สกศ. ผนึกกำลัง ศธจ. ทั่วประเทศ ขับเคลื่อนงานเด็กปฐมวัย สู่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระดับจังหวัด

วันที่ 22 – 23 เมษายน 2568 รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานเปิดการประชุมจัดทำฐานข้อมูลเด็กปฐมวัยสำหรับกำหนดกรอบการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในระดับจังหวัด โดยมี นายธฤติ ประสานสอน รองเลขาธิการสภาการศึกษา ผศ.ดร.วุฒิพงษ์ ชินศรี ผู้ทรงคุณวุฒิ ดร.ทินสิริ ศิริโพธิ์ และ นางนภัทร พิศาลบุตร องค์การยูนิเซฟประเทศไทย พร้อมด้วย ศึกษาธิการจังหวัด 76 จังหวัด ศึกษานิเทศก์ ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการศึกษา ร่วมประชุม ณ โรงแรมเบสท์ เวสเทิร์น จตุจักร กรุงเทพมหานคร
วันที่ 22 เมษายน 2568 รศ.ดร.ประวิต กล่าวเปิดงานและบรรยาย “แนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านเด็กปฐมวัยระดับจังหวัด” ปัจจุบันไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยมีอัตราการเกิดของเด็กที่ลดลง การมีแนวทางพัฒนาเด็กอย่างมีคุณภาพจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุดต่อการสร้างรากฐานของชีวิต จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะศึกษาธิการจังหวัดที่มีบทบาทเป็น Key Person นำให้เกิดการปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน ตลอดจนการมีระบบ Tracking System เชื่อมโยงกับฐานข้อมูลของหน่วยงานต่าง ๆ จะช่วยให้สามารถติดตามและพัฒนาการเด็กรายบุคคล ครอบคลุมมิติด้านข้อมูลสุขภาพ การรับวัคซีน พัฒนาการ รวมถึงด้านการศึกษา ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการภายใต้การกำกับดูแลของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. ให้ความสำคัญกับ งานปฐมวัยด้วยนโยบาย “3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม” ซึ่งสกศ. จะขับเคลื่อนการศึกษาไทยโดยใช้องค์ความรู้และเครือข่ายร่วมมือพัฒนาคุณภาพของเด็กไทย หากสามารถผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าในแต่ละจังหวัด จะเป็นส่วนช่วยสำคัญที่ทำให้เกิดการขับเคลื่อนภาพใหญ่ต่อไป
นายธฤติ กล่าวถึง การพัฒนาเด็กปฐมวัยเป็นช่วงเวลาที่สำคัญต่อการเติบโตอย่างมีคุณภาพ โดยมี พ.ร.บ. การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 แผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2564 – 2570 มาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ รวมถึงข้อเสนอเชิงนโยบาย 3เร่ง 3ลด 3เพิ่ม ซึ่งทุกหน่วยงานสามารถนำไปเป็นแนวทางดำเนินงานให้เด็กปฐมวัยมีพัฒนาการที่ดีรอบด้านทั้ง ร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคมและสติปัญญาสมวัย จากนั้นรับฟังประเด็น “การพัฒนาเด็กปฐมวัย จุดเปลี่ยนประเทศไทย: ความสำคัญและสถานการณ์เด็กปฐมวัย” ซึ่งองค์การยูนิเซฟได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดทำ กรอบการดูแลเด็กอย่างเอาใจใส่ (Nurturing Care Framework) เพื่อให้เด็กปฐมวัยเติบโตอย่างมีคุณภาพ 5 ด้าน คือ การมีสุขภาพดี การมีโภชนาการที่เพียงพอ การคุ้มครองและความปลอดภัย โอกาสเข้าถึงการเรียนรู้ การดูแลตอบสนองอย่างใส่ใจต่อความต้องการและความรู้สึกของเด็ก โดยหวังให้ทุกภาคส่วนมองเห็นภาพเดียวกัน ตลอดจนเสนอแนวทางดำเนินการที่น่าสนใจคือ 1) ส่งเสริมให้ครอบครัวมีทักษะการอบรมเลี้ยงดูเด็ก ทั้งในโรงพยาบาล ชุมชน และสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ด้วยโปรแกรมส่งเสริมการอบรมเลี้ยงดูเด็ก (Parenting Program) 2) ปกป้องเด็กจากผลกระทบของความยากจน ช่วยเหลือครอบครัวเปราะบางให้เข้าถึงสิทธิ 3) จัดบริการดูแลเด็กต่ำกว่า 3 ปีที่มีคุณภาพ และ 4) การพัฒนาคุณภาพการศึกษาปฐมวัย
ช่วงบ่ายมีการแบ่งกลุ่มเวิร์กชอปการใช้งาน LINE OA และ Web Application เพื่อจัดทำฐานข้อมูลเด็กปฐมวัย และ การร่วมออกแบบอนาคตสมัชชาการศึกษาจังหวัด: สานพลังความร่วมมือพัฒนา “คน” ตั้งแต่ปฐมวัยให้เรียนรู้ได้ตลอดชีวิต โดยใช้แนวทางการทำงาน “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” มุ่งสร้าง “การศึกษาเท่าเทียม” ผ่านเครือข่ายการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และต่อยอดการพัฒนาคุณภาพการศึกษาทุกระดับให้ทันสมัยได้มาตรฐานสากล ภายใต้แนวคิด “ปฏิวัติการศึกษา แก้ปัญหาประเทศ” มุ่งเน้นให้ทุกภาคส่วนร่วมพัฒนาการศึกษาให้สอดคล้องกับบริบทพื้นที่แบบ Bottom Up ซึ่งผู้แทนจังหวัดต่าง ๆ ร่วมแชร์กลไกแก้ปัญหาเชิงพื้นที่ประเด็น เด็กหลุดจากระบบ ความเหลื่อมล้ำ ระบบนิเวศการเรียนรู้ การขาดฐานข้อมูล Learn to Earn และเมืองแห่งการเรียนรู้ แล้วร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างพื้นที่ เพื่อเฟ้นแนวทางปรับปรุงการดำเนินงานในพื้นที่ให้เข้มแข็ง เกิดการส่งต่อความรู้ ตัวแบบที่จะถ่ายทอดไปยังพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป
วันที่ 23 เมษายน 2568 ที่ประชุมร่วมเสวนา “การขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านเด็กปฐมวัยในระดับจังหวัด” โดย ผศ.ดร.วิยดา เหล่มตระกูล มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง นางกฤษณา เสมหิรัญ ศธจ.ขอนแก่น นายนิกร อินทะจักร อปท.แม่ฮ่องสอน มีการยกตัวอย่าง Best Practice คือ จ.ขอนแก่น จ.แม่ฮ่องสอน รวมถึง จ.ลำปาง ซึ่งปัจจัยความสำเร็จร่วมกัน ได้แก่ การสร้างเครือข่าย ระบบฐานข้อมูล การเห็นความสำคัญจากทุกภาคส่วน การมีแผนพัฒนาศักยภาพครู ศึกษานิเทศก์ และผู้บริหาร เป็นต้น โดยลำปางได้บูรณาการความร่วมมือหน่วยงานในพื้นที่แก่ปัญหาผ่านสมัชชาการศึกษานครลำปางเป็นหน่วยเชื่อมประสาน การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น คือ ครูได้รับการพัฒนาศักยภาพ ศูนย์เด็กเล็กพัฒนาตามมาตรฐาน และนวัตกรรมที่สอดคล้องกับบริบทผ่านหลักสูตรอบรมผู้ปกครอง ชุดการเรียนรู้สำหรับเด็ก ระบบการบริหารจัดการที่เอื้อให้ครูดูแลเด็กนอกเวลาราชการ ควบคู่ไปกับกลไกระดับตำบลที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดสรรงบประมาณสนับสนุนทำให้เด็กปฐมวัยในจังหวัดได้รับการดูแลช่วยเหลือให้มีพัฒนาการสมวัย แต่ก็พบความท้าทาย เช่น การส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการ การเสริมพลังกลไกในชุมชน การคัดเลือกสมาชิกทำงาน การเปลี่ยนแปลงการมอบหมายงานที่อาจทำให้ขาดความต่อเนื่อง เป็นต้น
จากนั้นร่วมเสวนา “การสนับสนุนการพัฒนาด้านเด็กปฐมวัยในระดับจังหวัด” โดย นางสาวณัฐยา บุญภักดี สสส. นางสาวพิมพร สุรกิตติดำรง กสศ. นางชลิดา ยุตราวรรณ์ สถ. ได้เน้นถึงสุขภาวะของเด็กและเยาวชน มีความสุข พัฒนาการที่สมวัย ทักษะในโลกยุคพลิกผัน ความรอบรู้ทางสุขภาพ การมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายในการพัฒนาสังคม รวมถึงการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระดับปฐมมวัย และรับฟังกลไกการศึกษาที่ยืดหยุ่นสำหรับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทุกช่วงวัยในระดับจังหวัด ซึ่งได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้แทนสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเกี่ยวกับความก้าวหน้า ปัญหาอุปสรรค และข้อจำกัดบางประการเพื่อนำไปพัฒนาการขับเคลื่อนงานต่อไป

