สกศ. เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นการศึกษาขั้นพื้นฐานในระดับประถมศึกษาของสามเณร หาแนวทางร่วมที่ชัดเจนสู่การพัฒนาการศึกษาทุกช่วงวัย
วันที่ 10 กันยายน 2567 นายธฤติ ประสานสอน รองเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็นการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในระดับประถมศึกษาของสามเณร พร้อมด้วย นายสิทธา มูลหงส์ ผู้ทรงคุณวุฒิทางการศึกษาพระปริยัติธรรม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ นางสาวจารุวรรณ ภักดีดำรงฤทธิ์ นายเฉลิมชนม์ แน่นหนา ผู้ทรงคุณวุฒิ นายเนติ รัตนากร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนากฎหมายการศึกษา ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กรมส่งเสริมการเรียนรู้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร สำนักงาน สกร.ประจำกรุงเทพมหานคร และบุคลากร สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมบุษบงกช เอ โรงแรมรอยัล ริเวอร์ กรุงเทพมหานคร
นายธฤติ ประสานสอน รองเลขาธิการสภาการศึกษา ได้กล่าวว่า การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานถือเป็นเรื่องสำคัญตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ. 2545 ที่กำหนดให้เด็กทุกคนต้องได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน แม้แต่เด็กที่บรรพชาเป็นสามเณรก็ต้องได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานเช่นเดียวกับเด็กทั่วไป แต่ทั้งนี้ยังมีข้อกฎหมายของการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยสถาบันพระพุทธศาสนา ที่ยังไม่ได้มีการผนวกการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของบรรพชิตในระดับประถมเข้าไป ทั้งนี้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ซึ่งมีบทบาทภารกิจในด้านนโยบายการจัดการศึกษา และดูแลด้านการปรับปรุง แก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษา เพื่อจัดทำแนวทางการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในระดับประถมศึกษาของสามเณร อันจะนำไปสู่การปฏิบัติ สร้างความรู้ความเข้าใจในทิศทางเดียวกัน จึงต้องรับฟังและร่วมแลกเปลี่ยนสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น จากหน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้ให้ข้อมูลที่มีความละเอียด ครบถ้วนในทุก ๆ ด้าน เพื่อนำไปจัดทำแนวทางการจัดการศึกษาที่มีความชัดเจน ถูกต้อง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติในทิศทางเดียวกันเกิดการพัฒนาทางการศึกษาที่มีประสิทธิภาพต่อไป
ที่ประชุมร่วมรับฟังการจัดทำแนวทางการศึกษาขั้นพื้นฐานในระดับประถมศึกษาของสามเณร จากนายชัชวาล อัชฌากุล ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมและประเมินการบังคับใช้กฎหมายการศึกษา สกศ. ในด้านความเป็นมาของสามเณร การจัดการศึกษาให้กับสามเณรตามกฎหมาย และสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งการดำเนินการในระยะแรก มีการดำเนินการประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อหาแนวทางสำหรับการจัดการศึกษาระดับประถมศึกษาให้กับสามเณร ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายบรรพชิตและคฤหัสถ์ และจัดทำเผยแพร่แนวทางให้หน่วยงานการศึกษาที่เกี่ยวข้องได้นำไปปฏิบัติได้ถูกต้อง และสภาพปัญหาในทางปฏิบัติหลังจากการเผยแพร่ ปรากฏว่าสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีข้อหารือเกี่ยวกับแนวทางการจัดการศึกษา พร้อมข้อเสนอในด้านต่าง ๆ จึงต้องดำเนินการรับฟังความคิดเห็นที่ สพฐ.ได้นำเสนอต่อ สกศ. รวมถึงรับฟังสภาพปัญหาจากหน่วยงานการศึกษาอื่น ๆ และรับฟังการสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นจากการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในระดับประถมศึกษาของสามเณร จากนายสิทธา มูลหงส์ ผู้ทรงคุณวุฒิทางการศึกษาพระปริยัติธรรม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวถึง หลักสูตรการจัดการศึกษาบางหลักสูตรที่เป็นข้อจำกัดในการจัดการศึกษาระหว่างสงฆ์และฆราวาส นายเฉลิมชนม์ แน่นหนา นางสาวจารุวรรณ ภักดีดำรงฤทธิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิและการสะท้อนสภาพปัญหาการจัดการศึกษาของสำนักงานการศึกษาพระปริยัติธรรม จาก พระมหากิตตินนท์ กิตติวิญญู ผอ.กองบริหารงานกลางสำนักงานการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา เพื่อข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อแนวทางการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในระดับประถมศึกษาของสามเณร
จากนั้นรับฟังความคิดเห็นการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในระดับประถมศึกษาของสามเณร จากหน่วยงานที่ดูแลโรงเรียนในสังกัดการศึกษา เช่น สพฐ. สกร. สช. สกร.ประจำกรุงเทพมหานคร กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร เกี่ยวกับประเด็นข้อหารือจากทาง สพฐ.ที่ได้ให้ข้อเสนอแก่ สกศ. ใน 6 ประเด็น ได้แก่ 1.การรับสมัคร การสอบ การคัดเลือกสามเณรเข้าเรียนในโรงเรียน สังกัด สพฐ. ในเรื่องข้อเท็จจริงด้านบทบาทและแนวปฏิบัติ รวมถึงข้อกฎหมาย 2.การจัดการเรียนการสอน 3.การจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุน 4.ครูและบุคลากรทางการศึกษา 5.ค่านิตยภัต(เงินเดือนพระสงฆ์) 6.การออกหลักฐานทางการศึกษา 7.ข้อเสนออื่นๆ เช่นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นประโยชน์แก่หน่วยงานดังกล่าว ที่ต้องนำแนวทางการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในระดับประถมศึกษาของสามเณรไปปฏิบัติให้ถูกต้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้ สกศ. ในฐานะหน่วยงานทางด้านนโยบายการจัดการศึกษาจะรวบรวมข้อมูล ข้อเสนอแนะ ความคิดเห็นมาสรุปเป็นแนวทางการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในระดับประถมศึกษาของสามเณรให้ชัดเจนเป็นรูปธรรม นำไปสู่การดำเนินงานจัดการศึกษาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และสอดคล้องเหมาะสมกับพลวัตของการพัฒนาการศึกษาของประเทศต่อไป
ดาวน์โหลดรูปภาพเพิ่มเติมได้ที่
https://drive.google.com/drive/folders/168bb7aTOh2hALa8GULEtZkxdGzjMGmfm?usp=drive_link