“เพิ่มพูน” แชร์วิชั่นดัน “คนไทย 4.0” ขับเคลื่อนมาตรฐานการศึกษาชาติสู่การปฏิบัติ
วันที่ 28 สิงหาคม 2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายการขับเคลื่อนมาตรฐานการศึกษาของชาติสู่การปฏิบัติในงานสัมมนาวิชาการ “การขับเคลื่อนมาตรฐานการศึกษาของชาติสู่การปฏิบัติ เพื่อสร้างคนไทย 4.0” โดยมี ดร. สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดร. อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา นายธฤติ ประสานสอน รองเลขาธิการสภาการศึกษา นางอำภา พรหมวาทย์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนการศึกษา พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร ครู บุคลากรทางการศึกษา และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดการศึกษา เข้าร่วม ณ ห้องอัมรินทร์ ฮอลล์ ชั้น 3 โรงแรมเอส ดี อเวนิว เขตบางพลัด กรุงเทพฯ ควบคู่กับการถ่ายทอดสดผ่าน Facebook และ YouTube : สภาการศึกษา
ดร. อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวเปิดงานและ Exclusive Talk เรื่อง ชี้ทิศ คิดร่วมกัน สร้างสรรค์คนไทย 4.0 : DOE Thailand ว่า การขับเคลื่อนมาตรฐานการศึกษาของชาติสู่การปฏิบัติ ถือเป็นการทำงานขับเคลื่อนการศึกษาที่เชื่อมโยงกับมาตรฐานการศึกษาของชาติที่นำไปสู่การจัดการศึกษาของชาติที่ผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ อันเป็นคุณลักษณะของผู้เรียนที่ประกอบด้วย คุณธรรม ทักษะ และความรู้ที่จำเป็นบนฐานค่านิยมร่วม สู่กรอบผลลัพธ์ที่พึ่งประสงค์ของการศึกษา 3 ด้าน ได้แก่ 1) ผู้เรียนรู้ 2) ผู้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม และ 3) พลเมืองที่เข้มแข็ง บนฐานคุณธรรมและค่านิยมร่วมของสังคม สร้าง “คนไทย 4.0” ที่มีคุณธรรม 5 ประการ คือ ซื่อสัตย์สุจริต พอเพียง มีวินัย รับผิดชอบ และมีจิตสาธารณะ ซึ่งเป็นการวางรากฐานสำคัญของการพัฒนาการศึกษาของชาติ เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีประสิทธิภาพนำไปสู่การสร้างคนไทยที่มีคุณลักษณะที่พึ่งประสงค์ตามมาตรฐานการศึกษาของชาติ พ.ศ. 2561
ในการนี้ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบนโยบายการขับเคลื่อนมาตรฐานการศึกษาของชาติสู่การปฏิบัติ สำหรับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการนั้น มีแนวคิดในการจัดการศึกษา คือ การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต โดยแบ่งเป็น 2 เรื่องหลัก คือ นโยบายที่เน้นหนักในการทำงาน และนโยบายที่ต้องเร่งดำเนินการ ซึ่งมีความสอดคล้องกับการขับเคลื่อนมาตรฐานการศึกษาของชาติสู่การปฏิบัติ ดังนี้
1) การเป็นผู้เรียนรู้ เป็นผู้มีความเพียร ใฝ่เรียนรู้ และมีทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อก้าวทันโลก ยุคดิจิทัลและโลกในอนาคต และมีสมรรถนะ สอดคล้องกับการดำเนินนโยบาย 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ การขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA การจัดทำระบบวัดผลเทียบระดับการศึกษา และประเมินผลการศึกษาเพื่อให้ผู้เรียนที่มีความสามารถเป็นเลิศ ไม่ต้องเสียเวลาเรียนในระบบ ประหยัดเวลาและประหยัดค่าใช้จ่าย
2) การส่งเสริมความเป็นผู้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม เป็นผู้มีทักษะทางปัญญา ทักษะศตวรรษที่ 21 สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาระบบการศึกษา “เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา” (Anywhere Anytime) และการจัดทำแพลตฟอร์มการเรียนรู้ การจัดทำระบบวัดผลรับรองมาตรฐานวิชาชีพ (Skill Certificate) ผู้เรียนสามารถเรียนเพิ่มเพื่อรับประกาศนียบัตรในการประกอบอาชีพ ด้วยการนำหน่วยกิตที่สะสมมาใช้เทียบคุณวุฒิ รับรองมาตรฐานวิชาชีพ ตลอดจนเปิดโอกาสให้มีรายได้ระหว่างเรียน ควบคู่กับการทำงานไปพร้อมกัน (Learn to Earn)
และ 3) พลเมืองที่เข้มแข็ง เป็นผู้มีความรักชาติ รักท้องถิ่น รู้ถูกผิด มีจิตสำนึกเป็นพลเมืองไทยและพลโลก มีจิตอาสา มีอุดมการณ์และมีส่วนร่วมในการพัฒนาชาติ อย่างที่ผมเคยกล่าวไว้เสมอ “ทำดี ทำได้ ทำทันที” และกระทรวงศึกษาธิการได้ลงนาม MOU “การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทย สร้างจิตสำนึกความเป็นไทย” ระหว่าง 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม และพัฒนาระบบการแนะแนวการเรียน (Coaching) และเป้าหมายชีวิตให้เป็นรูปธรรม
ดร.สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “กระทรวงศึกษาธิการกับการพัฒนากำลังคนตามมาตรฐานการศึกษาของชาติสู่คนไทย 4.0” ถึงการพัฒนากำลังคนตามมาตรฐานการศึกษาของชาติสู่คนไทย 4.0 ว่าถือเป็นภารกิจสำคัญที่กระทรวงศึกษาต้องดำเนินการขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้เป็นผู้ที่มีความสมบูรณ์พร้อมทั้งกายและใจ มุ่งบรรลุวิสัยทัศน์ของประเทศ และวิสัยทัศน์กระทรวงศึกษาธิการว่า "ภายในปี 2570 ผู้เรียนทุกช่วงวัยได้พัฒนาเต็มตามศักยภาพ มีคุณธรรม จริยธรรม มีทักษะที่จำเป็น พร้อมเรียนรู้ตลอดชีวิตและปรับตัวสอดคล้องกับวิถีชีวิตโลกยุคใหม่" โดยกระทรวงศึกษาธิการส่งเสริมและกำกับดูแลการศึกษาทุกระดับ ทุกประเภท สนับสนุนทรัพยากรเพื่อการศึกษา ตลอดจนมุ่งสร้างโอกาสการเรียนรู้ตลอดชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ผลิตและพัฒนากำลังคนที่มีคุณภาพตามความต้องการของตลาดแรงงานทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งไม่เพียงแต่การพัฒนาในมิติของผู้เรียนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่จะเป็นกำลังหลักในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติในอนาคต
ภายในงานช่วงเช้ามีการเสวนาวิชาการ เรื่อง “DOE Thailand How to สู่การปฏิบัติ” และการเสวนาวิชาการ เรื่อง “การประเมินผลการขับเคลื่อนมาตรฐานการศึกษาของชาติ เพื่อสร้างคนไทย 4.0” จากนั้น ในช่วงบ่ายมีนิทรรศการวิชาการของหน่วยงานด้านการศึกษา 9 สังกัด ได้แก่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร (สนศ.กทม.) กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (บช.ตชด.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รวมทั้งมีการเสวนาวิชาการ เรื่อง “การพัฒนาผู้เรียนให้มีความฉลาดรู้ เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย 4.0” โดยผู้แทนจากหน่วยงานด้านการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมกันเป็นกำลังสำคัญที่จะยกระดับคุณภาพการศึกษา เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีประสิทธิภาพเป็น "คนไทย 4.0" ที่มีคุณภาพ สามารถพัฒนาตนเอง สังคม ประเทศชาติ และเป็นพลเมืองโลกที่สมบูรณ์ในอนาคต
สามารถดาวน์โหลดรูปภาพเพิ่มเติมได้ที่
https://drive.google.com/drive/folders/16J0-00o6KN_ei252ns_JZl646cIw7blm?usp=drive_link