สกศ. ระดมไอเดียขับเคลื่อนแผน NQF ระดับพื้นที่-สถานศึกษา ณ เมืองภูเก็ต
เซ็ตหลักสูตรการเรียนรู้ สู่กำลังคนสมรรถนะสูง
วันที่ 14 สิงหาคม 2567 ดร.นิติ นาชิต รองเลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนงานการขับเคลื่อนการดำเนินงานในระดับพื้นที่และสถานศึกษา โดยมี นางรัชนี พึ่งพาณิชย์กุล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ ดร.ศิริพรรณ ชุมนุม ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์ พร้อมด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดภูเก็ต วิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต วิทยาลัยเทคนิคภูเก็ต วิทยาลัยเทคนิคถลาง วิทยาลัยสารพัดช่างภูเก็ต วิทยาลัยเทคโนโลยีภูเก็ต สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัดภูเก็ต โรงเรียนเอกชนนอกระบบ ครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาของจังหวัดภูเก็ต ร่วมประชุม ณ วิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต
ดร.นิติ นาชิต รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวในการประชุมใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานเชื่อมโยงและสร้างความร่วมมือระหว่างการศึกษาในระดับต่าง ๆ ทั้งการศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต อันจะทำให้คนไทยทุกช่วงวัยมีผลลัพธ์การเรียนรู้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ ตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (National Qualification Framework - NOF) ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2566 เป็นต้นมา โดยจังหวัดภูเก็ตเป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่องของการนำ NOF มาเชื่อมโยงหลักสูตรของสถานศึกษา โดยพัฒนามาตรฐานทางการศึกษาร่วมกันของสถาบันการศึกษาในจังหวัด ซึ่งจังหวัดภูเก็ตได้มีผลดำเนินงานแต่ละด้าน ดังนี้
1) ด้านการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีการจัดการศึกษาผ่านความโครงการทวิศึกษา ระหว่างโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๓๖ กับวิทยาลัยเทคนิคถลาง และการพัฒนารายวิชาเพิ่มเติมในหลักสูตรแกนกลาง
2) ด้านการอาชีวศึกษา มีการพัฒนาพัฒนาหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) พ.ศ. 2567 เชื่อมโยงกับมาตรฐานอาชีพตาม NQF ทุกสาขาวิชา โดยเฉพาะสาขาวิชาที่ได้รับมอบหมายให้เป็นศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา หรือ CVM ได้แก่ วิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต-สาขาวิชาการโรงแรม วิทยาลัยเทคนิคภูเก็ต-สาขาวิชาเทคนิคซ่อมบำรุงเรือ วิทยาลัยเทคนิคถลาง-สาขาวิชาช่างอากาศยาน
นอกจากนี้ สถานศึกษาอาชีวศึกษาทั้งภาครัฐและภาคเอกชนยังได้มีการขับเคลื่อนในสาขาอื่นๆ อาทิ สาขาวิชาการท่องเที่ยว สาขาวิชาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สาขาวิชาอาหารและโภชนาการ สาขาวิชาเทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัล สาขาวิชายานยนต์ไฟฟ้า โดยการส่งเสริมให้ครูและผู้เรียนได้รับการรับรองมาตรฐานอาชีพตาม NQF ในสาขาอาชีพและระดับที่กำลังศึกษา รวมทั้งการจัดตั้งศูนย์ประเมินมาตรฐานอาชีพเพื่อบริการนักเรียนนักศึกษาและประชาชนทั่วไปที่สนใจ
3) ด้านการอุดมศึกษา สถาบันการอาชีวศึกษาภาคใต้ 2 ได้ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรให้เชื่อมโยงกับมาตรฐานอาชีพตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ โดยจังหวัดภูเก็ตได้มีการจัดการเรียนการสอนในสาขาวิชาต่างๆ ดังนี้
- หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาโรงแรม เชื่อมโยงกับมาตรฐานอาชีพ ด้านการท่องเที่ยวโรงแรม ภัตตาคารร้านอาหาร
- หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ เชื่อมโยงกับมาตรฐานอาชีพอุตสาหกรรรมดิจิทัล ของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ
- หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีอาหาร เชื่อมโยงมาตรฐานอาชีพด้านการท่องเที่ยวโรงแรม ภัตตาคารร้านอาหาร
- หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาการบัญชี เชื่อมโยงกับมาตรฐานงานด้านบัญชี ของสภาวิชาชีพการบัญชี
สำหรับมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ได้เริ่มกระบวนการพัฒนาหลักสูตรตามแนวทาง CHEVY ของ กระทรวง อว. ซึ่งจะเริ่มพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรตั้งแต่ปี พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป
4) ด้านการศึกษาต่อเนื่องตลอดชีวิต
- สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัดภูเก็ต พัฒนาหลักสูตรภาษาจีนและตัดเย็บเสื้อผ้า หลักสูตรการทำเบเกอรี่ และหลักสูตรการทำกาแฟ
- วิทยาลัยสารพัดช่างภูเก็ต พัฒนาหลักสูตรพนักงานอาหารไทย หลักสูตรนวดแผนไทย หลักสูตรตัดผมชาย และหลักสูตรการเพ้นท์เล็บ
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนในจังหวัดภูเก็ต ดำเนินการใน 11 หลักสูตร อาทิ หลักสูตรภาษาอังกฤษธุรกิจ ดนตรี กีฬากอล์ฟ นาฎยสากล เป็นต้น โดยโรงเรียนเอกชนนอกระบบจัดการเรียนการสอนในวิชาดนตรีและกีฬาและเทียบโอนรายวิชาให้แก่ผู้เรียนที่ศึกษาในโรงเรียน ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่สามารถสะสมในรูปแบบ Micro Credential ต่อไป
จากนั้น ที่ประชุมแบ่งกลุ่มจัดทำแผนงานการขับเคลื่อนการดำเนินงานระดับพื้นที่และสถานศึกษา สำหรับปีการศึกษา 2568 โดยแบ่งตามรูปแบบการศึกษาระดับต่าง ๆ แลกเปลี่ยนความคิดในการวางแนวทางขับเคลื่อนแผน การติดตามประเมินผล การพัฒนาขยายผลหลักสูตรให้สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพตาม NQF กรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนและมาตรฐานสากล ที่จะเป็นการยกระดับการผลิตและพัฒนากำลังคนในจังหวัดภูเก็ตให้มีสมรรถนะสูง มีศักยภาพในการแข่งขัน สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของประเทศ และแผนพัฒนาจังหวัดภูเก็ต พ.ศ. 2566 – 2570 ภายใต้หลักการของกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมให้เกิดระบบและกลไกการปฏิรูปการศึกษาอย่างมีคุณภาพและเป็นรูปธรรมต่อไป
Download รูปภาพเพิ่มเติมได้ที่
งานวันที่ 1: https://drive.google.com/drive/folders/17Q2hblyPn5lR1B_l2W3ZyO12EcVvgjRS
งานวันที่2: https://drive.google.com/drive/folders/1D1VUDFksrjbzVreqZzcxltnCgJ_AjDlh