สกศ. เปิดเวทีพัฒนา “แผนการศึกษาจังหวัด” 9 จังหวัดนำร่อง
วันที่ 30 กรกฎาคม 2567 ดร.นิติ นาชิต รองเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อการจัดทำแผนการศึกษาจังหวัด 9 จังหวัดนำร่อง ครั้งที่ 4 โดยมี นางรัชนี พึ่งพาณิชย์กุล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ และดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์ พร้อมด้วย ศึกษาธิการจังหวัด รองศึกษาธิการจังหวัด ผู้แทนจากสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดทั้ง 9 จังหวัดนำร่องและกรุงเทพมหานคร บุคลากรและข้าราชการสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ร่วมประชุม ณ ห้องธานี ชั้น 1 โรงแรม เอส ดี อเวนิว กรุงเทพมหานคร
ดร.นิติ นาชิต รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวเปิดงานใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า การจัดทำแผนการศึกษาจังหวัด เกิดจากการร่วมพัฒนาการศึกษาจากหลายภาคส่วน ทุก Key partners ร่วมพัฒนาการจัดการศึกษาและการแก้ไขปัญหาในระดับจังหวัด รวมถึงเป็นการขับเคลื่อนแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2579 สู่การทำแผนศึกษาจังหวัดที่จะมีความสอดคล้องกับบริบท อัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ เน้นวางกลยุทธ์ที่มีการปรับเปลี่ยนพร้อมรับกับความท้าทาย เริ่มตั้งแต่การกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ กระบวนการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม เชื่อมโยงกันตั้งแต่ระดับปฐมวัยไปจนถึงระดับอุดมศึกษา ครอบคลุมทั้งการศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย ที่สามารถชี้ทิศพัฒนาคุณภาพการศึกษา เป็นไปตามเป้าหมาย รวมทั้งเป็นต้นแบบต่อยอดสู่จังหวัดอื่นต่อไป
ที่ประชุมร่วมรับฟังการบรรยาย “ตัวชี้วัดที่สำคัญประกอบการจัดทำแผนการศึกษาจังหวัด” โดย นายภาณุพงศ์ พนมวัน นักวิชาการศึกษาชำนาญการพิเศษ สกศ. ซึ่งนำเสนอเทคนิคที่สร้างความรู้ความเข้าใจในการจัดทำแผนฯ เริ่มจากรูปแบบการกำหนดค่าเป้าหมาย ได้แก่ การกำหนดตามยุทธศาสตร์ การกำหนดตามความท้าทายของผู้บริหาร การกำหนดตามการเพิ่ม/ลดในแต่ละปี การเปรียบเทียบตัวชี้วัดกับค่ากลาง และการปรับค่ามาตรฐานของตัวชี้วัดก่อนกำหนดค่าเป้าหมาย ตลอดจนแนวทางในการขับเคลื่อนตัวชี้วัดควรปรับฐานเทียบเป็นหนึ่งร้อยแล้วจึงพิจารณาสถานะ แนวโน้ม ปัจจัยที่สะท้อนผลการดำเนินงาน เพื่อได้ข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ มีคุณภาพ สู่การนำข้อมูลไปใช้ได้อย่างถูกวิธี แก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด ตลอดจนทุกคนสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ร่วมกันได้
จากนั้นที่ประชุมร่วมกันอภิปราย “การจัดทำแผนการศึกษาจังหวัด 9 จังหวัดนำร่อง” ได้แก่ แม่ฮ่องสอน นราธิวาส สุราษฎร์ธานี สระแก้ว ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ชุมพร ชัยนาท และ สระบุรี โดยมีการอัปเดตความก้าวหน้าการดำเนินการจัดทำและพัฒนาแผนฯ ของทั้ง 9 จังหวัดนำร่อง ทำให้ทราบถึงข้อมูลจุดเด่นจังหวัด สถานการณ์ที่กำลังเผชิญ ความหลากหลายทั้งด้านการศึกษา สังคมและเศรษฐกิจ สู่การวิเคราะห์ปัจจัยสภาพแวดล้อมภายในและภายนอกที่สนับสนุนการสร้างกลไกการมีส่วนร่วม การบูรณาการพัฒนาการศึกษาจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทาง สกศ. ได้มีการสะท้อนไอเดียและให้ข้อเสนอแนะในการนำไปปรับปรุง เพื่อพัฒนาการจัดทำแผนการศึกษาจังหวัดที่มีความสมบูรณ์สอดคล้องกับบริบทความต้องการของพื้นที่ สามารถสะท้อนอัตลักษณ์ รวมถึงความจำเป็นเร่งด่วนของแต่ละพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ทิศทางการพัฒนาประเทศในอนาคต
ดาวน์โหลดรูปภาพเพิ่มเติมได้ที่
https://drive.google.com/drive/folders/1FcmKUZN5MaG_VzQw0_LC9c-JiaEQ7UzK?usp=drive_link