ศธ. ร่วมเอกชน ชูวิสัยทัศน์การศึกษาตอบโจทย์ตลาดแรงงาน ดันนโยบายการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ

image

วันที่ 16 ธันวาคม 2567 พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมเรื่อง การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ (Executive Forum for Fostering Excellence in Education) โดยมีผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารภาคเอกชน ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย นักวิชาการ ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ณ ห้องประชุมราชา 1 โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพมหานคร


พลตำรวจเอกเพิ่มพูน กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการศึกษาของประเทศไทย เพื่อคนไทยมีความรู้ ทักษะ เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับนานาชาติ ซึ่งความก้าวหน้าในการพัฒนาการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” คือ การมีความสุขในการเรียน การทำงาน และให้เด็ก เยาวชน มีความฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่สามารถ เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา Anywhere Anytime โดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาจากทุกภาคส่วนเป็นอย่างดี ซึ่งการยกระดับและคุณภาพทางการศึกษานั้น ต้องให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมยกระดับการพัฒนา โดยการร่วมตัดสินใจ ออกแบบการพัฒนาการศึกษาแบบ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมออกแบบระบบการจัดการศึกษา นำไปสู่การยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศโดยการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ทัดเทียมกับนานาชาติได้

รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวถึงความสำเร็จในการปฏิรูปการศึกษา ที่มีประสบการณ์จากนานาชาติ ให้ทันสมัยและทันต่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการพัฒนาการศึกษานั้น กระทรวงศึกษาธิการ เน้นการพัฒนาครู นักเรียน โดยการนำการวิเคราะห์เชิงระบบ PA ซึ่งมี 4 ปัจจัยความสำเร็จ คือ 1. Back to school การกลับไปเริ่มต้นที่โรงเรียน 2. Focus on classroom มุ่งการเรียนรู้ของเด็กในห้องเรียน  3. Teacher as a key success ครูคือกุญแจความสำเร็จ 4. School as learning organization ทำโรงเรียนให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ ซึ่งความสำเร็จที่ผ่านมาสามารถสร้างความเชื่อมั่นกับภาคเอกชนได้ว่า ในการบริหารงานของกระทรวงศึกษาธิการ มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาการศึกษาอย่างต่อเนื่อง และ สกศ.ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทในการจัดทำนโยบายและแผนการศึกษา จำเป็นต้องมีข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน แม่นยำ และทันสมัย ทันต่อเหตุการณ์ เพื่อการจัดการศึกษาสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล วันนี้เป็นกระบวนการสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ภาคเอกชนเกี่ยวกับการจัดการศึกษาที่ตอบสนองต่อความต้องการของภาคเอกชน และรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกในทุกมิติ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาการจัดการศึกษาในรูปแบบ PPP (Public Private Partnership) ให้เอกชนและสถานประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจวางแผนการศึกษา ร่วมพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางการศึกษา ยกระดับผลการจัดอันดับของ IMD (International Institute for Management Development) ให้การศึกษาของประเทศไทยไปสู่ระดับสากล 

สำหรับมุมมองและวิสัยทัศน์ของผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่ นายสุเทพ แก่นสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และนายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวถึง การจัดการศึกษาที่เหมาะสมกับบริบทและยึดยุทธศาสตร์จังหวัดเป็นฐานสำคัญ ขับเคลื่อนการจัดการศึกษาที่เป็นหนึ่งเดียวโดยเน้นองค์ความรู้เชื่อมโยงกับมาตรฐานการศึกษา ทักษะวิชาชีพ และการจัดการสอนที่เพิ่มสมรรถนะในการทำงาน การผลิตกำลังคนที่บูรณาการหลักสูตรการศึกษาร่วมกับภาคเอกชน สนับสนุนความสามารถของผู้เรียนในการสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบสนองตลาดแรงงาน สอดคล้องกับเสียงสะท้อนในทุกมิติของทุกภาคส่วน และดำเนินการตามนโยบายเพื่อความเป็นเลิศในทางการศึกษา

ในส่วนของมุมมองและวิสัยทัศน์ผู้บริหารภาคเอกชน ได้แก่ คุณปรัชญา สมะลาภา รองประธานหอการค้าไทย คุณถาวร ชลัษเฐียร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และคุณกิตติยา โตธนะเกษม ผู้อำนวยการสถาบันธนาคารไทย มองว่า การศึกษาสะท้อนถึงสถานการณ์ปัจจุบันทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปโดยไม่มีความสัมพันธ์กัน ปัจจุบันเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่มากมาย ทำให้ภาคเอกชนต้องการคนที่มีทักษะที่หลากหลาย ไม่เพียงแต่การเรียนรู้แบบ STEM คือ การบูรณาการความรู้ระหว่าง 4 สาขาวิชา ซึ่งได้แก่ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์เท่านั้น ภาคธุรกิจ นักการศึกษา และภาคประชาสังคมต้องร่วมมือกันเพื่อสร้างความมั่นใจว่าแรงงานแห่งอนาคตจะมีทักษะพร้อมสำหรับการแข่งขันและเติบโตในเศรษฐกิจดิจิทัล เพราะอัตราการว่างงานและความไม่แน่นอนของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้การปรับทักษะเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องดำเนินการเพืิ่อปกป้องแรงงานและความล้มแล้วลุกเร็วของเศรษฐกิจในโลกอนาคต

สกศ.จะนำข้อคิดเห็นจากการเสวนาในวันนี้ไปประกอบการจัดทำแนวนโยบายการจัดการศึกษาของประเทศไทยให้มีคุณภาพและเหมาะสมต่อไป

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด