สกศ. เปิดเวทีขับเคลื่อนทิศทางการวิจัยทางการศึกษาไทย ต่อยอดพัฒนาสู่ระดับสากล

image

วันที่ 31 มีนาคม 2568 รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานการประชุมเสวนาวิชาการ เรื่อง ทิศทางการวิจัยทางการศึกษาของชาติ : ข้อเสนอเชิงนโยบายสู่การปฏิบัติ โดยมี นางอำภา พรหมวาทย์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนการศึกษา ดร.ภูมิพัทธ เรืองแหล่ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา พร้อมด้วย ดร.รุ่งนภา จิตรโรจนรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านวิจัยและประเมินผลการศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหาร นักวิชาการ และผู้แทนหน่วยงานด้านการศึกษาที่เกี่ยวข้อง ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร สกศ.

รศ.ดร.ประวิต กล่าวว่า การดำเนินงานภายใต้กรอบนโยบาย “สภาการศึกษาเป็นคลังปัญญาขับเคลื่อนการศึกษาประเทศด้วยองค์ความรู้” และนโยบายของรัฐบาล เพื่อให้หน่วยงานที่เป็นหลักในการวิจัยร่วมขับเคลื่อนการวิจัยทางการศึกษาของชาติ ทำให้งานวิจัยเป็นเครื่องมือที่ช่วยออกแบบนโยบายที่มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ความต้องการของสังคมได้อย่างแท้จริง ความท้าทายที่ต้องเผชิญไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีหรือโครงสร้างประชากร ส่งผลต่อโจทย์วิจัยทางการศึกษา ประเด็นสำคัญทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดกลไกการขับเคลื่อนการวิจัยการศึกษาอย่างเป็นระบบ องค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยสามารถนำไปใช้ประโยชน์และสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบในวงกว้างได้จริง รวมทั้งแนวทางการเชื่อมโยงหน่วยงานทุนวิจัยอย่างเป็นระบบและยั่งยืน สร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง พัฒนาศักยภาพของนักวิจัย มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันโดยใช้แพลตฟอร์มกลางเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างนักวิจัยและผู้กำหนดนโยบายได้ใช้เป็นพื้นที่การเรียนรู้ มีการจัดตั้งแพลตฟอร์มเพื่อเผยแพร่งานวิจัยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

ดร.รุ่งนภา กล่าวว่า กรอบทิศทางการวิจัยทางการศึกษาของชาติ พ.ศ. 2568-2570 มีกรอบวิจัย 4 ด้าน ได้แก่ 1.การวิจัยเพื่อพัฒนาแนวคิด ระบบ โครงสร้างรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ 2.การวิจัยเพื่อกำหนดระบบการผลิตและพัฒนาทักษะกำลังคนยกระดับภาพรวมของประเทศ 3.การวิจัยเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพระบบบริหารจัดการศึกษาเพิ่มขีดความสามารถในระดับนานาชาติ 4.การวิจัยเพื่อสร้างระบบนิเวศทางการศึกษานำไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ประเด็นที่มีความสำคัญสูงสุดคือ การพัฒนาทักษะที่จำเป็น (Re-skills/Up-skills) และเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ 

ที่ประชุมรับฟังอภิปราย แนวทางการส่งเสริมความร่วมมือในการจัดทำงานวิจัยให้สอดคล้องกับทิศทางการวิจัยทางการศึกษาของชาติ และการให้ทุนวิจัยทางการศึกษาอย่างเป็นระบบ โดย รศ.ดร.มารุต พัฒผล มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นางสาวสตตกมล เกียรติพานิช สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ดร.ศุภธิดา ศิริวงศ์ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ผศ.ดร.วิวัฒน์ เพชรศรี สภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย โดยการจัดสรรทุนวิจัยของ วช. มีการสนับสนุนทุนเพื่อพัฒนานักวิจัย นวัตกรรมทางสังคม ขับเคลื่อนโรงเรียนต้นแบบในการนำโปรแกรมส่งเสริมทักษะการยับยั้งชั่งใจเพื่อพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม จัดทำคู่มือโปรแกรมสำหรับการจัดชุมนุมในโรงเรียน เพื่อขยายผลสู่โรงเรียนในสังกัด สพฐ. 

ด้าน สกสว. ขับเคลื่อนงานวิจัยการศึกษาเพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่ New Economy เพื่อเป้าหมายการจัดการศึกษาในภูมิทัศน์ใหม่ด้วยการขับเคลื่อนเทคโนโลยี ความรู้ นวัตกรรม พัฒนากำลังคน และงานวิจัยในระบบ ข้อเสนอการขับเคลื่อนคือให้มีการส่งเสริมยกระดับสนับสนุนมหาวิทยาลัย ภาคธุรกิจ ทำงานร่วมกันตั้งแต่ต้นน้ำ ให้มีทุนสนับสนุน และมีระบบ Sanbox ให้ทดลองนโยบายและเทคโนโลยีใหม่ได้จริง รวมถึงการบูรณาการระหว่างเศรษฐกิจ เทคโนโลยี วัฒนธรรมและการศึกษา ในขณะที่สภาคณบดีฯ จะนำเรื่องพัฒนาผลิตกำลังคนในระดับบัณฑิตศึกษาที่มีคุณภาพเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในสาขาที่ขาดแคลน 

สำหรับการหารือ แนวทางการจัดตั้งและพัฒนาเครือข่ายการวิจัยด้านการศึกษาของไทย มีการดำเนินการเพื่อจัดตั้งเครือข่ายวิจัยด้านการศึกษาไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกใน WERA หรือ สมาคมการวิจัยด้านการศึกษาโลก (World Education Research Association) โดยมีกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) ร่วมกับ สกศ. ดำเนินการสำรวจและพิจารณาแนวทางการจัดตั้งเครือข่ายการวิจัยด้านการศึกษาร่วมกัน และจะแนะนำ WERA ในงาน ThaiCER 2025 ที่สกศ. กำหนดจัดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2568 นี้ เพื่อขยายผลเครือข่ายงานวิจัยในระดับนานาชาติต่อไป

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด