สกศ. – UNICEF เปิดเวทีเสวนาการกระจายอำนาจทางการศึกษา เพื่อการพัฒนาในยุคโลกเดือด
วันที่ 24 กันยายน 2567 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุมสภาการศึกษาเสวนา เรื่อง การกระจายอำนาจทางการศึกษาของประเทศไทยในยุคโลกเดือด และผลกระทบจาก VUCA ที่ส่งผลต่อการกระจายอำนาจทางการศึกษาในประเทศไทย โดยมี ดร.ภูมิพัทธ เรืองแหล่ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวเปิดการประชุม พร้อมด้วย นายวีระพงษ์ อู๋เจริญ ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา สกศ. เจ้าหน้าที่ด้านการศึกษาจากองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ได้แก่ Dr. Aarti Saihjee ดร.ภาวิญญ์ เถลิงศรี ดร.รังสรรค์ วิบูลย์อุปถัมภ์ และ ดร.กนต์ธีร์ นุชสุวรรณ ศ.ดร.ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย สำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ หน่วยงานที่รับผิดชอบการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้บริหารและข้าราชการ สกศ. ร่วมประชุม ณ ห้องกำแหง พลางกูร ชั้น 3 อาคาร 56 ปี สกศ.
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมมือกับองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ดำเนินงานส่งเสริมนโยบายการศึกษาที่เน้นการปรับปรุงผลลัพธ์สำหรับเด็กทุกคนในประเทศไทย โดยมีวิสัยทัศน์ร่วมกันในการดำเนินนโยบายการบริหารราชการส่วนภูมิภาคเพื่อปรับปรุงบริการสาธารณะสำหรับเด็ก ซึ่งการศึกษาถือเป็นเครื่องมือและกลไกสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ท่ามกลางโลกในยุคปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเทคโนโลยีการสื่อสารที่มีฐานของความรู้เป็นตัวนำ หากแต่ยังพบความท้าทายเกี่ยวกับการกระจายอำนาจ การรวมศูนย์ของการพัฒนา รวมถึงรูปแบบการกำกับดูแลการทำงานของภาครัฐในระดับต่าง ๆ ที่มีความซับซ้อน จึงได้เปิดเวทีวิชาการอภิปรายการกระจายอำนาจในบริบทด้านการศึกษา เพื่อให้ได้ข้อเสนอแนะมาประกอบการจัดทำแนวนโยบายการจัดการศึกษาของไทยให้เหมาะสม มีคุณภาพ เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด
ที่ประชุมร่วมรับฟังการบรรยาย “การกระจายอำนาจในระบบการศึกษาไทย แนวปฏิบัติปัจจุบัน ความท้าทาย และทิศทางการพัฒนาในอนาคต” โดย ดร.ภาวิญญ์ เถลิงศรี กล่าวถึง โครงสร้างทางกฎหมาย นโยบายและแผน สถาบันที่มีผลต่อการกระจายอำนาจทางการศึกษา ซึ่งจากสถานการณ์การถ่ายโอนสถานศึกษาไปยังองค์การบริหารการปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ด้วยกระบวนการแบบความสมัครใจ พบปัจจัยที่มีผลต่อการถ่ายโอน ได้แก่ ความไม่พร้อมของ อปท. นโยบายและระบบการถ่ายโอนจากส่วนกลาง รวมทั้งงความไม่สมัครใจของโรงเรียน โดยมีประเด็นความท้าทายสำคัญคือ ปัจจัยด้านงบประมาณของ อปท. แม้ว่าเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบสัดส่วนรายได้ของ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นพบว่าแต่ละปีมีการได้รับเงินอุดหนุนจากส่วนกลางเพิ่มขึ้น แต่ด้วยความไม่สมดุลระหว่างทรัพยากรและภารกิจของ อปท. ทำให้งบประมาณโดยรวมที่ถูกจัดสรรให้หน่วยงานต่าง ๆ ตามขอบเขตภาระหน้าที่และงบประมาณที่ลงสู่ท้องถิ่นยังมีขอบเขตที่จำกัด ดังนั้นจึงควรคำนึงถึงการพัฒนาเชิงนโยบายและเชิงโครงสร้าง ทั้งการถ่ายโอนบุคลากร การกระจายอำนาจการคลังให้ อปท. มีอิสระในการบริหารจัดการด้วยตนเอง รวมถึงการกระจายอำนาจทางการศึกษาอย่างจริงจัง
จากนั้นที่ประชุมร่วมอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับภาพรวมการกระจายอำนาจในระบบการศึกษาของประเทศไทย ตลอดจนร่วมกันเสวนา “แนวปฏิบัติและความท้าทายในปัจจุบันจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวในการให้บริการสาธารณะ” และ “รูปแบบการดำเนินการกระจายอำนาจด้านการศึกษาสู่การจัดการศึกษาสำหรับทุกคนอย่างแท้จริง” สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความท้าทายที่ต้องกลับมาให้ความสนใจกับการพัฒนาในระดับท้องถิ่น โดยมีหน่วยงานท้องถิ่นเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อน รวมถึงการพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ความเป็นอิสระตรวจสอบได้ ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง บริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม ทรัพยากรเพียงพอ โครงสร้างชัดเจน การคำนึงความพร้อมของผู้รับอำนาจ ระบบตรวจสอบ และระเบียบกฎหมาย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ ตอบโจทย์ตรงตามบริบทความต้องการของพื้นที่ต่อไป