สกศ. จัดประชุมคณะอนุฯ ด้านนโยบายและแผนการศึกษา หารือแนวทางการดำเนินงานปีงบประมาณ 2568
วันที่ 18 กันยายน 2567 สำนักนโยบายและแผนการศึกษาจัดประชุมคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านนโยบายและแผนการศึกษา ครั้งที่ 4/2567 โดยมี นายอำนาจ วิชยานุวัติ เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย ดร. นิติ นาชิต รองเลขาธิการสภาการศึกษา นางรัชนี พึ่งพาณิชย์กุล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา ในฐานะอนุกรรมการและเลขานุการ คณะอนุกรรมการฯ ผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมประชุม ณ ห้องกำแหง พลางกูร ชั้น 3 อาคาร 56 ปี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ควบคู่กับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
คณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านนโยบายและแผนการศึกษาแจ้งที่ประชุมทราบ เรื่องการสรุปผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของคณะทำงานขับเคลื่อนวาระเร่งด่วนทางการศึกษาทั้ง 4 คณะ คือ 1) คณะทำงานขับเคลื่อนระบบธนาคารหน่วยกิต 2) คณะทำงานขับเคลื่อนการจัดการศึกษาสำหรับผู้ที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ (กรณีผู้มีความสามารถพิเศษ) 3) คณะทำงานขับเคลื่อนมาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านการศึกษาด้วยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน 4) คณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาและเสริมสร้างสมรรถนะบุคลากรและระบบบริหารการศึกษาภายใต้ Digital Transformation (กรณี HRD, Database และ AI : ChatGPT) และอีกประเด็นคือ การติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2579 สู่การปฏิบัติ ระหว่างปี พ.ศ. 2565 - 2567
โดยที่ประชุมคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านนโยบายและแผนการศึกษาได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยมีประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
1) ความสามารถในการฟื้นตัวของระบบการศึกษา (Resilience) หลังเกิดวิกฤติโควิด 19 ทุกประเทศประสบปัญหาในลักษณะเดียวกัน แต่ความรวดเร็วในการฟื้นตัวและพัฒนาการศึกษากลับมีไม่เท่ากัน ซึ่งสิ่งที่แต่ละประเทศต้องการมากที่สุดในเรื่องการศึกษาอาจจะไม่ใช่งบประมาณหรือจำนวนบุคลากรที่เพิ่มมากขึ้น แต่เป็นสิ่งที่เรียกว่า Resilience หรือ ความสามารถในการฟื้นตัวของระบบการศึกษาที่จะเป็นปัจจัยทำให้การศึกษาของประเทศสามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ซึ่งประเด็นสำคัญเชิงนโยบายก็คือ จะทำอย่างไรจึงจะสร้าง Resilience ให้เกิดขึ้นกับระบบการศึกษาไทยได้
2) Green Smart Education สภาพการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อทุกส่วน รวมทั้งการจัดการศึกษา ระบบการศึกษาจึงควรเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวผ่านการสร้างคนที่มีความตระหนักในปัญหา และเป็น Climate Change Adaptation รวมทั้งหลักสูตรการศึกษาที่ควรปรับหลักสูตรแกนกลางให้มีเนื้อหาและตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศและมีการนำเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าสู่บทเรียน รวมถึงส่งเสริมหลักสูตรที่มีคุณภาพ มีสื่อการเรียนรู้ และสื่อดิจิทัลที่ช่วยเตรียมเด็กและเยาวชนเข้าสู่บทบาทในเศรษฐกิจสีเขียวในอนาคต
3) AI Ethic ในระบบการศึกษา ประเด็นสำคัญที่ควรดำเนินการควบคู่ไปกับการประยุกต์ AI ให้เกิดประโยชน์ในการจัดการศึกษา คือ การกำหนดจริยธรรมสำหรับ AI ในการศึกษา ซึ่งควรมุ่งเน้นไปที่การสร้างระบบที่ยุติธรรม โปร่งใส และให้ความสำคัญกับสิทธิและความปลอดภัยของผู้เรียน รวมไปจนถึงการป้องกันการนำ AI ไปใช้ในทางที่ก่อให้เกิดอันตรายหรือการละเมิดสิทธิ์ของบุคคล
4) การดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมาย SDG 2030 และการประเมินผลสำเร็จของ SDG ประเด็นเชิงนโยบายที่สกศ. ควรให้ความสำคัญ คือ การศึกษา วิเคราะห์หาแนวทางหรือกลไกในการขับเคลื่อน SDG4 ให้ประสบความสำเร็จ รวมทั้งการประเมินผลความสำเร็จและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาการศึกษาตามแนวทาง SDG4
5) Thailand Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน สกศ. ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าว เช่น โครงการธนาคารหน่วยกิต โครงการผลิตและพัฒนากำลังคนตามช่วงวัยการศึกษาขั้นพื้นฐานที่รองรับการพัฒนาการศึกษาของประเทศ ข้อเสนอเชิงนโยบายการพัฒนาและส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ เป็นต้น
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านนโยบายและแผนการศึกษาจะนำแนวทางการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 มาหารือและอภิปรายอย่างละเอียดในการประชุมครั้งต่อไป