สกศ. ขานรับนโยบายพล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ เร่งทบทวนแผนปฏิบัติการฯ มุ่งยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันมาตรฐานเทียบเท่าสากล พร้อมขับเคลื่อนกลไก สร้างสภาพแวดล้อมโลกใหม่ พลิกโฉมการศึกษาไทยสู่เวทีโลก
วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อทบทวนแผนปฏิบัติการด้านการยกระดับความสามารถทางการแข่งขันทางการศึกษาของประเทศไทยให้มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล พร้อมด้วย นายวีระพงษ์ อู๋เจริญ ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา รศ.ดร.มนตรี แย้มกสิกร ที่ปรึกษาของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา รศ.สุชาดา นันทะไชย ผศ.สุดารัตน์ สารสว่าง ผศ.วรรณวิศา สืบนุสรณ์ คล้ายจำแลง อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้บริหารการจัดการศึกษา หน่วยงานจัดการศึกษาที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กรมส่งเสริมการเรียนรู้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร ข้าราชการและบุคลากรสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร ชั้น 3 อาคาร 56 ปี สกศ.
รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดการประชุมกล่าวว่า สกศ.ในฐานะหน่วยงานด้านนโยบายด้านการจัดการศึกษาของประเทศนั้น เราจึงควรต้องกลับมาถามตัวเองว่า ทำไมค่าเป้าหมายและตัวชี้วัดการศึกษาของประเทศจึงต่ำกว่ามาตรฐานที่ประชาชนหรือสังคมคาดหวัง เราจะทำอย่างไรให้การบริหารจัดการประสบความสำเร็จ ซึ่งการมีข้อมูลพื้นฐานที่ถูกต้องนั้นจะทำให้เราไม่หลอกตัวเอง เราต้องการให้เห็นสภาพการณ์ปัจจุบันของการศึกษาไทย เราจะทำให้ดีขึ้นได้อย่างไร ร่วมกันจัดการอย่างไร และมีแนวทางการพัฒนาอย่างไร ดังนั้นพวกเราเปรียบเสมือนทีมงาน หรือ มดงานที่จะร่วมกันบริหารจัดการ การประชุมครั้งนี้จึงสำคัญอย่างยิ่ง ที่หน่วยงานการศึกษาที่เกี่ยวข้องมาร่วมสร้างแพตฟอร์มที่สามารถเกิดขึ้นได้จริง ให้เรามีข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็ว และความร่วมมือ พร้อมเดินไปด้วยกันเพื่อบรรลุเป้าหมายการศึกษาประเทศไทยสู่มาตรฐานสากลได้
รศ.ดร.ประวิต กล่าวต่อ ในหัวข้อบรรยาย เรื่อง ตัวชี้วัดนานาชาติด้านการศึกษาและแนวทางการพัฒนาสมรรถนะทางการศึกษาของประเทศไทย Thailand Education Situation in A Competitive World สำหรับ OEC MISSION การดำเนินงานของ สกศ. แบ่งเป็น 2 หัวข้อใหญ่ คือภายใต้การขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาของรัฐบาล โดยนโยายของ รมว.ศธ. เรียนดีมีความสุข การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ การศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต และภารกิจการขับเคลื่อนของ สกศ. เกี่ยวกับ Education 2030 และสิ่งที่สำคัญคือทำอย่างไรจะผลักดันรูปแบบการศึกษา ที่ตอบโจทย์ Mega trand แนวโน้มที่มีผลกระทบการศึกษา เรื่อง สังคมสูงวัย Aging Society การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ Climate Change การขยายตัวของเมือง Urbanization และ Technology Disruption และดัชนีความสามารถทางการแข่งขันในระดับนานาชาติจะสามารถบ่งบอกแนวทางในด้าน Strength & Weakness สะท้อนจุดแข็งจุดอ่อนของประเทศ Direction & Guideline สะท้อนให้เห็นถึงทิศทางและแนวทางในการพัฒนาการศึกษา Trend & Future ทิศทางและแนวโน้มเกี่ยวกับความสามารถทางการแข่งขันของโลกอนาคต และเพื่อวัดระดับความสามารถทางการแข่งขันสมรรถนะทางการศึกษาผ่านดัชนีที่สำคัญของโลกที่เกี่ยวกับการศึกษาแบบ Realtime นั้น ดัชนีที่สำคัญ ได้แก่ IMD PISA และ SDG ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญสะท้อนสภาวการณ์ทางการศึกษาของประเทศไทยในระดับนานาชาติ
จากนั้นมีการชี้แจงแนวทางในการประชุม โดยกลุ่มวิเคราะห์สภาวการณ์การศึกษา สำนักประเมินผลการจัดการศึกษา และแบ่งกลุ่มผู้เข้าร่วมประชุมเป็น 2 ห้องย่อย เพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ เป้าหมายและตัวชี้วัด ยุทธศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วย 2 เป้าหมาย คือ 1)ประเทศไทยมีความสามารถทางการแข่งขันทางการศึกษาเทียบเท่ามาตรฐานสากล 2)นักเรียนไทยมีทักษะ และสมรรถนะเทียบเท่ามาตรฐานสากล 2 ตัวชี้วัด คือ 1) ผลการจัดอันดับ IMD ด้านการศึกษาอยู่ในอันดับที่ 40 ภายในปี 2570 2)ร้อยละของนักเรียนที่มีสมรรถนะจากการประเมิน PISA ไม่ถึงระดับพื้นฐานของทั้ง 3 วิชาในแต่กลุ่มโรงเรียนลดลงร้อยละ 8 ภายในปี 2570 4 ยุทธศาสตร์การดำเนินงาน ได้แก่ 1)การส่งเสริมการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง เป็นธรรม และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาการศึกษาในระดับสากล 2)การพัฒนาทักษะที่จำเป็นตามมาตรฐานสากลเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงตามสภาวะแวดล้อมโลกใหม่ 3)การพัฒนาระบบนิเวศ ทรัพยากร และบูรณาการระบบฐานข้อมูลทางการศึกษาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันทางการศึกษาของประเทศ 4)การพัฒนาระบบบริหารจัดการการศึกษาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการศึกษาให้มีมาตรฐานในระดับสากล โดยร่วมพิจารณากิจกรรมว่ามีความสอดคล้องเหมาะสมกับแผนปฏิบัติการฯ หรือไม่ อย่างไร เช่น การสร้างความเชื่อมั่น การรับรู้ การส่งเสริมการมีส่วนร่วม ฯลฯ โดยห้องที่ 1 มี รศ.มนตรี แย้มกสิกร ที่ปรึกษาของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา รศ.สุชาดา นันทะไชย อาจารย์ประจำสาขาวิชาการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้เชี่ยวชาญประจำกลุ่ม ห้องที่ 2 มี ผศ.สุดารัตน์ สารสว่าง และ ผศ.วรรณวิศา สืบนุสรณ์ คล้ายจำแลง อาจารย์ประจำสาขาวิชาการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้เชี่ยวชาญประจำกลุ่ม สำหรับข้อเสนอแนะที่ร่วมระดมความคิดเห็นอันเป็นประโยชน์ครั้งนี้ สกศ.จะนำมาประกอบการพิจารณาทบทวนจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการยกระดับความสามารถทางการแข่งขันทางการศึกษาของประเทศให้มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล พ.ศ. 2568 – 2570 เสนอต่อคณะกรรมการสภาการศึกษาเพื่อพิจารณา เพื่อให้แผนปฏิบัติการฯ มีความสมบูรณ์ พร้อมใช้เป็นแผนในการขับเคลื่อนการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป