ศธ. ลงพื้นที่ติดตามการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ร่วมสะท้อนผลลัพธ์ PISA และ Zero Dropout
วันที่ 24 มกราคม 2568 พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นำทีมคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการลงพื้นที่จังหวัดพัทลุงตรวจเยี่ยมสถานศึกษาและติดตามการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย (ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา) โดยมีพระศรีธรรมประสาธน์ เจ้าคณะจังหวัดพัทลุง นายรัฐศาสตร์ ชิดชู ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง พร้อมด้วยบุคคลากรในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ร่วมให้การต้อนรับ ณ วิทยาลัยเทคนิคพัทลุง ในส่วนของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมลงพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในครั้งนี้ด้วย
จากการร่วมรับฟังผลการดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาของหน่วยงานทางการศึกษากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ได้แก่ การยกระดับคุณภาพการศึกษาตามแนวทางการประเมิน PISA การพาน้องกลับมาเรียนแก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษา (Zero Dropout) การรับมือและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ รวมถึงโครงการอาชีวะพี่ช่วยน้อง ซี่งหน่วยงานในพื้นที่ได้มีการประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในการบริหารจัดการการศึกษาเป็นอย่างดี โดยตรงกับความคาดหวังของพลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. ที่ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาในสังกัดและนอกสังกัดกระทรวงศึกษาธิการร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล แก้ไขปัญหาและออกแบบแนวทางการจัดการการศึกษาให้ตรงตามบริบทพื้นที่ พร้อมสนับสนุนการทำงานซึ่งกันและกันเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากที่สุด
รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ ได้ร่วมหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับบุคลากรจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพัทลุงเขต 1-2 และ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาพัทลุง ดังนี้
1) การขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพการศึกษาตามแนวทางการประเมิน PISA สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ดำเนินการใช้ชุดฝึกทักษะพัฒนาความฉลาดรู้โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้เรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 และ 3 โดยให้ผู้สอนจัดทำแผนการเรียนเพื่อนำไปใช้ในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ พร้อมทั้งให้รายงานการเข้าใช้งานให้สำนักงานเขตพื้นที่ทราบ รวมถึงเตรียมความพร้อมการสอบ PISA โดยสำรวจความพร้อมของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เพื่อให้สถานศึกษาสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งผลจากการดำเนินงานพบว่าผู้เรียนเกิดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และ การดำเนินการ
2) พาน้องกลับมาเรียนแก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษา (Zero Dropout) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ รวมถึงนำข้อมูลจากระบบ OBEC ZERO DROPOUT เพื่อติดตามเด็กที่หลุดจากระบบ จากผลการขับเคลื่อนพบว่าสามารถนำผู้เรียนกลับข้าสู่ระบบการศึกษาได้ อาจมีบางส่วนที่ยังไม่สามารถกลับเข้าสู่ระบบได้โดยสำนักงานเขตพื้นที่ยังคงดำเนินการติดตามผลรายบุคคลเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาและนำกลับเข้าสู่ระบบต่อไป