สกศ. เปิดเวทีอภิปราย ระดมไอเดีย “สนับสนุนทรัพยากรเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา”

image

วันที่ 24 เมษายน 2568 รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานเปิดการประชุม การสนับสนุนทรัพยากรเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยมี นางอำภา พรหมวาทย์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนการศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ ศ.ดร.ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ นายพงศ์ทัศ วนิชานันท์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ดร.สุพัณณดา เลาหชัย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ดร.ไกรยส ภัทราวาท กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา นายสุกิจ อุทินทุ ดร.รังสรรค์ มณีเล็ก นางสาวกิ่งกาญจน์ เมฆา ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา พร้อมด้วย นักวิชาการ ผู้แทนจากสถาบันอุดมศึกษา องค์กรเอกชน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องด้านการศึกษา ร่วมประชุม ณ โรงแรมเดอะบาซาร์ แบงค็อก กรุงเทพมหานคร

รศ.ดร.ประวิต กล่าวเปิดงานและนำเสนอภาพรวมการลงทุนด้านการศึกษาและประเด็นท้าทาย โดย สกศ. ได้เล็งเห็นถึงการพัฒนาการลงทุนทางการศึกษาเป็นโจทย์ที่สำคัญมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะ 3 ประเด็นหลัก คือ การยกระดับพัฒนาศักยภาพมนุษย์ (Manpower System) การจัดสรรทรัพยากร (Financial System) และการมีระบบตรวจสอบ (Accountability System) สู่การเสนอ White Paper ภายใต้แนวคิดการพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital) ให้เป็นฟันเฟืองสำคัญของการพัฒนาประเทศ รวมถึงบริบทการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อการศึกษาไทย การเข้าสู่สังคมสูงวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรทำให้จำนวนนักเรียนลดลง การศึกษาจึงจำเป็นต้องปรับให้ยืดหยุ่น เน้นทักษะในการทำงาน ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อสร้างรากฐานที่ดี

ที่ประชุมรับฟังผลการศึกษา “การลงทุนและค่าใช้จ่ายทางการศึกษา” และร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น “ลงทุนการศึกษาอย่างไรให้คุ้มค่า เพิ่มโอกาส เพิ่มคุณภาพ” จากต้นทุนสู่ผลลัพธ์ในมุมเศรษฐศาสตร์ การศึกษาเป็นการลงทุนไม่ใช่รายจ่าย โดยทักษะ ความรู้ความสามารถของบุคคลเปรียบเสมือน “ทุน” (Capital) ที่สามารถสะสมและพัฒนาได้ผ่านการศึกษา การฝึกอบรมหรือประสบการณ์ทำงาน เพื่อผลิตภาพแรงงาน และรายได้ในอนาคต กรณีประเทศไทยจากการวิจัยพบว่า ยิ่งเรียนสูงขึ้นส่งผลให้รายได้ยิ่งเพิ่มขึ้น รวมถึงสังคมก็ได้ผลตอบแทน (Social Return) ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สาธารณสุข ดังนั้นต้องลงทุนอย่างมีกลยุทธ์ การจัดสรรงบประมาณตามความจำเป็นอาจช่วยให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น โดยแนวทางที่น่าสนใจเช่น โรงเรียนมีอิสระในการใช้เงินตามความต้องการของผู้เรียน การเน้นพิเศษกับกลุ่มเปราะบาง ในอนาคตที่จำนวนนักเรียนลดลงจะเป็นโอกาสลงทุนเชิงลึกที่สร้างคุณภาพในด้านการพัฒนาทักษะแรงงานในยุค AI ควบคู่กับการดูข้อมูลผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน ซึ่งโจทย์ปฏิรูปที่ท้าทาย คือ เน้นโครงการที่มีความคุ้มค่าและทำได้จริง ปรับสูตรจัดสรรให้มีความเสมอภาคมากขึ้น การตั้งเป้าหมายลงทุน และวางระบบวัดผลที่เน้นผลลัพธ์มากกว่าปริมาณ

จากนั้นร่วมกันเสวนาและเปิดเวทีอภิปรายสาธารณะ “มุมมองใหม่ในการสนับสนุนทรัพยากรทางการศึกษา” ภายใต้การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ในปี 2583 จำนวนประชากรวัยเรียนลดลงเหลือเพียง 12.8% ของประชากรทั้งหมด การลงทุนและการจัดสรรทรัพยากรในกลุ่มเด็กอาจนำไปสู่เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด รวมถึงการพัฒนาเด็กปฐมวัย วัยเรียน และอุดมศึกษา โดยปรับปรุงระบบที่เน้นการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนเป็นสำคัญ เป็นธรรม อยู่บนหลักความเสมอภาคในแนวดิ่ง (Additional Needs) ด้วยการอุดหนุนเพิ่มเติมตามความจำเป็นในพื้นที่ลักษณะพิเศษ และแนวนอน (Basic Needs) ที่เป็นการอุดหนุนขั้นพื้นฐาน ตลอดจนการกระจายอำนาจไปสู่สถานศึกษา การเพิ่มความยืดหยุ่น และการเพิ่มบทบาทของภาคเอกชน ทั้งนี้ ข้อมูลจากการประชุมจะเป็นประโยชน์ต่อการวิเคราะห์แนวทางสนับสนุนทรัพยากรที่เชื่อมโยงกับการเพิ่มคุณภาพการศึกษาสอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงในอนาคต

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด