สกศ. ระดมไอเดีย มุ่งพัฒนามาตรฐานการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พร้อมยกระดับผู้เรียนสมรรถนะสูงในยุค DIGITAL

image

วันที่ 13 กันยายน 2567 ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานการประชุมสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะการพัฒนามาตรฐานการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมี ดร.นิติ นาชิต รองเลขาธิการสภาการศึกษา ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ที่ปรึกษาคณะทำงานฯ นางปัทมา วีระวานิช กรรมการสภาการศึกษา รศ.ดร.สุวิธิดา จรุงเกียรติกุล จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.ดร.มารุต พัฒผล จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ดร.ประวีณา อัสโย ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ พร้อมด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะทำงาน ผู้บริหาร บุคลากรทางการศึกษา ผู้แทนหน่วยงานการศึกษาขั้นพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง และเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ร่วมประชุม ณ ห้องปิ่นเกล้า โรงแรมเอสดี อเวนิว กรุงเทพมหานคร 


 

ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า ในโลกการศึกษาที่เปลี่ยนไป การพัฒนาผู้เรียนให้รู้จักการใช้เทคโนโลยีให้มีความถูกต้องเท่าทันกับโลกปัจจุบัน รวมถึงการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาของทุกช่วงวัย เทคโนโลยีถือเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เพราะเทคโนโลยีจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้ง่ายขึ้นในทุกที่ทุกเวลา ช่วยให้ผู้ที่ขาดโอกาส เช่น กลุ่มผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาสต่าง ๆ ที่ต้องการเรียนรู้และพัฒนาทักษะอาชีพ ได้เข้าถึงการศึกษาได้โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ดังนั้น การพัฒนามาตรฐานการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานจึงสำคัญเช่นกัน ต้องตอบโจทย์กับความต้องการกำลังคนที่มีสมรรถนะสูงในยุคดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้และการทำงานอย่างมีคุณภาพ ทั้งนี้จำเป็นต้องรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากหน่วยงานการจัดการศึกษาทุกสังกัด ร่วมให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับมาตรฐานการจัดการเรียนรู้ ซึ่งมี 3 มาตรฐานหลัก ได้แก่ มาตรฐานที่ 1 การเข้าถึงและความเสมอภาคทางเทคโนโลยีดิจิทัล มาตรฐานที่ 2 การออกแบบการเรียนรู้และนำตนเองเชิงสร้างสรรค์โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล มาตรฐานที่ 3 ระบบสนับสนุนผู้เรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา เพื่อนำมาปรับปรุง (ร่าง) มาตรฐานการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้มีความถูกต้อง ครบถ้วน และครอบคลุม ร่วมกันยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนในยุคดิจิทัลให้มีความรู้ ทักษะ ทัศนคติเป็นผู้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม การเรียนรู้ตลอดชีวิต มีสุขภาวะที่ดี ฉลาดรู้ทางดิจิทัล และเติบโตเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพนำไปสู่ความสามารถทางการแข่งขันในเวทีโลกต่อไป 


 

ที่ประชุมร่วมรับฟังการอภิปราย เรื่องการพัฒนาอาชีวศึกษาในยุคดิจิทัล โดย นางปัทมา วีระวานิช กรรมการสภาการศึกษา กล่าวถึงความจำเป็นในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการจัดการศึกษาในอาชีวศึกษา ด้านสภาพแวดล้อมการจัดการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น การจัดการศึกษาทุกช่วงวัย การทำงานของระบบธนาคารหน่วยกิต เช่นการเชื่อมโยงผลลัพธ์การเรียนรู้เพื่อเพิ่มโอกาสให้แก่ผู้เรียนทั้งในระบบและนอกระบบ และการเรียนรู้ของไมโครเครเดนเชียลที่เชื่อมโยงกับการพัฒนามาตรฐานการเรียนรู้ที่มีการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบที่ทันสมัย อภิปรายเรื่องการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โดย รศ.ดร.สุวิธิดา จรุงเกียรติกุล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงแนวคิดหลักการการจัดการศึกษาการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต คือการสร้างเสริมให้ครูเป็นนักออกแบบการเรียนรู้ ครูที่เป็นมากกว่าครู ควรสกัดความรู้ให้ผู้เรียนแบบสั้น ๆ ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีทักษะการใช้ปัญญาประดิษฐ์ให้เป็น โดยแนวทางการส่งเสริมการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลคือการนำการเรียนรู้ตลอดชีวิตมาพัฒนาให้เป็นสังคมหรือเมืองแห่งการเรียนรู้ และแนวปฏิบัติที่ดี คือการมีศูนย์การศึกษาทั่วไป เช่นระบบการเรียนรู้ออนไลน์เพื่อเพิ่มทักษะความรู้ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเอง และอภิปรายเรื่อง การเขียนตัวบ่งชี้มาตรฐานการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ โดย รศ.ดร.มารุต พัฒผล จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวถึง มาตรฐานหลักและมาตรฐานย่อยและตัวบ่งชี้ เกี่ยวกับประเภทตัวบ่งชี้ ลักษณะที่ดีของการเขียนตัวบ่งชี้ และการสังเคราะห์ตัวบ่งชี้ คือสิ่งชี้วัดสภาพการดำเนินงานหรือผลการดำเนินงานตามกระบวนการตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ต่อมา ดร.นิติ นาชิต รองเลขาธิการสภาการศึกษา ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับทักษะการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล จะทำอย่างไรให้เด็กในยุค AI เป็นเด็กที่มีคุณภาพ จะร่วมขับเคลื่อนกันอย่างไร มีวิธีการและกระบวนการแบบใด จึงต้องร่วมกันบูรณาการการมีส่วนร่วมพร้อมพัฒนาศักยภาพให้ผู้เรียน และร่วมกันสร้างมาตรฐานที่ดีให้เกิดเป็นรูปธรรม ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ที่ปรึกษาคณะทำงานฯ กล่าวแนะนำผู้ร่วมประชุมและสรุปเพิ่มเติม ถึงการดำเนินงานในกระบวนการต่าง ๆ ของการพัฒนามาตรฐานการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล 

จากนั้นที่ประชุมร่วมระดมความคิดเห็น เพื่อพัฒนา (ร่าง) มาตรฐานการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้จากผู้แทนหน่วยงานและสถานศึกษาของสังกัด กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) โดยแบ่งกลุ่ม (Focus Group) 3 กลุ่ม ตามมาตรฐานหลัก ได้แก่ กลุ่มที่ 1 การเข้าถึงและความเสมอภาคทางเทคโนโลยีดิจิทัล กลุ่มที่ 2 การออกแบบการเรียนรู้และนำตนเองเชิงสร้างสรรค์โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล กลุ่มที่ 3 ระบบสนับสนุนผู้เรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา ทั้งนี้ ข้อมูลและข้อคิดเห็นที่รวบรวมได้ สกศ. จะนำไปประกอบการจัดทำ (ร่าง) มาตรฐานการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อพัฒนามาตรฐานในการจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน มีทักษะการเรียนรู้ และทักษะที่จำเป็นของโลกศตวรรษที่ 21 โดยการยกระดับมาตรฐานการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้มีประสิทธิภาพ เพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางการศึกษาของประเทศต่อไป

ดาวน์โหลดรูปภาพเพิ่มเติมได้ที่ 
https://drive.google.com/drive/folders/1RLkij_BFpEw7G9IRMDEFOkVS-R4vSGj3?usp=drive_link

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด