สกศ. จัดเวทีสภาการศึกษานานาชาติ ดึงเครือข่ายการศึกษาทั่วโลก ตั้งเป้ายกระดับการศึกษาภายใต้สภาพแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนแปลง
วันที่ 31 กรกฎาคม 2567 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับองค์การระหว่างประเทศด้านการศึกษา อาทิ องค์การยูเนสโก ประเทศไทย องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย และองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดการประชุมสภาการศึกษานานาชาติ เรื่อง ความสามารถทางการแข่งขันด้านการศึกษาในสภาพแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนไป (International Education Council Seminar on Education Competitiveness in a Global Changing Environment) โดยมี พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุม พร้อมด้วย นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้บริหาร ศธ. ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนจากหน่วยงานด้านการศึกษาทั้งไทยและต่างประเทศ รวมถึงบุคลากรทางการศึกษา เข้าร่วมกว่า 300 คน โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม 2567 ณ ห้องประชุมแกรนด์บอลรูม เอ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ ควบคู่การถ่ายทอดสดผ่าน Facebook: สภาการศึกษา
พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทยเป็นหนึ่งในนโยบายหลัก กระทรวงศึกษาประกาศ นโยบาย เรียนดี มีความสุข มีเป้าหมาย การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ โดยส่งเสริมให้ผู้เรียนที่มีศักยภาพด้านวิชาการยกระดับการศึกษาของประเทศไทย และการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต ซึ่งการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญและต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง ภายใต้สภาพแวดล้อมโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว รุนแรง และส่งผลกระทบต่อสังคมทั่วโลก การศึกษาจึงต้องปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น การพัฒนาการศึกษาของประเทศจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับบริบท แนวโน้ม การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จึงอยากขอให้ทุกภาคส่วนร่วมกัน "ปฏิวัติการศึกษา แก้ปัญหาประเทศ" เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนแปลงไป การประชุมครั้งนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนากาการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายของ สกศ. และคณะกรรมการสภาการศึกษา สู่การพัฒนาการศึกษาของประเทศไทยได้อย่างแท้จริงต่อไป
ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลก ส่งผลต่อการจัดการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง โดย สกศ. ได้สังเคราะห์บริบททุกมิติที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการศึกษา พบว่า บริบท 4 มิติ ทั้งด้านสังคมและวัฒนธรรม เศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม นั้นส่งผลกระทบต่อการจัดการศึกษามากที่สุดในปัจจุบัน การจัดการประชุมในครั้งนี้ ถือเป็นการยกระดับการทำงานของ สกศ. สู่ระดับโลกมากยิ่งขึ้น และเป็นการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยที่จะก้าวเข้าสู่ชาติสมาชิกของ OECD จะทำให้ประเทศต่าง ๆ เห็นศักยภาพของประเทศไทยที่พร้อมจะแสดงบทบาทเป็นผู้นำด้านการศึกษาในเวทีโลกอย่างเต็มภาคภูมิ ทั้งนี้ สกศ. ได้วางแผนต่อยอดและรักษาเครือข่ายความร่วมมือทางการศึกษาในการประชุมครั้งนี้สู่การจัดตั้งสภาการศึกษานานาชาติให้กลายเป็นองค์กรนโยบายและแผนการศึกษาที่สำคัญในการกำหนดทิศทางและแนวโน้มทางการศึกษาในระดับโลกในอนาคตต่อไป
การประชุมในครั้งนี้ สกศ. มีการนำเสนอข้อมูลใน 4 หัวข้อหลัก ตามแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่จะส่งผลกระทบต่อการศึกษาในปี 2024 ได้แก่ 1) นโยบายการศึกษาในสภาพสังคมและวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไป 2) นโยบายการศึกษาในสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป 3) นโยบายการศึกษาในสภาพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปและ 4) นโยบายการศึกษาในสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ ผลลัพธ์ของการประชุมจะเป็นองค์ความรู้และข้อเสนอที่ตอบคำถามในประเด็นทางการศึกษาต่างๆ เช่น สถานการณ์ต่างๆ ในปัจจุบันที่จะส่งผลกระทบต่อการจัดการศึกษาของประเทศต่างๆ ในโลกอย่างไร ปัจจัยความสำเร็จที่จะทำให้ระบบการศึกษามีภูมิคุ้มกันและตอบสนองต่อสถานการณ์ดังกล่าว คืออะไร และข้อเสนอการยกระดับคุณภาพการศึกษาให้ตอบสนองกับสภาพแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนไป
ที่ประชุมรับฟังปาฐกถาพิเศษเกี่ยวกับนโยบายการศึกษาในสภาพแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนแปลง ในหลากหลายประเด็น ดังนี้ ประเด็นที่ 1: Transforming Education for Future Sustainability โดย Ms. Soohyun Kim ผู้อำนวยการสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ ประเด็นที่ 2: The Role of UNICEF in Promoting and Developing the Learning Environment for Children in a Rapidly Changing World โดย Ms. Kyungsun Kim ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย และประเด็นที่ 3: Embracing Education, Science and Culture to Enhance Better Lives in Southeast Asia โดย Mr. John Arnold Sasi Siena รองผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากนั้น มีการเสวนา เรื่อง ความสามารถทางการแข่งขันทางการศึกษาในสภาพแเปลี่ยนแปลงไป โดย ดร.ถาวร ชลัษเฐียร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายชาติชาย นรเศรษฐาภรณ์ กรรมการพัฒนาการศึกษา หอการค้าไทย นางพรกนก วิภูษณวรรณ ผู้อำนวยการ TMA Center for Competititiveness และ ดร.สุกิจ อุทินทุ อดีตกรรมการสภาการศึกษา ร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ที่จะนำกลับไปประยุกต์ใช้พัฒนางาน และเป็นข้อคิดเห็นให้แก่ สกศ. ได้นำไปใช้ประโยชน์ในการส่งเสริมความสามารถทางการแข่งขันทางการศึกษาในสภาพแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนไปให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างเป็นรูปธรรม
ดาวน์โหลดรูปภาพเพิ่มเติมได้ที่
https://drive.google.com/drive/folders/16Xy78nl2UNuNSZ1Xtti8E_7fZstyvrxy?usp=drive_link