รมว.เพิ่มพูนเร่งหารือการยกระดับคุณภาพการศึกษา โดยใช้องค์ความรู้จาก PISA

เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2568 พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมหารือยกระดับคุณภาพการศึกษาโดยใช้องค์ความรู้จาก PISA ครั้งที่ 3-1/2568 โดยมี ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนายวีระพงษ์ อู๋เจริญ ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ ชั้น 2 อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ
ที่ประชุมเห็นชอบตามที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษานำเสนอผลการวิเคราะห์องค์ความรู้เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียน ในข้อเสนอมาตรการสำคัญเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียน ดังนี้
1) Early Warning การพัฒนาการศึกษาให้ได้ผล จำเป็นต้องอาศัยข้อมูลผลการประเมินในระดับที่ต่ำกว่ามัธยมศึกษา เพื่อเป็นให้ทราบจุดอ่อนตั้งแต่เนิ่น ๆ และสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที สอดรับกับผลการทดสอบ PISA ซึ่งอาจจะเป็นการทดสอบ O- NET หรือการทดสอบอื่น ๆ ในระดับนานาชาติ พัฒนากระบวนการประเมินผลในห้องเรียนตั้งแต่ระดับปฐมวัยและระดับประถมศึกษา ฝึกอบรมครูและผู้บริหารสถานศึกษาเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจ และสามารถวิเคราะห์ผลการประเมินมาปรับปรุงการเรียนการสอนได้ อีกทั้ง เน้นกระบวนการสื่อสารให้ผู้ปกครองเข้าใจเพื่อดูแลเอาใจใส่นักเรียนเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการวางแผนและปรับปรุงระบบการศึกษา
2) National Standard Test การทดสอบมาตรฐานระดับชาติเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการวางแผนทางการศึกษา การพัฒนามาตรวัดมาตรฐานการศึกษาของประเทศ การทดสอบให้เป็นที่ยอมรับในระดับชาติ และนานาชาติ ในการยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศ โดยการนำผล O-NET รายบุคล ป. 6 และ ม.3 เป็นฐานในการพัฒนาผู้เรียนในรูปแบบ Active Learning เพื่อดูแลติดตามพัฒนาการของผู้เรียนรายบุคคล
3) National Education Database ประเทศไทยต้องมีระบบฐานข้อมูลทางการศึกษาที่เชื่อมโยงข้อมูลในทุกมิติ ตั้งแต่ปฐมวัยถึงอุดมศึกษา จึงควรเร่งการสร้างระบบฐานข้อมูลทางการศึกษาให้ประสบความสำเร็จโดยเร็ว มีมาตรการการสร้างคลังข้อสอบในทุกระดับ เพื่อให้เด็กและครูสามารถเข้าไปทำข้อสอบได้ทุกที่ทุกเวลา สามารถนำผลไปวิเคราะห์จุดเด่นและจุดด้อย อีกทั้งควรเตรียมครูให้สามารถออกข้อสอบแนวคิดวิเคราะห์ได้

