สกศ. เดินหน้าจัดทำ Big Data อุดรธานี เทียบหลักสูตรสู่ Credit Bank แห่งชาติ
วันที่ 3 กันยายน 2567 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ร่วมกับสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดอุดรธานี จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การจัดทำ Big Data ของศูนย์ธนาคารหน่วยกิตระดับจังหวัด และการเทียบรายวิชาของหลักสูตรแต่ละระดับเข้าสู่ระบบธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ : จังหวัดอุดรธานีเป็นวันที่สอง โดยมี ดร.นิติ นาชิต รองเลขาธิการสภาการศึกษา นางอนงค์ คำแสงทอง รองศึกษาธิการจังหวัดอุดรธานี ดร.ศิริพรรณ ชุมนุม ผู้ทรงคุณวุฒิ นางรัชนี พึ่งพาณิชย์กุล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กรมส่งเสริมการเรียนรู้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดอุดรธานี หน่วยงานในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ร่วมประชุม ณ ห้องทานตะวัน โรงแรมสยามแกรนด์ จังหวัดอุดรธานี
วันนี้ในที่ประชุมได้แบ่งกลุ่มเพื่อดำเนินการเชื่อมโยงและเทียบรายวิชาของหลักสูตรแต่ละระดับของศูนย์ธนาคารหน่วยกิต ระดับจังหวัด : จังหวัดนำร่อง เข้าสู่ระบบธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ กันต่อ โดยแบ่งกลุ่มออกเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น กลุ่มที่ 2 ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ กลุ่มที่ 3 ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงและระดับอุดมศึกษา และกลุ่มที่ 4 หลักสูตรระยะสั้นและการศึกษาตลอดชีวิต ต่อด้วยการนำเสนอผลการประชุมการเชื่อมโยงและการเทียบรายวิชาของหลักสูตรแต่ละระดับของศูนย์ธนาคารหน่วยกิตระดับจังหวัดเข้าสู่ธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติของแต่ละกลุ่ม โดยมี ดร. นิติ นาชิต รองเลขาธิการสภาการศึกษา คอยให้คำปรึกษาและแนะนำแนวทาง
โดยผลการเชื่อมโยงและเทียบรายวิชาของแต่ละกลุ่มมีดังนี้ 1) ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นได้มีการนำเสนอเทียบได้แบบสมบูรณ์ในหลักสูตรภาษาอังกฤษ ฟัง พูด อ่าน เขียน สนทนา 2) ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ นำเสนอหลักสูตรที่เทียบได้แบบสมบูรณ์ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายคือหลักสูตรคณิตศาสตร์ และหลักสูตรที่เทียบได้แบบมีเงื่อนไขในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ คือ รายวิชาการขายและการตลาดเบื้องต้น 3) ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงและระดับอุดมศึกษา นำเสนอการเทียบหลักสูตรยานยนต์ไฟฟ้า และ 4) หลักสูตรระยะสั้นและการศึกษาตลอดชีวิต นำเสนอรายวิชาช่างเชื่อมโลหะเบื้องต้น และวิชาภาษาญี่ปุ่น
จากนั้น นางอนงค์ คำแสงทอง รองศึกษาธิการจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า ตนรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จังหวัดอุดรธานีได้เป็นจังหวัดนำร่องในการขับเคลื่อนศูนย์ธนาคารหน่วยกิตระดับจังหวัด ซึ่งการประชุมที่ผ่านมานี้ทำให้มองเห็นภาพรวมและเข้าใจการดำเนินงานการเชื่อมโยงและการเทียบรายวิชาของหลักสูตรแต่ละระดับของศูนย์ธนาคารหน่วยกิตระดับจังหวัดเข้าสู่ระบบธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติมากขึ้น และทางจังหวัดอุดรธานีจะสานต่อการขับเคลื่อนการดำเนินงานของศูนย์ธนาคารหน่วยกิตระดับจังหวัดต่อไป
ดร.นิติ นาชิต กล่าวปิดท้ายว่า หวังว่าการประชุมในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานของระบบธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติและการดำเนินงานศูนย์ธนาคารหน่วยกิตระดับจังหวัดในพื้นที่อุดรธานีเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีและนำไปสู่การขยายผลไปสู่จังหวัดอื่น ๆ ทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศต่อไป
ดาวน์โหลดรูปภาพเพิ่มเติมได้ที่ https://drive.google.com/drive/folders/1TnhsS4OkO12PwUUln6uyKoc6WBStA03f?usp=drive_link