สกศ. รวมทีม พิจารณา (ร่าง) กรอบทิศทางการวิจัยทางการศึกษาของชาติฯ พ.ศ. 2567-2570

image

วันที่ 9 สิงหาคม 2567 ดร. อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา ได้มอบหมายให้ ดร.ภูมิพัทธ เรืองแหล่ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานเปิดการประชุมพิจารณา (ร่าง) กรอบทิศทางการวิจัยทางการศึกษาของชาติ พ.ศ. 2567-2570 พร้อมด้วย ดร.รุ่งนภา จิตรโรจนรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการศึกษา นายวีระพงษ์ อู๋เจริญ ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา ข้าราชการและบุคลากรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นต้น ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร ชั้น 3 อาคาร 56 ปี สกศ. พร้อม ควบคู่กับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ Cisco WebEx 

สำนักวิจัยและพัฒนาการศึกษา สกศ. ได้จัดทำกรอบทิศทางการวิจัยทางการศึกษาของชาติ พ.ศ. 2567-2570 เพื่อเป็นกรอบในการกำหนดทิศทางการวิจัยทางการศึกษาของชาติที่ชัดเจน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถใช้เป็นแนวทางเพื่อการวิจัยพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ด้านการศึกษา เพื่อแก้ไขปัญหาและรับมือความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้งานวิจัยที่จัดทำขึ้นสามารถนำไปใช้ได้จริงและเกิดผลกระทบเชิงบวกต่อการศึกษามากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการนำการวิจัยทางด้านการศึกษาของประเทศไทยไปสู่เป้าหมายเดียวกันและบรรลุเป้าหมายสำหรับการพัฒนาประเทศ 

ช่วงระยะเวลาที่ผ่าน สกศ. ได้ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะข้อมูลด้านการวิจัยที่ผ่านมาเพื่อให้เห็นถึงสถานภาพการวิจัยและแนวโน้มการจัดการศึกษาในอนาคต โดยได้เก็บข้อมูลแบบสนทนากลุ่ม (Focus Group) เพื่อรับฟังความเห็นและการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง 5 กลุ่ม ได้แก่ 1) ผู้กำหนดนโยบาย 2) ผู้บริหารสถานศึกษา ครู และบุคลากรทางการศึกษา 3) นักเรียน ผู้ปกครอง 4) ภาคเอกชน 5) นักวิชาการ/ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา พร้อมทั้งวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับด้วยวิธีการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) และการวิเคราะห์แบบมองอนาคต (Foresight Analysis) เพื่อวิเคราะห์สัญญาณการเปลี่ยนแปลงและแนวโน้มการพัฒนาการศึกษาไทย จากการศึกษาพบ 4 สัญญาณการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อการพัฒนาและการวิจัยทางการศึกษาไทย ดังนี้ 1) การเปลี่ยนแปลงด้านความต้องการแรงงาน 2) การเปลี่ยนแปลงประชากร เศรษฐกิจ และสังคม 3) การเปลี่ยนแปลงด้านการเรียนรู้ 4) การเปลี่ยนแปลงด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สอดคล้องต่อทิศทางการพัฒนาด้านการวิจัยการศึกษาไทย

นอกจากนี้ สกศ. ยังได้สังเคราะห์และจัดหมวดของหมู่ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับแนวโน้มการพัฒนาการศึกษาที่ได้จากทบทวนวรรณกรรมและการสนทนากลุ่ม โดยพิจารณาจากความต้องการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยตามความเร่งด่วน และผลกระทบจากการวิจัยกับสภาพความไม่แน่นอน พร้อมกับจัดลำดับความสำคัญของประเด็นต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น ประเด็นการพัฒนาทักษะที่จำเป็น การ Re-skills/Up-skills และประเด็นเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาจัดอยู่ในลำดับความสำคัญสูงมาก ซึ่งควรต้องมีงานวิจัยใหม่ ๆ มาเติมเต็มอย่างต่อเนื่องให้การศึกษาไทยพัฒนาได้อย่างมีประโยชน์ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง โดยที่ประชุมร่วมกับพิจารณาแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่อผลการศึกษา เกิดความคิดเห็นอันเป็นประโยชน์มากมายต่อการวิจัยด้านการศึกษา การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทำให้ได้มาซึ่งแนวทางการดำเนินงานให้กรอบทิศทางการวิจัยทางการศึกษาของชาติ พ.ศ. 2567-2570 คลอบคลุมผู้เรียนทุกวัยมากขึ้นและสามารถให้ผู้ที่สนใจนำมาใช้งานงานได้สะดวกขึ้น

สกศ. จะนำความเห็นที่ได้จากการพิจารณา (ร่าง) กรอบทิศทางการวิจัยทางการศึกษาของชาติ พ.ศ. 2567-2570 มาพัฒนาต่อไป โดยการประชุมครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาวงการศึกษาของประเทศไทยให้อุดมไปด้วยงานวิจัยที่มีคุณภาพและภายใต้ประเด็นที่สอดคล้องกับบริบทสังคม

ดาวน์โหลดรูปภาพเพิ่มเติมได้ที่

https://drive.google.com/drive/folders/1fRRXJmUS3XCYPyJqx2oUSIfwtvuvHhQU?usp=drive_link

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด