สกศ. ร่วมหารือแนวทางพลิกโฉมการศึกษา ชูความเห็นสอดคล้องนโยบาย Learn to Earn - Life Long Learning
วันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 ดร.ภูมิพัทธ เรืองแหล่ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานในการประชุมการนำเสนอผลการศึกษาและรับฟังข้อคิดเห็นแนวทางในการพลิกโฉมการศึกษา (Transforming Education) ตามแนวคิดขององค์การสหประชาชาติ ณ ห้องประชุมพจน์ สะเพียรชัย อาคาร 2 ชั้น 5 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ควบคู่กับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Zoom) พร้อมด้วย ดร.ศศิรัศม์ วีระไวทยะ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายความร่วมมือกับต่างประเทศ ผู้บริหารสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ และข้าราชการสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาและสำนักนโยบายความร่วมมือกับต่างประเทศ
การประชุมปรึกษาหารือรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับผลการศึกษาแนวทางในการพลิกโฉมการศึกษาไทย (Transforming Education in Thailand) ตามแนวคิดขององค์การสหประชาชาติ เป็นการดำเนินงานภายหลังการศึกษาเอกสาร เก็บรวบรวมข้อมูลและการศึกษาแนวทางของประเทศที่มีแนวปฏิบัติที่ดีเพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายว่าด้วยแนวทางการพลิกโฉมการศึกษาตามแนวคิดขององค์การสหประชาชาติ
การประชุมฯ ครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ผศ. ดร.บุณฑริกา บูลภักดิ์ และ ผศ. ดร.อุบลวรรณ หงส์วิทยากร) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ดร.อำพา แก้วกำกง) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ผศ.ดร.อารีรัตน์ ภาคพิธเจริญ) และมหาวิทยาลัยสยาม (ศ. กิตตคุณ ดร.ชนิตา รักษ์พลเมือง) รวมถึงผู้บริหารของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้แก่ นางประวีณา อัสโย ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ (สมร.) นางสาวอุษา คงสาย ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนานโยบายด้านการเรียนรู้ สมร. และนายสิงหชาต ไตรจิตต์ นักวิชาการศึกษาชำนาญการ สำนักนโยบายและแผนการศึกษา ร่วมให้ความเห็นต่อ (ร่าง) ข้อเสนอเชิงนโยบายว่าด้วยการพลิกโฉมการศึกษา (Transforming Education) ของประเทศไทยตามแนวคิดขององค์การสหประชาชาติ โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปอรรัขม์ ยอดเณร และคณะ เป็นผู้ดำเนินการศึกษาวิจัยและเก็บรวบรวมข้อมูลจการศึกษาในครั้งนี้ฯ
(ร่าง) ข้อเสนอเชิงนโยบายว่าด้วยการพลิกโฉมการศึกษาฯ แนวทางตาม 5 เสาหลักการพลิกโฉมการศึกษา (Transforming Education) ตามแนวคิดของ UNESCO ได้แก่ 1. โรงเรียนที่มีความครอบคลุม เสมอภาค ปลอดภัย และสร้างเสริมสุขภาวะ (Inclusive, equitable, safe and healthy schools) 2. การเรียนรู้และทักษะสำหรับชีวิต การทำงานและการพัฒนาที่ยั่งยืน (Learning and skills for life, work and sustainable development) 3. ครู การสอน และวิชาชีพครู (Teachers, teaching and the teaching profession) 4. การเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล (Digital learning and transformation) และ 5. การจัดหาเงินทุนเพื่อการศึกษา (Financing of education)
ดร.ภูมิพัทธ เรืองแหล่ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา เห็นด้วยกับประเด็นส่วนใหญ่ใน (ร่าง) แนวทางการพลิกโฉมการศึกษาในอนาคต ซึ่งการเรียนการสอนและหลักสูตรการศึกษาของประเทศไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงให้ทันกับกระแสโลกที่มีความผันผวนสูง ซึ่ง (ร่าง) แนวทางดังกล่าวนั้นสอดคล้องกับทิศทางนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายส่งเสริมการเรียนรู้และมีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ (Learn to Earn) และการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิค (Life Long Learning) นอกจากนี้ ดร.ภูมิพัทธ เรืองแหล่ ได้ให้ข้อสังเกตว่าการพลิกโฉมการศึกษาจำเป็นต้องมีการปฏิรูปวิธีคิดและแนวทางการบริหารสถานศึกษาเพื่อให้ครูและนักเรียนได้มีปฏิสัมพันธ์และเพิ่มเวลาการเรียนรู้ รวมถึงการวางแผนบุคลากรทางการศึกษาให้สอดคล้องกับจำนวนนักเรียนเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดแก่ผู้เรียนเป็นหลัก
ผลการรับฟังความเห็นในครั้งนี้พบว่า (ร่าง) รายงานข้างต้นนั้นครอบคลุมการพลิกโฉมการศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน อย่างไรก็ตาม คณะผู้ทรงคุณวุฒิได้ให้ข้อคิดเห็นว่าควรเพิ่มในประเด็นที่เกี่ยวกับการศึกษาตลอดชีวิค (Life Long Learning) การพัฒนาทักษะเพื่อการต่อยอดเลี้ยงชีพ การเรียนเพื่อประกอบอาชีพ (Learn to earn) การพัฒนาครูมืออาชีพ (Professional Teacher) และการส่งเสริมและพัฒนาศึกษาสำหรับสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ในประเด็นข้อที่ 4. การเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล คณะผู้ทรงคุณวุฒิเล็งเห็นว่าควรมีประเด็นการศึกษาเรื่องการใช้ AI โดยมีมนุษย์เป็นศูนย์กลางและจริยธรรมในการใช้สื่อดิจิทัลเพิ่มเติมเพื่อให้ครอบคลุมการพัฒนามนุษย์อย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้ ควรมีการถอดบทเรียนจากการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ประกอบด้วยการเข้าถึงการเรียนรู้ 5 รูปแบบ (On-Site/ On-Air/ Online/ On Demand/ On Hand) มาประยุกต์