สกศ. เปิดเวทีระดมความคิดเห็น ปรับร่างพ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ สู่ทิศทางการปฏิบัติร่วมกัน

image

วันที่ 27 สิงหาคม 2567 นายธฤติ ประสานสอน รองเลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การจัดทำร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... โดยมี  ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์ ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นประธาน พร้อมด้วยนายเนติ รัตนากร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนากฎหมายการศึกษา อาจารย์ ข้าราชการและผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา กรมส่งเสริมการเรียนรู้ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ และกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมระดมความคิดเห็น ณ ห้องประชุมสิปปนนท์ เกตุทัต อาคาร 2 ชั้น 2 สกศ. 

ธฤติ ประสานสอน รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวถึงความสำคัญของการระดมความคิดเห็นครั้งนี้ว่าสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในการจัดทำกฎหมายว่าด้วยการศึกษาเเห่งชาติโดยพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งได้บังคับใช้เป็นระยะเวลากว่า 20 ปี จึงจำเป็นต้องมีการประเมินการบังคับใช้กฎหมาย สู่การจัดทำ ปรับปรุง แก้ไข ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และแนวโน้มของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อนำมาใช้กำหนดนโยบายเกี่ยวกับการศึกษาและปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษาอย่างแท้จริง

ต่อมาฝ่ายเลขานุการฯ ได้กล่าวถึง 3 ประเด็นหลักในการจัดระดมความคิดเห็น เพื่อทบทวนร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ประกอบด้วย
1) เป้าหมาย/หลักการของการจัดการศึกษา ตามรัฐธรรมนูญกำหนดเป้าหมายการศึกษาต่อผู้เรียน 5 ประเด็น ได้แก่ เป็นคนดี  มีวินัย ภูมิใจในชาติ เชี่ยวชาญตามความถนัดของตน และมีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ สำหรับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ยึดโยงการจัดการศึกษาสู่การสร้างผู้เรียนที่พึงประสงค์ การพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนให้บรรลุเป้าหมายตามช่วงวัย
2) หลักสูตรการศึกษาและกระบวนการจัดการเรียนรู้ ตามรัฐธรรมนูญกำหนดมีการจัดการเรียนการสอนทุกระดับตามความถนัดผู้เรียนและโครงสร้างหน่วยงาน ซึ่งในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่จึงได้จัดให้มีระบบเทียบเคียงหรือเทียบโอนผลการเรียน ทักษะ สมรรถนะ พร้อมให้มีสถาบันพัฒนาหลักสูตรและการเรียนรู้เพื่อเป็นต้นแบบในการจัดทำและพัฒนาหลักสูตร
3) บทบาทการจัดการศึกษา ตามรัฐธรรมนูญกำหนดหน้าที่ของภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรส่วนปกครองท้องถิ่น สำหรับร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ได้เพิ่มเติมอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษาตั้งแต่ผู้ปกครองจนถึงหน่วยงานทุกภาคส่วน

ผู้แทนจากหน่วยงานด้านการศึกษา ได้ร่วมระดมความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะต่อฝ่ายเลขานุการฯ ทั้ง 3 ประเด็น ควรมีความยืดหยุ่น เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสภาวการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลา อีกทั้งให้หน่วยงานผู้จัดการศึกษาสามารถปรับใช้ในทางปฏิบัติได้จริง กำหนดหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานให้ชัดเจนเพื่อลดความซ้ำซ้อนการทำงานสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจะรวบรวมข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนเพื่อเป็นแนวทางการปรับข้อกฎหมายด้านการศึกษาให้สอดคล้องบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงและผลักดัน ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... สู่ทิศทางการปฎิบัติร่วมกัน

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด