สกศ. x UNICEF จัดประชุมวิชาการ เส้นทางสู่ Climate – smart Education ในระบบการศึกษาไทย หวังเสริมทักษะความรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก

image

วันที่ 24 ตุลาคม 2567 รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมประชุมทางวิชาการ เรื่อง เส้นทางสู่ Climate – smart Education ในระบบการศึกษาไทย โดยมี นางอำภา พรหมวาทย์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนการศึกษา นางเซเวอรีน เลโอนาร์ดี รองผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย นายมารุต จาติเกตุ เลขาธิการมูลนิธิการศึกษาไทย ดร.รัตนา แสงบัวเผื่อน ที่ปรึกษาด้านพัฒนากระบวนการเรียนรู้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขึ้นพื้นฐาน ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้แทนหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และบุคลากรสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ณ ห้องประชุมกมลทิพย์ 3 โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพมหานคร

นางอำภา พรหมวาทย์ กล่าวต้อนรับพร้อมเปิดการประชุม กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์สภาพภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง หรือที่เรียกว่า “ภาวะโลกเดือด” ส่งผลกระทบกับกิจกรรมของมนุษย์เป็นอย่างมาก เมื่อชีวิตและสิ่งแวดล้อมของมนุษย์แยกออกจากกันไม่ได้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น เป็นหนึ่งปัจจัยที่จำเป็นต้องเปลี่ยนรูปแบบของระบบการศึกษาให้เท่าทันกับสถานการณ์ การศึกษาด้านสภาพภูมิอากาศ จะช่วยสร้างความเชื่อมโยงระหว่างผู้เรียนและปัญหาที่เกิดขึ้นจริงบนโลก ช่วยให้ผู้เรียนรู้สึกมีพลังในการสร้างการเปลี่ยนแปลง และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สกศ.เล็งเห็นความสำคัญของการขับเคลื่อนการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ต้องการให้การศึกษาเป็นตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางความคิดมุมมองโดยเพิ่มเนื้อหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าไปในหลักสูตร เพื่อให้เด็กและเยาวชนเป็นผู้ขับเคลื่อนที่สำคัญ รวมทั้งหน่วยงานทุกภาคส่วนร่วมบูรณาการความร่วมมือในการออกแบบการศึกษา เสริมสร้างพื้นฐานความเข้าใจ พร้อมรับมือและต่อสู้กับวิกฤตการณ์เปลี่ยนแปลงกับสภาพภูมิอากาศ และร่วมพัฒนาการศึกษาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ที่ประชุมร่วมรับฟังปาฐกถาพิเศษ จาก นางเซเวอรีน เลโอนาร์ดี รองผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวถึงเหตุการณ์น้ำท่วมในประเทศไทยที่เกิดขึ้นมีผลกระทบถึงทุกครัวเรือน ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวมีผลกระทบต่อนักเรียนและคุณครูเป็นจำนวนมาก จากผลกระทบนี้ ทางยูนิเซฟ เห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นผลที่ชัดเจนในด้านการศึกษา ที่ต้องปรับพฤติกรรรมและปลูกฝังผู้เรียน โดยให้โรงเรียนเป็นประตูในการส่งเสริม “การศึกษาสีเขียว” และประเทศไทยมีต้นทุนและศักยภาพพอควรที่จะก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต่อมามีการบรรยาย “กรอบแนวคิดของการวิเคราะห์ (Climate Change Landscape Analysis) ” โดยองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย และการนำเสนอใน หัวข้อ “Landscape Analysis of Climate-smart Education in Thailand: Policy Review & School-based Initiatives” จากมูลนิธิการศึกษาไทย โดย นายมารุต จาติเกตุ นางวไลทัศน์ วรกุล นายร่วมมิตร คุ้มผา ได้กล่าวถึงขั้นตอนการดำเนินงานการทำวิจัยที่เน้นกรอบนโยบาย และแผนงาน โครงการ การประสานงาน ผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยกรอบนโยบายที่ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บท แผนระดับ 3 สำหรับยุทธศาสตร์ชาติที่เกี่ยวข้องได้แก่ ด้านที่ 5 การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และด้านที่ 3 การพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ โดยเน้นในเรื่องทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 การรับมือกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง การสร้างการเรียนรู้ปลูกฝังพฤติกรรมเด็กให้ตระหนักถึงความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม และความพร้อมของภาคการศึกษาไทยต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามมิติ Climate smart Education System 

รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา ได้ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “Fact & Challenges: Education Framework to overcome Climate crisis” โดยกล่าวว่า “จะทำอย่างไรให้เด็กลุกขึ้นมาตระหนักถึงความสำคัญในสิ่งแวดล้อม” ปัจจัยความสำเร็จจริงๆ นั้น ต้องให้ครู นักเรียน มีใน 3 สิ่ง คือ การมีวินัย การตระหนักรู้ และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่ง Total Education for Climate change ต้องนำ Climate change เข้าไปในการเรียนการสอน และปลูกฝังสร้างเด็กและผู้เรียนให้มีพฤติกรรมการรักในสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ โดยผ่าน Learning to Action คือ กระบวนการที่เด็กต้องลงมือทำและปลูกฝังอยู่ในจิตสำนึก ดังนั้นผู้บริหาร ครู นักเรียน รวมถึงชุมชนต้องร่วมกันปลูกจิตสำนึกให้เด็กมีใน 3 สิ่งดังกล่าว และทาง สกศ. ในฐานะหน่วยงานนโยบายพร้อมขับเคลื่อนการศึกษาให้ก้าวข้าม Climate Education สู่ Climate smart Education ต่อไป

จากนั้น มีการเสวนา เรื่อง “โอกาสและความท้าทายในการดำเนินงานและความร่วมมือเพื่อ Climate-smart Education” จาก ดร.รัตนา แสงบัวเผื่อน ที่ปรึกษาด้านพัฒนากระบวนการเรียนรู้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขึ้นพื้นฐาน นางสาวนุชนารถ ไกรสุวรรณสาร ผู้อำนวยการกลุ่มขับเคลื่อนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นางสาวเบญจพร อินทร์งาม ผู้แทนเครือข่ายโรงเรียนปลอดภัยแห่งประเทศไทย ในการนี้ผู้เข้าประชุมได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็น วิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูล ในประเด็นดังกล่าว เป็นการเตรียมวางแผนรับมือกับวิกฤติการณ์เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และบูรณาการความร่วมมือเส้นทางสู่ Climate – smart Education ในระบบการศึกษาไทย โดยมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับด้านหลักสูตรและการปฏิบัติจริงที่อาจจะยังไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เนื่องจากภาระหน้าที่ในหน่วยงานที่เป็นผู้ปฏิบัติจริงมีมาก และความไม่พร้อมของบุคลากร สถานศึกษา และการมีส่วนร่วมในชุมชน ทั้งนี้ สกศ. จะนำข้อเสนอแนะ อันเป็นประโยชน์ไปประกอบการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาการศึกษาของชาติในยุคที่มีความผันผวนต่อสภาพภูมิอากาศ และแนวทางการขับเคลื่อนการศึกษาให้มีประสิทธิภาพเป็นรูปธรรมต่อไป

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด