สกศ. ระดมความเห็น หาแนวทางพัฒนาครู และการศึกษาไทยในยุค BANI World
วันที่ 13 กันยายน 2567 สำนักประเมินผลการจัดการศึกษา (สปศ.) จัดการประชุมระดมความคิดเห็น เรื่อง สภาวการณ์ครูกับการพัฒนาการศึกษาไทยในยุค BANI World โดยมี นายภูมิพัทธ เรืองแหล่ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานเปิดการประชุม พร้อมด้วย นางอำภา พรหมวาทย์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนการศึกษา นายวีระพงษ์ อู๋เจริญ ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา ผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้แทนหน่วยงานทางด้านการศึกษา อาทิ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา สำนักงานศึกษาธิการภาค สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด สำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร ชั้น 3 อาคาร 56 ปี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)
นายภูมิพัทธ เรืองแหล่ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวเปิดการประชุมว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและวางแผนการศึกษาของประเทศ โดยภารกิจหนึ่งที่สำคัญ นั่นก็คือการวิเคราะห์สภาวการณ์ทางการศึกษา ซึ่งสิ่งสำคัญประการหนึ่งที่สะท้อนสภาวการณ์การศึกษาของประเทศในด้านคุณภาพการศึกษานั่นก็คือ “ครู” ที่ถือได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาการศึกษา อย่างไรก็ตาม โลกได้เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุค BAIN World โดยเป็นโลกที่มีสภาวะแวดล้อมที่มีความผันผวนสูง ไม่แน่นอน มีความซับซ้อน คลุมเครือ เป็นโลกที่มีความเปราะบาง เต็มไปด้วยความกังวล การศึกษาจึงจำเป็นต้องพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะที่จำเป็นในโลกยุคใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งครูจะมีบทบาทที่สำคัญในการพัฒนาผู้เรียน ทาง สกศ. จึงได้รวบรวมข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นถึงแนวปฏิบัติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสภาวการณ์ครูในปัจจุบัน ทั้งในด้านบทบาทของครู ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการผลิตและพัฒนาครู เพื่อนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายสู่การพัฒนากระบวนการผลิตและพัฒนาครูทั้งระบบสู่การเป็นครูสมรรถนะสูงในยุค BANI World ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญต่อการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต
ในที่ประชุมได้ร่วมรับฟังการนำเสนอผลการวิเคราะห์สภาวการณ์ครูกับการพัฒนาการศึกษาไทยในยุค BANI World โดย นายวีระพงษ์ อู๋เจริญ ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา โดยมีใจความสำคัญว่า โลกในศตวรรษที่ 21 หรือโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเมื่อหลังเกิดวิกฤตโควิด 19 โลกได้เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุค BANI World ซึ่งการพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะที่จำเป็นในโลกยุคใหม่จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น นอกจากนั้นคุณภาพของครูผู้สอนก็เป็นปัจจัยที่สำคัญในการส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้ของเด็กเช่นกัน สกศ. มีภาระกิจที่สำคัญในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์สภาวการณ์การศึกษาไทยเป็นประจำทุกปี จึงเห็นว่าควรมีการวิเคราะห์สภาวการณ์ทางการศึกษา : ครูสมรรถนะสูงในยุค BANI World ขึ้น
โดยการดำเนินงานที่ผ่านมา ทาง สกศ. ได้มีการทำงานในมิติที่หลากหลาย อาทิ ประชุมรับฟังความคิดเห็น 5 ภูมิภาค คือ ภาคเหนือ (น่าน พะเยา แพร่) ภาคกลาง (พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี) ภาคใต้ (พังงา ภูเก็ต กระบี่) ภาคตะวันตก (เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์) การเข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการพัฒนาคุณภาพครูยุคใหม่ของไทย (Developing Modern Teachers) การประชุมคณะทำงานจัดทำข้อเสนอการยกเครื่องกระบวนการผลิตและพัฒนาครูทั้งระบบสู่การเป็นครูสมรรถนะสูงในยุค BANI World รวมทั้งการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลเชิงลึก ณ สถานศึกษา จำนวน 17 แห่ง ซึ่งได้ผลวิเคราะห์ออกมาว่า 1) บทบาทของครูเปลี่ยนไปจากผู้สอนเป็นไลฟ์โค้ชคอยแนะนำ หรือเปลี่ยนเป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ 2) ปัญหาที่เป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการจัดการเรียนสอนที่มีคุณภาพ คือ ครูมีภาระงานมาก ครูไม่ครบชั้น ครูสอนหลายชั้นเรียน นักเรียนเป็นกลุ่มเด็กเปราะบาง ต้องพึงพิงผู้อื่น และขาดความพร้อมในด้านอุปกรณ์และทักษะด้านเทคโนโลยี
โดยหลักสูตรการพัฒนาครูต้องมุ่งเน้นที่ผู้เรียนเป็นสำคัญ การพัฒนาครูต้องมีความเพียงพอ ต่อเนื่อง หลากหลายในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้และมีการติดตามประเมินผลการพัฒนาครูอย่างต่อเนื่อง สถาบันผลิตครูต้องมีความสามารถในการดึงคนเก่งมาเป็นครู ผลิตครูที่มีความรักและศรัทธาในวิชาชีพครู เป็นครูที่มีสมรรถนะที่จำเป็นในยุคปัจจุบัน และควรมีการวางแผนและดำเนินการให้มีการพัฒนา “ครูของครู” (Teacher Educator)
หลังจากนั้นในวงประชุมได้มีการร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเรื่องบทบาทครูในยุค BANI World ควรเป็นอย่างไร และข้อเสนอแนะที่ควรมีต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกระทรวงศึกษาธิการเพื่อพัฒนาครูให้มีสมรรถนะสูงและทำให้ครูสามารถพัฒนาผู้เรียนได้อย่างดีที่สุด โดยมีข้อเสนอในหลากหลายประเด็น อาทิ ครูต้องเป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ มีความรู้ในศาสตร์ของตัวเอง มีทักษะในการเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ ได้ดี สามารถแนะแนวเด็กได้ จัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ ครูต้องมีหน้าที่หลักคือการจัดการเรียนการสอน และดูแลนักเรียนเท่านั้น ควรลดภาระงานเอกสารของครู เพื่อให้นักเรียนได้เรียนอย่างเต็มที่และมีคุณภาพ สถาบันอุดมศึกษาต้องทำงานร่วมกันเพื่อผลิตครูที่มีความรู้ มีคุณภาพ มีความยืดหยุ่นทางความคิด มีทักษะการสื่อสารเชิงสร้างสรรค์ เติมเต็มครูทางด้านเทคโนโลยี และ Soft Skills
โดยผลจากการประชุมในวันนี้จะนำไปจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายสู่การพัฒนากระบวนการผลิตและพัฒนาครูทั้งระบบสู่การเป็นครูสมรรถนะสูงในยุค BANI World ต่อไป
ดาวน์โหลดรูปภาพเพิ่มเติมได้ที่
https://drive.google.com/drive/folders/10PWuFdgt406GQwT-MAWM9jtOhwBzSp8t?usp=drive_link