สกศ. รวมพลังผู้กำหนดนโยบาย ผลักดัน “กรอบทิศทางการวิจัยทางการศึกษา” สู่การปฏิบัติ พัฒนาการศึกษาไทยสู่อนาคต

image

วันที่ 23 กรกฎาคม 2567 ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม ปฏิบัติการ เรื่อง ทิศทางและแนวโน้มการวิจัยทางการศึกษาของไทย พร้อมด้วย ดร.ภูมิพัทธ เรืองแหล่ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา ดร.รุ่งนภา จิตรโรจนรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ ตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและบุคลากร สกศ. ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร ชั้น 3 อาคาร 56 ปี สกศ.

การวิจัยเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างองค์ความรู้เพื่อพัฒนาการศึกษา สำนักวิจัยและพัฒนาการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จึงดำเนินการจัดทำกรอบทิศทางการวิจัยทางการศึกษาของชาติ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางสร้างงานวิจัยที่มีองค์ความรู้ใหม่ๆ สู่การพัฒนาการศึกษา เพื่อให้บรรลุเป้าหมายจึงควรรับฟังการสะท้อนความคิดเห็นจากกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ 1) ผู้กำหนดนโยบาย 2) ผู้บริหารสถานศึกษา ครู และบุคลากรทางการศึกษา 3) นักเรียน/นักศึกษา และผู้ปกครอง 4) ภาคเอกชน และ 5) นักวิชาการ/ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา สำหรับกลุ่มผู้กำหนดนโยบาย ดร. อรรถพล สังขวาสี  กล่าวว่าสำหรับทิศทางและแนวโน้มการวิจัยทางการศึกษาของไทยในปัจจุบัน หน่วยงานทางการศึกษาทุกหน่วยได้ดำเนินงาน พัฒนา กำหนดแนวทางในการแก้ปัญหาที่เกี่ยวกับการศึกษาตลอดมา เนื่องจากบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลง การปรับเปลี่ยนเข้าสู่โลกดิจิทัลทำให้แนวโน้มกำลังคนต่ออาชีพไม่เพียงพอ ดังนั้นจึงต้องสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ๆ โดยใช้เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการศึกษาโดยใช้งานวิจัยมาพัฒนาและยกระดับการศึกษาไทยสู่เป้าหมายเดียวกัน

จากนั้นผู้เข้าร่วมประชุมจากตัวแทนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในกลุ่ม “ผู้กำหนดนโยบาย” ได้ร่วมอภิปราย มุมมองด้านการศึกษาของหน่วยงานใน 5 ประเด็น ดังนี้

1) สถานะปัจจุบันของการศึกษาไทย สำหรับผู้ใช้และผู้ทำงานวิจัย พร้อมกับบริบทของโลกที่เปลี่ยนไป

2) ความต้องการและลำดับความสำคัญในอนาคต เกี่ยวกับประเด็นที่สนใจ เป้าหมาย ทักษะที่พึงมีในปี พ.ศ.2570

3) ความท้าทายและอุปสรรค เกี่ยวกับการวิเคราะห์อุปสรรคและแนวทางจัดการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการวิจัย

4) โอกาสและนวัตกรรม เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติและการทำงานร่วมกัน

5) ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการจัดทำกรอบทิศทางการวิจัยทางการศึกษาของชาติ พ.ศ. 2567 – 2570

สำหรับในมุมมองของผู้กำหนดนโยบายแสดงความคิดเห็นตรงกันว่าการศึกษาต้องปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยต่อโลกยุคปัจจุบัน อีกทั้งควรตระหนักและให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีด้านดิจิทัลมากขึ้น พร้อมทั้งเห็นถึงความสำคัญของการศึกษาตลอดชีวิตทุกช่วงวัย ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องบูรณาการประสานความร่วมมือเพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาศักยภาพผู้เรียน

ดังนั้นเพื่อให้งานวิจัยสามารถนำไปสู่การใช้ประโยชน์ในทางปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมสอดคล้องกับบริบทด้านการศึกษาที่เปลี่ยนไป สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา พร้อมนำคำแนะนำและความคิดเห็นจากทุกหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการวิจัยทางการศึกษา เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการวิเคราะห์และจัดทำกรอบทิศทางการวิจัยทางการศึกษาของชาติให้สอดคล้องกับบริบทด้านการศึกษาที่เปลี่ยนไป

 

ดาวน์โหลดรูปภาพเพิ่มเติมได้ที่

https://drive.google.com/drive/folders/1rYI5YIiTRkIEPLtFPY3FUXv8gUUY8s89?usp=drive_link

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด