สกศ. ระดมความเห็นแนวทางเทียบเคียงสมรรถนะภาษาอังกฤษ CEFR ให้สอดคล้องระบบ NQF ยกระดับการแข่งขันของประเทศ
วันที่ 23 กันยายน 2567 ดร.นิติ นาชิต รองเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานเปิดการประชุมเทียบเคียงระดับสมรรถนะภาษาอังกฤษกับระดับของกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ พร้อมด้วย นางรัชนี พึ่งพาณิชย์กุล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหาร อาจารย์ ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กรมส่งเสริมการเรียนรู้ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน)กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โรงเรียนศูนย์การศึกษาเทคโนโลยีและภาษาธุรกิจ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ณ ห้องประชุมบุษบงกช เอ โรงแรมรอยัลริเวอร์ เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร
ดร.นิติ นาชิต รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในการดำเนินการขับเคลื่อนงานกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ และการเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน ร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วนเพื่อนำไปสู่การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนและการฝึกอบรมให้สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพอันเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศและสากล รวมถึงความสนใจในการเชื่อมโยงการเทียบระดับสมรรถนะภาษาอังกฤษตามมาตรฐานกรอบอ้างอิงความสามารถทางภาษาของสภายุโรป (Common European Framework of Reference for Languages) หรือ CEFR กับระดับของกรอบคุณวุฒิแห่งชาติเพื่อใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐานในการเทียบเคียง โดย ดร.กาญจนา หงส์รัตน์ ผู้อำนวยการกลุ่มนโยบายกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ กล่าวว่าจากการระดมความคิดเห็นของการประชุมเพื่อเทียบเคียงสมรรถนะภาษาต่างประเทศกับระดับของกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2567 ได้แนวทางในการดำเนินการเทียบเคียง CEFR เชื่อมโยงกกับคุณวุฒิการศึกษาและมาตรฐานอาชีพก่อน แล้วจึงปรับให้สอดคล้องกับระดับของ NQF ต่อไป
ต่อมาฝ่ายเลขานุการฯ ได้แสดงผลการพัฒนากำลังตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติและการเทียบเคียงมาตรฐานสากลด้านทักษะภาษาต่างประเทศกับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ โดยจัดทำเป็นตารางเทียบเคียงระดับของ CEFR (6 ระดับ) กับ ระดับของ NQF (8 ระดับ) ซึ่งได้จัดการเทียบเคียงในลักษณะการใช้ภาษาอังกฤษโดยสอดคล้องระดับที่เชื่อมโยงกับการทำงานหรือสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับผู้เรียน ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนจากหน่วยงานที่เข้าร่วมประชุมได้ให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อฝ่ายเลขานุการฯ เกี่ยวกับการกำหนดเกณฑ์เทียบเคียงเพิ่มช่วงระดับ CEFR ให้กว้างขึ้นต่อระดับการศึกษา เพื่อง่ายต่อหน่วยปฏิบัติในการนำไปใช้เชื่อมโยงต่อการพัฒนาหลักสูตร รวมทั้งสำหรับผู้เรียนที่เรียนเฉพาะทาง อาจมีการเรียนหรือใช้ศัพท์ที่เฉพาะเจาะจง ดังนั้นควรปรับคำอธิบายคุณลักษณะการเทียบเคียงให้ชัดเจน พร้อมทั้งอาจต้องเน้นการประเมินผลทางด้านทักษะสมรรถนะ ดังนั้นสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา พร้อมนำข้อคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมประชุมไปปรับใช้เพื่อพัฒนาแนวทางในการกำหนดเกณฑ์ในการเทียบเคียงสมรรถนะภาษาอังกฤษ CEFR กับสมรรถนะของกรอบคุณวุฒิแห่งชาติต่อไป