000 Trees a Day. Retrieved from https://www.weforum.org/agenda/2017/06/drones-plant-100000-trees-a-day/. Accessed on 4 July 2017.

ผู้เขียน
1) ดร.จอมหทยาสนิท พงษ์เสฐียร สำนักนโยบายและแผนการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
2) ดร.อนุชิต สุขเจริญพงษ์ สำนักวิศวกรรมและฟื้นฟูพื้นที่ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด