ส่งท้ายเวทีสภาการศึกษานานาชาติ เปิดมุมมองนโยบายการศึกษาในสภาพแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนไป
วันที่ 2 สิงหาคม 2567 ดร. อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมประชุมสภาการศึกษานานาชาติ เรื่อง ความสามารถทางการแข่งขันด้านการศึกษาในสภาพแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนไป (International Education Council Seminar on Education Competitiveness in a Global Changing Environment) เป็นวันสุดท้าย โดยมี ดร. นิติ นาชิต รองเลขาธิการสภาการศึกษา นายธฤติ ประสานสอน รองเลขาธิการสภาการศึกษา ดร. กอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นางสาวพรทิพย์ กาญจนนิยต อดีตผู้อำนวยการบริหาร มูลนิธิการศึกษาไทย - อเมริกัน (ฟุลไบรท์) นางอำภา พรหมวาทย์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนจากหน่วยงานด้านการศึกษาทั้งไทยและต่างประเทศ และบุคลากรทางการศึกษาเข้าร่วมประชุม โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม 2567 ณ ห้องแกรนด์บอลรูม เอ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ ควบคู่การถ่ายทอดสดผ่าน Facebook : สภาการศึกษา
ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า วันนี้เป็นวันที่ 3 สำหรับการประชุมสภาการศึกษานานาชาติ เรื่อง ความสามารถทางการแข่งขันด้านการศึกษาในสภาพแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนไป โดยมีการเชิญวิทยากรมาให้ทั้งความรู้ แนวคิด มุมมองด้านการศึกษาในสภาพแวดล้อมด้านต่างๆ ของโลกที่เปลี่ยนไป นอกจากนั้นเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง การจัดการศึกษาในรูปแบบเดิมอาจจะไม่ตอบโจทย์สำหรับปัจจุบัน การศึกษาในอนาคตาอาจจะต้องหันกลับมามองว่าการจัดการศึกษาที่ผ่านมาใช่หรือไม่ สามารถตอบโจทย์ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์หรือไม่ และจะจัดการศึกษาให้กับเด็กยุคต่อไปอย่างไร โดยผลลัพธ์ของการสัมมนาในครั้งนี้จะนำไปเข้าที่ประชุมกรรมการสภาการศึกษา เพื่อกำหนดนโยบายการศึกษาในการขับเคลื่อนและจัดการกำลังคนให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคตต่อไป
จากนั้นที่ประชุมร่วมรับฟังแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่จะส่งผลกระทบต่อการศึกษาในปี 2024 ในประเด็น “นโยบายการศึกษาในสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป” จากผลของความไม่มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอาจจะทำให้งบประมาณรายจ่ายด้านการศึกษาของรัฐบาลลดลง อีกทั้งส่งผลให้เกิดอาชีพและธุรกิจรูปแบบใหม่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องทำให้ความต้องการแรงงานเปลี่ยนแปลงไป อีกประเด็นคือด้าน “นโยบายการศึกษาในสภาพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป” แม้ว่าความเจริญก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนดีขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้นด้วย การประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาช่วยในการจัดการศึกษา รวมทั้งพัฒนาคนให้สามารถคิดค้นนวัตกรรมและสามารถประยุกต์ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นงานสำคัญที่ภาคการศึกษาต้องเร่งดำเนินการ
นอกจากนั้นในที่ประชุมร่วมรับฟังการปาฐกถาพิเศษเกี่ยวกับนโยบายการศึกษาในสภาพแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนแปลงในหลากหลายประเด็น ทั้ง 1) นโยบายการศึกษาในสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โดย ดร. กอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 2) การบรรยายเรื่อง AI (Who’s Lead in the AI Eras?) โดยนางสาวพรทิพย์ กาญจนนิยต อดีตผู้อำนวยการบริหาร มูลนิธิการศึกษาไทย - อเมริกัน (ฟุลไบรท์) 3) การบรรยาย เรื่อง The Role of AI to Enhance Better Learning โดย Ms. Faryal Khan Programme Specialist for Education, UNESCO Bangkok 4) ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง นโยบายการศึกษาในสภาพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป โดย ดร. กฤษณพงศ์ กีรติกร นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 5) การบรรยายเรื่อง Enhancing Thailand Educational Competitiveness to Foster Economic and Social Growth : Perspective from the World Bank โดย ดร. ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ Human Development Economist, World Bank, Thailand 6) การบรรยายเรื่อง Educating for Growth and Social Development โดย Dr. Andreas Schleicher Director for Education and Skills at OECD ผู้ที่สนใจสามารถรับชมการประชุมย้อนหลังได้ที่ Facebook : สภาการศึกษา https://www.facebook.com/share/v/d1Fp5Jg6vLFbFAM5/
ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวจะมีส่วนสำคัญในการพัฒนา จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาเพี่อยกระดับความสามารถทางการแข่งขันทางการศึกษาที่เหมาะสม และรองรับสภาพแวดล้อมของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป
ดาวน์โหลดรูปภาพเพิ่มเติมได้ที่
https://drive.google.com/drive/folders/1FucdaVxucTykYh1_oPcBnQXLEH1qkAlu?usp=drive_link