เลขาฯ ประวิต เชิญอดีตผู้บริหาร สกศ. ถกแนวทางการดำเนินงาน ร่วมวางแผนการจัดการความรู้ขององค์กร
วันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษาเป็นประธานการประชุมผู้บริหาร ครั้งที่ 2/2567 โดยได้เรียนเชิญอดีตเลขาธิการสภาการศึกษา ได้แก่ ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน ดร.กมล รอดคล้าย ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ดร.สุภัทร จำปาทอง และดร.อำนาจ วิชยานุวัติ พร้อมทั้งอดีตรองเลขาธิการสภาการศึกษาการศึกษา ได้แก่ ดร.สุทธาสินิ วัชรบูล นางจุไรรัตน์ แสงบุญนำ และดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ เข้าร่วมการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและแนวทางการดำเนินงานด้านการบริหารการจัดการความรู้ขององค์กร ณ ห้องศึกษิตสโมสร ชั้น 2 อาคาร 2 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
โดย รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา ได้กล่าวในโอกาสที่ได้พบปะกับอดีตผู้บริหาร สกศ. ในครั้งนี้ว่า “ต้องการให้ทุกท่านร่วมแลกเปลี่ยนแนวความคิด ให้คำแนะนำ และมุมมองที่มีต่อการดำเนินงานของสภาการศึกษาภายใต้การบริหารจัดการของอดีตผู้บริหาร สกศ. เพื่อนำไปสู่การพัฒนาแนวทางการดำเนินงานและกำหนดทิศทางการศึกษา ในฐานะที่ สกศ. ถือเป็นหน่วยงานด้านนโยบายการศึกษา และมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษา”
นอกจากนี้ เลขาฯ ประวิต ได้กล่าวถึงมุมมองในการยกระดับองค์ความรู้ของบุคลากรในสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาว่า บุคลากรใน สกศ. จำเป็นต้องยกระดับองค์ความรู้และศึกษามุมมองในด้านต่าง ๆ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาองค์กร ประกอบด้วย 1) มุมมองจากการบริหารการจัดการศึกษาขององค์กรภายใต้อดีตผู้บริหาร สกศ. 2) ศึกษาจากบริบทของการศึกษาที่เปลี่ยนแปลง องค์ความรู้ที่เพิ่มขึ้น และ 3) บทบาทการขับเคลื่อนการศึกษาภายในองค์กร ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และแนวนโยบายการศึกษาของรัฐมนตรีว่ากากระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่
- การขับเคลื่อนระบบ Credit Bank และ กรอบคุณวุฒิ เป็นระบบที่สอดคล้องกับ Anywhere Anytime ซึ่งเป็นแนวนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่ต้องการให้ทุกคนได้มีระดับคุณวุฒิการศึกษาเพื่อใช้ในการพัฒนากำลังคนและแรงงานในประเทศ
- พระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย การจัดทำแนวนโยบายซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนปฏิรูปประเทศ เพื่อขับเคลื่อนให้หน่วยงานและบุคลากรได้นำไปปฏิบัติ พร้อมทั้งการดำเนินการระบบ Tracking System ติดตามเด็กปฐมวัยตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งเข้ารับการศึกษา และงบบูรณาการในการร่วมขับเคลื่อนเด็กปฐมวัย
- การดำเนินการขับเคลื่อนแนวนโยบายแผนการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อมุ่งเน้นให้หน่วยงานภายนอกนำไปใช้ โดยมีสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาเป็นผู้กำกับติดตามและประเมินผล
- การปรับกระบวนการจัดการองค์ความรู้ เกี่ยวกับงานวิจัยภายในองค์กร โดยจัดทำ Research Unit เพื่อให้นักวิจัยทั้งในองค์กรและหน่วยงานภายนอก ได้ร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ พร้อมสร้าง Platform สำหรับจัดประชุมเชิงวิชาการระดับสากลเพื่อให้ประชาชนสามารถนำองค์ความรู้ไปใช้ได้
ด้านอดีตผู้บริหาร สกศ. ได้เสนอแนวความคิด และร่วมทบทวนองค์ความรู้ที่ได้ดำเนินการในประเด็นต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การกำหนดทิศทางการศึกษา โดยเน้นย้ำว่า “สภาการศึกษา” ต้องบริหารจัดการด้านต่าง ๆ ประกอบด้วย ฐานข้อมูลและองค์ความรู้จากงานวิจัย ด้านงบประมาณ การเชื่อมโยงกับเครือข่าย การกำกับติดตามและประเมินผล รวมไปถึงการผลักดันข้อเสนอเข้าสู่ฝ่ายบริหารดังนั้น ทิศทางการบริหารจัดการความรู้องค์กรสำหรับผู้บริหารระดับสูงของ สกศ. นั้นควร “ริเริ่ม” การคิดนอกกรอบจากบริบทการเปลี่ยนแปลงของโลกตลอดเวลา “จัดระบบ” โดยปรับระบบการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเป็นไปตามเป้าหมาย และ “ขับคลื่อน” การทำงานโดยประสานความร่วมมือผ่านเครือข่ายที่มี ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นโจทย์ท้าทายสำหรับองค์กรในการผลักดันการกำหนดทิศทางการศึกษาสู่การพัฒนาศักยภาพกำลังคนในประเทศต่อไป
ซึ่งผลจากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในวันนี้ จะนำไปสู่แนวทางการดำเนินการกำหนดทิศทางการศึกษา พัฒนาและบริหารจัดการความรู้องค์กร เพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงมีแนวทางปฏิบัติสำหรับบริหารจัดการองค์กรในทิศทางเดียวกัน นำพาสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาให้เป็นกำลังสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการในการขับเคลื่อนแนวนโยบายด้านการศึกษาของประเทศในอนาคต ในการนี้ผู้บริหาร ข้าราชการ และบุคลากรสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้เข้าร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการประชุมครั้งนี้ด้วย