สกศ. จับมือ ศธจ.ปทุมฯ Workshop เทียบรายวิชามุ่งพัฒนาเครดิตแบงก์

image

วันที่ 18 กรกฎาคม 2567 ดร.นิติ นาชิต รองเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การจัดทำ Big Data ของศูนย์ธนาคารหน่วยกิตระดับจังหวัด และการเทียบรายวิชาของหลักสูตรแต่ละระดับเข้าสู่ระบบธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ : จังหวัดปทุมธานี โดยมี ว่าที่ร้อยเอก ดร.สาคร กิ่งจันทร์ ศึกษาธิการจังหวัดปทุมธานี และนางรัชนี พึ่งพาณิชย์กุล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ สพฐ. สอศ. สช. สกร. สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดปทุมธานี พร้อมหน่วยงานในพื้นที่ ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมชั้น 3 คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี

ดร.นิติ นาชิต รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวเปิดการประชุมโดยกล่าวถึงการดำเนินงานของระบบธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ (National Credit Bank) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญต่อการจัดการศึกษาที่ สกศ. เป็นผู้ดำเนินการขับเคลื่อนการดำเนินงานธนาคารหน่วยกิตในระดับจังหวัด สำหรับในครั้งนี้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการขึ้นที่จังหวัดปทุมธานีโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงานระบบธนาคารหน่วยกิตให้แก่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถานประกอบการ และองค์กรภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งร่วมจัดทำฐานข้อมูล (Big Data) และเทียบรายวิชาของหลักสูตรแต่ละระดับเพื่อขับเคลื่อนศูนย์ธนาคารหน่วยกิตจังหวัดปทุมธานีได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม 

หลังจากการกล่าวเปิดที่ประชุมร่วมกันรับชมคลิป “บทเรียนออนไลน์ (e-learning) หลักสูตรธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติและแนวทาง การดำเนินงานสู่การปฏิบัติ” โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับความสำคัญของระบบธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติและวิธีการดำเนินงาน พร้อมกับรับการชี้แจงการดำเนินงานจาก ดร.นิติ นาชิต ถึงรูปแบบการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้และอธิบายขั้นตอนการเทียบรายวิชาให้กับผู้เข้าร่วมประชุม โดยยกตัวอย่างกรณีศึกษาจากการประชุมเชิงปฏิบัติการจากจังหวัดอื่นที่ผ่านมา สำหรับการดำเนินงานการเชื่อมโยงและการเทียบรายวิชาของหลักสูตรแต่ละระดับของศูนย์ธนาคารหน่วยกิตระดับจังหวัด : จังหวัดนำร่อง เข้าสู่ระบบธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ ผู้เข้าร่วมประชุมได้ลงมือปฏิบัติผ่านการสนทนากลุ่ม (Focus group) โดยแบ่งกลุ่มตามประเภทงานของตน ดังนี้ กลุ่มที่ 1 ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น กลุ่มที่ 2 ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ กลุ่มที่ 3 ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงและระดับอุดมศึกษา และกลุ่มที่ 4 หลักสูตรระยะสั้นและการศึกษาตลอดชีวิต

ที่ประชุมร่วมกันลงมือเทียบรายวิชาของหลักสูตรแต่ละระดับหลังจากนั้นทุกกลุ่มได้ออกมานำเสนอผลการเทียบเคียงรายวิชาที่ได้ลองลงมือปฏิบัติมา พบว่าพื้นที่จังหวัดปทุมธานีอันเป็นจังหวัดใหญ่ใกล้กรุงเทพมหานครมีระบบการศึกษาที่มีประสิทธิภาพและหลากหลาย สืบเนื่องด้วยมีหน่วยงานด้านการศึกษาหลายรูปแบบ เช่น มหาวิทยาลัย วิทยาลัย โรงเรียนสาธิต ศูนย์การศึกษาพิเศษ และโรงเรียนสอนอาชีพต่าง ๆ โดยแต่ละหน่วยงานมีการจัดการศึกษาและหลักสูตรร่วมกัน จึงทำให้จังหวัดทุมธานีถือเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพอุดมไปด้วยโอกาสทางการศึกษาให้แก่ผู้เรียน ในอีกมุมมองหนึ่งถือเป็นเรื่องท้าทายที่จะเทียบเคียงระบบการศึกษาให้เชื่อมต่อกันด้วยความซับซ้อนและหลากหลายของระบบ เช่น การมีเนื้อหาวิชาของระดับอุดมศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาที่เกิดขึ้นจากการทำ MOU ระหว่างโรงเรียนกับสถานศึกษาระดับอุดมศึกษา กรณีศึกษาดังกล่าวถือเป็นเรื่องน่าสนใจและจำเป็นต้องนำไปพัฒนาระบบธนาคารหน่วยกิตต่อไป 

โดย ดร.นิติ นาชิต กล่าวว่า “เราต้องเข้าใจเป้าหมายของเครดิตแบงก์ก่อนว่าเป้าหมายคือ ต้องการให้ประชาชนสามารถเก็บองค์ความรู้ไว้ได้” และ “เราต้องมองในหลายมิติ โดยเฉพาะมิติของประชาชน”  สะท้อนว่าหลายสถานศึกษามีศักยภาพในพัฒนาผู้เรียนถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องการให้คำนึงถึงความเป็นธนาคารหน่วยกิตมุ่งตอบโจทย์หลักการศึกษาเพื่อปวงชน (Education for all) กล่าวคือประชาชนทุกคนสามารถมีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์จากการเทียบองค์ความรู้กับธนาคารหน่วยกิต สกศ. หวังว่าการประชุมเชิงปฏิบัติครั้งนี้ทำให้ทุกภาคส่วนเห็นถึงภาพรวมของการจัดการศึกษาและหลักสูตรต่าง ๆ ภายในจังหวัดปทุมธานี ก่อให้เกิดการสร้างความเข้าใจร่วมกัน สามารถนำกรณีศึกษาและข้อสังเกตมาประยุกต์ใช้ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานศูนย์ธนาคารหน่วยกิตจังหวัดปทุมธานี และพัฒนาระบบธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

ดาวน์โหลดรูปภาพเพิ่มเติมได้ที่
https://drive.google.com/drive/folders/10Ox-MecY2X3WOspDK5UMkbOYFqeSo_aO?usp=drive_link

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด