สกศ. ร่วมสร้างความรู้ ความเข้าใจ แนวทางการขับเคลื่อนธนาคารหน่วยกิตของหน่วยงานสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เตรียมความพร้อมสู่การปฏิบัติ
วันที่ 24 กันยายน 2567 ดร.นิติ นาชิต รองเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานเปิดการประชุมสร้างความรู้ความเข้าใจในการขับเคลื่อนการดำเนินงานธนาคารหน่วยกิตระดับจังหวัด พร้อมด้วย นายธนู ขวัญเดช รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นางรัชนี พึ่งพาณิชย์กุล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหาร อาจารย์ ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ณ ห้องประชุมพจน์ สะเพียรชัย ชั้น 5 อาคาร 2 สกศ. ควบคู่กับการประชุมทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านโปรแกรม Cisco WebEx
ดร.นิติ นาชิต รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการร่วมบูรณาการดำเนินการขับเคลื่อนระบบธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) กับทุกหน่วยงานอย่างต่อเนื่อง โดยจัดทำประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง แนวทางการดำเนินงานธนาคารหน่วยกิตระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและการอาชีวศึกษา พ.ศ. 2567 ได้ลงประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567 ซึ่งตอบโจทย์แนวทางการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ต้องการผู้เรียนได้พัฒนาการศึกษาโดยการสะสมหน่วยการเรียนรู้ รวมถึงช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนและทำงานในเวลาเดียวกัน ทั้งนี้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาดำเนินงานขับเคลื่อนศูนย์ธนาคารหน่วยกิตระดับจังหวัดร่วมกับสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด เพื่อสร้างองค์ความรู้ ความเข้าใจ โดยมีต้นแบบจากพื้นที่นำร่อง 5 จังหวัด ได้แก่ ลำพูน เชียงใหม่ อุดรธานี ปทุมธานี และนครศรีธรรมราช สู่การถอดบทเรียนเพื่อขยายผลการดำเนินงานศูนย์ธนาคารหน่วยกิตระดับจังหวัดในทุกจังหวัดต่อไป
ต่อมา นายธนู ขวัญเดช รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบนโยบายการขับเคลื่อนการดำเนินงานธนาคารหน่วยกิตของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด โดยกล่าวถึงความสำคัญของธนาคารหน่วยกิตที่เปรียบเสมือนธนาคารเก็บออมการเรียนรู้ของผู้เรียน สู่การเปิดโอกาสให้ได้พัฒนาทักษะทั้งในและนอกห้องเรียน เพื่อสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ เตรียมพร้อมสำหรับการแข่งขันและตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรม ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่หน่วยงานส่วนกลางต้องร่วมมือกับส่วนภูมิภาค เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการกำหนดกรอบแนวทางให้มีหลักเกณฑ์การปฏิบัติในทิศทางเดียวกัน
จากนั้นผู้แทนจากหน่วยงานเกี่ยวข้องได้นำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนธนาคารหน่วยกิตระดับจังหวัดในรูปแบบการศึกษาตามที่แต่ละหน่วยงานรับผิดชอบ ดังนี้
1) แนวทางการขับเคลื่อน ของ สพฐ. หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานรูปแบบการศึกษาในระบบ หน่วยงานมีการจัดทำคู่มือแนวทางการดำเนินงานธนาคารหน่วยกิตระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานรูปแบบการศึกษาในระบบ พร้อมทั้งได้มีการให้องค์ความรู้ต่อหน่วยงานและสถานศึกษา เพื่อนำไปสู่การจัดทำแพลตฟอร์มระบบธนาคารหน่วยกิต สพฐ. ให้เชื่อมโยงกับธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ
2) แนวทางการขับเคลื่อน ของ สอศ. รูปแบบการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาระบบทวิภาคี
จัดให้มีคณะกรรมการดำเนินงานธนาคารหน่วยกิตอาชีวศึกษาระดับจังหวัด (สอจ.) และ ระดับสถาบัน เพื่อดำเนินการกำกับ ดูแล ประสานงานในระดับจังหวัด พร้อมจัดทำคู่มือและให้มีการจัดประชุมวิพากษ์ ประชาพิจารณ์ เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปในการดำเนินงานของอาชีวศึกษาทั่วประเทศ
3) แนวทางการขับเคลื่อน ของ สกร. หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานรูปแบบการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย หน่วยงานได้แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานธนาคารหน่วยกิต ให้กำกับ ดูแล ติดตาม และประเมินผล พร้อมทั้งเชื่อมโยงฐานข้อมูลระดับจังหวัดที่หน่วยงานกำกับดูแลให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์และแนวทางธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ
4) แนวทางการขับเคลื่อน ของ สช. รูปแบบการศึกษานอกระบบของโรงเรียนเอกชน ได้กำหนดบทบาทหน้าที่ของส่วนกลาง (สช.) ระดับจังหวัด (ศธจ./สชจ.) และบทบาทหน้าที่ของโรงเรียนนอกระบบที่อยู่ในกำหับดูแล ในการยื่นคำขอขึ้นทะเบียน รวมทั้งหลักเกณฑ์การวัดและประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ พร้อมจัดทำคู่มือแนวปฏิบัติเพื่อสร้างองค์ความรู้และหลักเกณฑ์ปฏิบัติในทิศทางเดียวกัน
สำหรับการขับเคลื่อนและการเตรียมความพร้อมในการดำเนินงานศูนย์ธนาคารหน่วยกิตระดับจังหวัด รองเลขาธิการสภาการศึกษาได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมในการให้หน่วยงานส่วนกลางได้นำเสนอวิธีการและแนวทางการดำเนินงานธนาคารหน่วยกิตเพื่อสร้างความเข้าใจให้หน่วยงานระดับภูมิภาคที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลได้เตรียมความพร้อมและดำเนินงานตามหลักเกณฑ์เดียวกัน พร้อมทั้งเป็นจุดเริ่มต้นเริ่มดำเนินการขับเคลื่อนสำหรับปี 2568 ประกอบด้วย 1) ดำเนินการมอบหมายหน้าที่ให้กับกลุ่มงานในโครงสร้างของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด 2) แต่งตั้งคณะกรรมการธนาคารหน่วยกิตฯระดับจังหวัด 3) สร้างองค์ความรู้ผ่านระบบ E-Learning (WWW.ONEC.GO.TH) 4) ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูล Big Data และ 5) รับรองสถาบันการศึกษาที่เข้าสู่ระบบธนาคารหน่วยกิตในระดับจังหวัด ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องอาศัยความร่วมมือของหน่วยงานทุกภาคส่วนเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับระบบธนาคารหน่วยกิตเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้และการสร้างอาชีพของผู้เรียนต่อไป