บอร์ดสภาการศึกษา ถกนัดสุดท้ายปี 67 ส่งเสริมการวิจัย เพิ่มสมรรถนะผู้เรียน ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
วันที่ 13 ธันวาคม 2567 พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมสภาการศึกษา ครั้งที่ 4/2567 โดยมีกรรมการสภาการศึกษา และรศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา กรรมการและเลขานุการ ร่วมประชุมรูปแบบผสมผสานออนไลน์และออนกราวด์ ณ ห้องกำแหง พลางกูร อาคาร 56 ปี สกศ.
ที่ประชุมพิจารณาเห็นชอบเรื่องสำคัญ 6 เรื่อง ดังนี้
1. ทิศทางการวิจัยทางการศึกษาของชาติ มุ่งส่งเสริมให้มีการวิจัยการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 4 ด้าน ได้แก่ 1) การวิจัยเพื่อพัฒนาแนวคิด ระบบ โครงสร้าง และการจัดการศึกษาที่รองรับ และตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ 2) การวิจัยเพื่อกำหนดระบบการผลิตและพัฒนาทักษะกำลังคน ผู้เรียน และบุคลากรทางการศึกษาที่มุ่งสู่การยกระดับผลิตภาพโดยรวมของประเทศ 3) การวิจัยเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพระบบบริหารจัดการการศึกษาที่มุ่งสู่การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันทางการศึกษาในระดับนานาชาติ และ4) การวิจัยเพื่อสร้างระบบนิเวศทางการศึกษาที่สนับสนุนให้เกิดการศึกษาที่มีคุณภาพปราศจากความเลื่อมล้ำและนำไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต เสนอรมว.ศธ. และคณะรัฐมนตรีเพื่อประกาศใช้ต่อไป
2. แผนปฏิบัติการด้านการยกระดับความสามารถทางการแข่งขันทางการศึกษาของประเทศไทยให้มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล ที่มีเป้าหมายเพื่อให้ประเทศไทยมีความสามารถทางการแข่งขันทางการศึกษาเทียบเท่ามาตรฐานสากลและผู้เรียนมีทักษะ สมรรถนะเทียบเท่ามาตรฐานสากล ภายใต้ 2 ตัวชี้วัดสำคัญคือ ภายในปี 2570 ผลการจัดอันดับ IMD ด้านการศึกษาอยู่ในอันดับที่ 40 และร้อยละของนักเรียนที่มีสมรรถนะจากการประเมิน PISA ไม่ถึงระดับพื้นฐานของทั้ง 3 วิชา ในแต่ละกลุ่มโรงเรียนลดลงร้อยละ 8 และเสนอรมว.ศธ. และคณะรัฐมนตรีต่อไป
3. แผนยุทธศาสตร์สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (ฉบับปรับปรุง) ภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่ “องค์กรคลังปัญญา ขับเคลื่อนการศึกษาประเทศด้วยองค์ความรู้” และเสนอสำนักงบประมาณและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
4. ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาเชิงระบบ ที่มีวิสัยทัศน์ “ลดจำนวนเด็กหลุดออกนอกระบบให้เป็นศูนย์ภายในปี 2570 ภายใต้ 3 ยุทธศาสตร์คือ 1) ค้นหาและติดตาม 2) มีมาตรการแก้ไข และ3) พัฒนากลไกสนับสนุน พร้อมจัดทำคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฯ ชุดดังกล่าว เสนอต่อ รมว.ศธ. ลงนามคำสั่งแต่งตั้งต่อไป
5. การขับเคลื่อน (ร่าง) พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. ให้ฝ่ายเลขานุการเสนอฉบับที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว เรื่องเสร็จที่ 660/2564 พร้อมข้อเสนอวิเคราะห์และข้อสังเกตต่อคณะรัฐมนตรี รวมทั้งรายงานผลการรับฟังความคิดเห็นทั้งหมดจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ประกอบกับการศึกษาร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติที่เสนอโดยภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งสามารถนำประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ไปพิจารณาในชั้นกรรมาธิการวิสามัญของรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายดำเนินการตามกระบวนการตรากฎหมายได้ทันต่อสมัยประชุมรัฐสภา
6. สรุปผลการติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาตามแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2579 ในระยะ 5 ปีแรกของแผน (พ.ศ. 2560 - 2564) มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ได้แก่ 1) ควรปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มบทบาทการทำงานในเชิงรุก 2) รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการควรจัดสรรงบประมาณประจำปีให้สถานศึกษาทุกระดับนำไปใช้ในการดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนแผนการศึกษาแห่งชาติ 3) พัฒนามาตรฐานกลางข้อมูลและระบบฐานข้อมูลกลางที่สามารถเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ 4) ควรศึกษาและทบทวนประเด็นการใช้คะแนน O-NET เป็นข้อมูลสนับสนุนการคำนวณตัวชี้วัดเป้าหมายของแผนการศึกษาแห่งชาติ เนื่องจากจำนวนผู้สอบ O-NET มีแนวโน้มลดลง เสนอ รมว.ศธ. และคณะรัฐมนตรีเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดการศึกษาไปดำเนินการ และรายงานผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัดตามแบบฟอร์มหรือแพลตฟอร์มที่สกศ. กำหนดภายในวันที่ 16 พฤษภาคมของทุกปี
ทั้งนี้บอร์ดสภาการศึกษาจะเร่งติดตามการดำเนินงานในโครงการต่าง ๆ เพื่อพัฒนาการศึกษาของชาติตามนโยบายการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ “เรียนดี มีความสุข” และของรัฐบาล “เร่งส่งเสริมผลักดันให้เกิดการพัฒนาคนไทยทุกช่วงวัยอย่างเต็มกำลังและความสามารถ” ต่อไป