สกศ. ประสานความร่วมมือ สะท้อนมุมมอง ทบทวน ปรับแผนการศึกษาแห่งชาติฯ เตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง
วันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษาเป็นประธานประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การติดตามผลการจัดการศึกษาตามแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2579 ช่วงปี พ.ศ. 2565 – 2567” โดยมี นายปรีดี ภูสีน้ำ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ นายไพศาล วุทฒิลานนท์ รองหัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ รศ.ดร.มนตรี แย้มกสิกร ที่ปรึกษาและผู้ทรงคุณวุฒิของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหาร นักเรียน กรรมการสถานศึกษา ผู้ประกอบการ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น ณ โรงแรมปรินซ์ พาเลซ กรุงเทพมหานคร
โดย รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา ได้กล่าวถึงเป้าหมายในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับทุกภาคส่วน ในครั้งนี้ว่า “สำหรับการประชุมครั้งนี้ เพื่อให้ได้ร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิด สะท้อนข้อคิดเห็น และมุมมองในการขับเคลื่อนแผนการศึกษาแห่งชาติฯ ซึ่งแผนปัจจุบันได้ใช้มาแล้วกว่า 7 ปี สภาการศึกษามีมุมมองว่าแผนที่ดีควรมีการปรับเปลี่ยนให้ทันต่อบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลง ทั้งในด้านการจัดการเรียนการสอนและการเรียนรู้ของผู้เรียน ดังนั้นเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำแผนการศึกษาแห่งชาติฯ ที่เป็นแผนแม่บทด้านการศึกษาไปใช้ จึงจำเป็นต้องได้รับการทบทวน ปรับปรุง แก้ไขให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง”
นอกจากนี้ รศ.ดร. ประวิต ได้กล่าวถึงมิติการสร้าง Methodology ที่เหมาะสม มีส่วนช่วยให้การจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติสอดรับแผนยุทธศาสตร์ชาติและแนวนโยบายการศึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ควรมีความยืดหยุ่นเพื่อปรับเปลี่ยนในบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลง ประกอบด้วย 1) Technology ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วโดยไม่สามารถคาดการณ์ทิศทางในอนาคตได้ 2) Social เมื่อสังคมเกิดการเปลี่ยนแปลง การแสดงตัวตนหรืออัตลักษณ์ผ่านสื่อเทคโนโลยีมากขึ้น 3) Politics ที่มีการเปลี่ยนแปลง ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับการบริหารราชการของรัฐบาล และ 4) Economic ในสภาวะที่เศรษฐกิจมีความผันผวนสูง โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษามีมุมมองในการขับเคลื่อนนโยบาย เพื่อออกแบบการจัดการศึกษาแบบใหม่ ได้แก่
-การบูรณาการจัดระบบการศึกษาร่วมกันของกรอบคุณวุฒิ (NQF) และ Credit Bank เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime)
-การเตรียมความพร้อมของคน ตั้งแต่ระดับปฐมวัย โดยจัดให้มีการเชื่อมโยงแผนบูรณาการการทำงานร่วมกันทุกหน่วยงาน อีกทั้งดำเนินการจัดทำแผนบูรณาการเพื่อการขับเคลื่อน พร้อมจัดทำระบบสารสนเทศระบบ Tracking System เพื่อติดตามพัฒนาการของเด็กได้ตลอด
-การจัดการระบบการศึกษาโดยเชื่อมโยงกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ
จากนั้นได้ผู้เข้าร่วมประชุมแบ่งกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น (Focus Group Discussion) ประกอบด้วย 9 กลุ่ม ดังนี้ 1) หน่วยงานส่วนกลางที่จัดการศึกษา 2) หน่วยงานส่วนภูมิภาค 3) สถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 4) สถานศึกษาอาชีวศึกษา 5) สถาบันอุดมศึกษา 6) สถานศึกษาที่จัดส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต 7) นักเรียน/นิสิตนักศึกษา 8) ผู้ปกครอง/กรรมการสถานศึกษา และ 9) ผู้ประกอบการ ผู้เข้าร่วมประชุมร่วมเสนอแนวคิด พิจารณาทบทวน เพื่อปรับปรุง แก้ไขแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2579 สำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาส่วนใหญ่ได้นำแผนการศึกษาแห่งชาติฯ มาปรับใช้กับพระราชบัญญัติและแผนการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานของตนอยู่แล้ว สำหรับด้านผู้ปกครองให้มุมมองว่าควรสนับสนุนผู้เรียนส่วนใหญ่ได้รับโอกาสในการศึกษา แต่ขาดความกระตือรือร้นในการเห็นความสำคัญของการศึกษา ส่วนผู้ประกอบการได้ให้ความคิดเห็นในมุมมองของความต้องการแรงงานว่ายังขาดแรงงานที่ตรงตามความต้องการ พร้อมทั้งโครงหลักสูตรการศึกษายังไม่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ประกอบการ
ซึ่งผลจากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมประชุมกลุ่มในวันนี้ สำนักประเมินผลการจัดการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจะนำไปสู่การจัดทำผลติดตามการจัดการศึกษาตามแผนการศึกษาแห่งชาติฯ เกี่ยวกับความเข้าใจ การมีส่วนร่วม ความพึงพอใจและผลลัพธ์ทางการศึกษาของผู้เรียน พร้อมทั้งปัจจัยความสำเร็จ ปัญหา และอุปสรรคที่ส่งผลต่อการพัฒนาการศึกษา เพื่อนำไปสู่ข้อมูลประกอบการทบทวน ปรับปรุง และแก้ไขแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2579 ให้มีประสิทธิผลในระยะต่อไป