สภาการศึกษาเปิดเวทีระดมสมอง เน้นพัฒนา “พหุปัญญา” เด็กไทยในยุคดิจิทัล

วันที่ 21 เมษายน 2568 รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานการประชุมทางวิชาการเรื่อง การจัดการศึกษาที่มุ่งเน้นการพัฒนาพหุปัญญาที่หลากหลายของผู้เรียนในยุคดิจิทัล โดยมี นายวิชญ์พิพล ติวะตันสกุล ที่ปรึกษานโยบายและแผนงาน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ดร.โชติมา หนูพริก รองผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษารักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาหลักสูตรและการเรียนรู้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายภาณุวัฒน์ ฉายะบรรจงเลิศ Business Lead at SCB 10X ผศ.ดร.สุธาวัลย์ หาญขจรสุข อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ดร.นิภาพร กุลสมบูรณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาองค์กรและแผนงาน วชิราวุธวิทยาลัย พร้อมด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหาร และผู้แทนหน่วยงานการศึกษาที่เกี่ยวข้อง ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ณ ห้องประชุมบุษบงกช เอ โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพมหานคร
รศ.ดร.ประวิต กล่าวว่า สกศ. เล็งเห็นว่าแนวคิด "พหุปัญญา" มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการจัดการศึกษาในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและสังคมอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามสัดส่วนนักเรียนที่มีความสามารถสูงของไทยยังต่ำเมื่อเทียบกับ OECD และการส่งเสริมพหุปัญญาที่หลากหลายยังไม่เป็นระบบและต่อเนื่องเท่าที่ควร ประเด็นสำคัญในการพลิกโฉมการศึกษาคือการนำองค์ความรู้ของทุนมนุษย์ที่มีคลังปัญญาเป็นตัวขับเคลื่อนประเทศ โดยแนวทางหลักในการพัฒนาผู้เรียนที่มีพหุปัญญาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่สำคัญ ได้แก่ การปรับปรุงระบบการศึกษาให้ยืดหยุ่นและตอบสนองศักยภาพที่หลากหลายของผู้เรียน การพัฒนาระบบฐานข้อมูลและการติดตามผู้มีความสามารถพิเศษ การพัฒนาครูให้เข้าใจเรื่องพหุปัญญา และการส่งเสริมระบบจับคู่งานระหว่างเด็กที่มีศักยภาพสูงและสถานประกอบการ ซึ่งการประชุมวันนี้หวังให้ทุกภาคส่วนร่วมหาแนวทางในการพัฒนากลไกการส่งเสริมผู้เรียนตามพหุปัญญาให้มีความครอบคลุม เป็นระบบ และยั่งยืน อันจะนำไปสู่การวางแผนและจัดทำนโยบายการศึกษาของประเทศต่อไป
นายวิชญ์พิพล กล่าวว่า ทิศทางการพัฒนาพหุปัญญาภายใต้แผน 3 ระดับ เป้าหมายสำคัญคือการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ โดยเน้นการพัฒนาและส่งเสริมพหุปัญญาอย่างเป็นระบบ ในสถานการณ์การพัฒนาพหุปัญญาในประเทศไทยมีการปรับเปลี่ยนระบบการเรียนรู้สำหรับศตวรรษที่ 21 โดยเน้นกระบวนการเรียนรู้แบบสหวิทยาการ และกิจกรรมเสริมทักษะ อย่างไรก็ตาม ผลการประเมินระดับนานาชาติ เช่น PISA สะท้อนว่าทักษะพื้นฐานของคนไทยยังต่ำกว่ามาตรฐาน ในบริบทความเปลี่ยนแปลงที่ควรให้ความสำคัญคือการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ประชากร และเศรษฐกิจ ทำให้ส่งผลกระทบต่อตลาดงาน การยกระดับการสํารวจ ติดตามประเมินผลให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน การบูรณาการข้อมูล และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ เป็นข้อเสนอแนะในประเด็นความท้าทาย และได้เสนอการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและการส่งเสริมการเรียนรู้ตามภูมิสังคมอีกด้วย
ช่วงเสวนาหัวข้อ “ความท้าทายและแนวคิดในการพัฒนาพหุปัญญาที่หลากหลายของผู้เรียนในยุคดิจิทัล” ดร.โชติมา กล่าวว่าปัจจุบันสพฐ. ได้ปรับหลักสูตรการเรียนรู้ตามความถนัดของผู้เรียนมากยิ่งขึ้น โดยการส่งเสริมเรื่องกระบวนการคิด วิเคราะห์ ค้นหาแพลตฟอร์มต่าง ๆ ด้วยตนเอง เน้นการเรียนรู้รายบุคคล เรียนรู้นอกห้องเรียน แต่ก็มีข้อต้องพึงระวังในด้านโอกาสการเข้าถึงของเทคโนโลยีที่ยังไม่ทั่วถึง ความพร้อมและศักยภาพของครูในด้านการพัฒนาพหุปัญญา ด้านผศ.ดร.สุธาวัลย์ ในฐานะหน่วยงานในระดับอุดมศึกษา กล่าวว่า ทางสถาบันได้เน้นผลิตครูจากการ Upskill Reskill ที่หลากหลาย มองในมุมมองของอนาคต เช่น เสริมสร้างทักษะในตัวบุคคลในหลาย ๆ ด้าน จากความแตกต่างที่แสดงออกในรูปแบบนวัตกรรมใหม่ ๆ ขณะที่นายภานุวัฒน์ ในฐานะภาคเอกชน กล่าวว่า หน่วยงานของตนได้คัดเลือกบุคคลซึ่งเป็นผลผลิตของด้านการศึกษาเข้ามาในภาคอุตสาหกรรม มองถึงทักษะความเชี่ยวชาญพิเศษซึ่งเป็นโอกาสที่ดีในภาคธุรกิจ ได้พัฒนาบุคคลควบคู่กับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อต่อยอดศักยภาพขององค์กร ซึ่งพหุปัญญาเป็นโอกาสในการสร้างศักยภาพมนุษย์ที่สามารถตอบโจทย์ได้ในตลาดแรงงาน นอกจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเสนอแนะเพิ่มเติมในประเด็นที่เกี่ยวข้อง โดยข้อมูลที่ได้รับในวันนี้จะถูกนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการติดตามผลการดำเนินงานส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนต่อไป

