สกศ. เปิดเวทีแลกเปลี่ยน ทิศทางสนับสนุนสาธารณูปโภคสถานศึกษา เร่งหาทางออก รร.ขนาดเล็ก เงินอุดหนุนรายหัวไม่พอจ่าย ค่าน้ำ-ค่าไฟ-ความจำเป็นพื้นฐาน
วันที่ 11 กันยายน 2567 ดร.นิติ นาชิต รองเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง ทิศทางการสนับสนุนสาธารณูปโภคพื้นฐานในสถานศึกษา โดยมี นางรัชนี พึ่งพาณิชย์กุล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา พร้อมด้วย ดร.ประวีณา อัสโย ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ ดร.รังสรรค์ มณีเล็ก ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหาร ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กรมส่งเสริมการเรียนรู้ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องด้านการศึกษา ครู บุคลากรทางการศึกษา คณะทำงาน และบุคลากรสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ร่วมประชุม ณ ห้องรัชโยธินแกรนด์ โรงแรม เดอะบาซาร์ แบงค็อก กรุงเทพมหานคร
ที่ประชุมร่วมรับฟัง ”ผลการศึกษาแนวทางการลดภาระค่าใช้จ่าย ด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานในสถานศึกษาของรัฐ“ โดย ดร.ปัทมา เอี่ยมละออง ผู้อำนวยการกลุ่มนโยบายการเงินการคลังและทรัพยากรทางการศึกษา สำนักนโยบายและแผนการศึกษา สกศ. ได้จัดทำข้อเสนอเพื่อปรับอัตราเงินอุดหนุนรายหัว ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 จากนั้นลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นต่อการสนับสนุนทรัพยากรทางการศึกษาในลักษณะของเงินอุดหนุนรายหัว ผลการสำรวจความคิดเห็นเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือมีข้อจำกัด เนื่องจากจัดสรรอัตราเดียวตามจำนวนผู้เรียน ยังไม่สอดคล้องกับความต้องการจำเป็นของผู้เรียนและสถานศึกษา รวมถึงช่วยลดภาระได้เพียงบางส่วนเท่านั้น สถานศึกษาส่วนใหญ่ยังคงมีภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษา ประกอบกับโรงเรียนส่วนใหญ่มีบริบทแตกต่างกัน โดยเฉพาะสถานศึกษาขนาดเล็กที่ยังขาดความพร้อมด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน ส่วนใหญ่อาศัยเงินอุดหนุนรายหัวที่ได้รับจัดสรรสำหรับจ่ายค่าไฟฟ้า ค่าประปา ค่าอินเทอร์เน็ต และค่าระบบรักษาความปลอดภัย โดยจากการศึกษาด้วยวิธีผสมผสาน กรณีศึกษาในประเทศไทยและต่างประเทศ พบประเด็นท้าทายที่สำคัญ เช่น การจัดสรรอย่างเพียงพอเป็นธรรม การบริหารจัดการ รูปแบบและวิธีการจัดสรร พร้อมด้วยประเด็นวิเคราะห์เชิงลึกในด้านของการทำสัญญากับผู้ให้บริการ มาตรการรองรับ อาทิ กฎระเบียบ แนวทางส่งเสริมการร่วมสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆ ซึ่งนำไปสู่การวิเคราะห์ทางเลือกและการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อเพิ่มโอกาสในการพัฒนาและการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ
จากนั้นที่ประชุมร่วมเสวนา ”ทิศทางการสนับสนุนสาธารณูปโภคพื้นฐานในสถานศึกษา“ และ ”ทางเลือกลดภาระค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคพื้นฐานในสถานศึกษา“ ซึ่งได้มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ความท้าทายของการเกิดของประชากรไทยมีแนวโน้มลดลงและจะส่งผลต่อจำนวนนักเรียนที่ลดลงในอนาคต รูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่เปลี่ยนไป เทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น นำไปสู่การศึกษารายละเอียดที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมในด้านความเพียงพอ ความเป็นธรรม ประสิทธิภาพ กฎระเบียบในการใช้จ่ายเงินอุดหนุน วิธีการสนับสนุน และข้อมูลของโรงเรียน ซึ่งมีตัวอย่างปัญหาคือ ค่าไฟฟ้าที่มีค่าใช้จ่ายตลอดปีแม้ว่าโรงเรียนจะปิดเทอม เนื่องจากยังมีการเข้ามาทำงานของบุคลากรรวมถึงการจัดกิจกรรมการต่างๆ สถานศึกษาส่วนใหญ่จึงแก้ปัญหาด้วยการรับการสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆ เช่น เงินบริจาค การสนับสนุนสื่อ ผ้าป่าการศึกษา เป็นต้น ดังนั้น จึงต้องเร่งพัฒนาแนวทางการสนับสนุนที่จะช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายครอบคลุมความต้องการจำเป็นของผู้เรียนและบริบทสถานศึกษา
ช่วงบ่ายที่ประชุมแบ่งกลุ่ม Focus Group ร่วมให้ความคิดเห็นต่อทิศทางการสนับสนุนเพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคในสถานศึกษา โดยแบ่งเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานในระบบและนอกระบบ ได้แก่ สังกัด สพม. สพป. สอศ. สกร. รวมถึงหน่วยงานส่วนกลางและภาคส่วนท้องถิ่น เพื่อมุ่งหวังให้ผู้เรียนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ สามารถเพิ่มโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา ตลอดจนการบริหารจัดการและให้บริการสาธารณะแก่ประชาชนตามสิทธิที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญอย่างคุ้มค่ามีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ สกศ. จะรวบรวมองค์ความรู้และความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการวิเคราะห์แนวทางลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานในสถานศึกษา การสนับสนุนจากภาครัฐและภาคส่วนต่างๆ เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์ทางเลือกและการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายที่เหมาะสมต่อไป
Download รูปภาพเพิ่มเติม https://drive.google.com/drive/folders/1L63KajKMxYBKSS1LDxzmElk3eeWsGwVk