สกศ. ชี้ ครูอาชีวะควรมีใบประกอบวิชาชีพ พร้อมหนุนสิทธิพิเศษผู้เชี่ยวชาญ เพิ่มแรงจูงใจพัฒนาการศึกษา
วันที่ 2 กันยายน 2567 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การจัดทำร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ....” นำโดย นายธฤติ ประสานสอน รองเลขาธิการสภาการศึกษา พร้อมด้วยข้าราชการและบุคลากรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สถาบันการอาชีวศึกษา กรุงเทพมหานคร ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสิปปนนท์ ชั้น 2 อาคาร 2 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)
สำหรับการประชุมครั้งนี้ที่ประชุมมุ่งหารือ ประเด็น “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา” ซึ่งเกี่ยวข้องกับกฎหมายการศึกษาและการควบคุมวิชาชีพครู เนื่องจากร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ได้มีการกล่าวถึงข้อกำหนดการมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพว่า “มาตรา 39 ครูซึ่งจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายมาตรา 8 (2) (3) (4) (5) และ (6) (ข) ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู เว้นแต่เป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและจัดกระบวนการเรียนรู้วิชาหนึ่งวิชาใดเป็นการเฉพาะตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด” จึงเป็นข้อสังเกตต่อการดำเนินงานด้านมาตรฐานและจรรยาบรรณของวิชาชีพ ที่ประชุมจึงร่วมกันหารือในประเด็นดังกล่าวเพื่อหาแนวทางการปฏิบัติที่เหมาะสมและสอดคล้องกับข้อกฎหมาย
ที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันว่า ครู/ผู้สอนการอาชีวศึกษา “จำเป็นต้องมีใบประกอบวิชาชีพ” เพื่อความมั่นใจว่าการดำเนินงานทางการศึกษาจะเป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาชีพและจรรยาบรรณ โดยอาจมีข้อยกเว้นในกรณีของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านซึ่งไม่ส่งผลต่อมาตรฐานอาชีพ ตลอดจนเกิดแนวคิดว่าอาจมีการพิจารณาสิทธิประโยชน์แก่ผู้เชี่ยวชาญที่จะมาเป็นครูฝึกในสถานประกอบการเพื่อสร้างแรงจูงใจในการจัดการเรียนรู้ และอาจมีการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูเพิ่มขึ้นอีกรูปแบบหนึ่ง โดยมุ่งเน้นไปที่ประสบการณ์สามารถนำไปสู่การพัฒนาวิชาชีพด้านการอาชีวศึกษาต่อไป