สกศ. ติดตามแผนการศึกษา 9 จังหวัดนำร่อง “เน้นอัตลักษณ์” ตอบโจทย์บริบทพื้นที่

image

วันที่ 18 กรกฎาคม 2567 ดร.นิติ นาชิต รองเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อติดตามความก้าวหน้าการจัดทำแผนการศึกษาจังหวัด 9 จังหวัดนำร่อง ครั้งที่ 3 โดยมี ผู้ทรงคุณวุฒิคือ ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ และดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์ นางโชติกา วรรณบุรี ผู้อำนวยการกลุ่มนโยบายและแผนการศึกษาแห่งชาติ สำนักนโยบายและแผนการศึกษาแห่งชาติ กล่าวรายงานการประชุม พร้อมด้วย ศึกษาธิการจังหวัด รองศึกษาธิการจังหวัด ผู้แทนศึกษาธิการจังหวัดนำร่อง 9 จังหวัด ข้าราชการและบุคลากรสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ร่วมประชุม ณ ห้องภุชงค์ เพ่งศรี ชั้น 2 อาคาร 1 สกศ. ควบคู่กับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์โปรแกรม Cisco WebEx 

ดร.นิติ นาชิต กล่าวว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการส่งเสริมสนับสนุนการจัดทำแผนการศึกษาจังหวัด 9 จังหวัดนำร่อง มีเป้าหมายให้สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดจัดทำแผนฯ ที่มีความสอดคล้องเข้ากับบริบทและอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ เชื่อมโยงกันในทุกระดับการศึกษา ตั้งแต่การศึกษาปฐมวัย ไปจนถึงระดับอุดมศึกษาทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย สามารถชี้ทิศพัฒนาคุณภาพการศึกษา รวมทั้งเป็นแนวทางต่อยอดต้นแบบการศึกษาไปสู่จังหวัดอื่น ๆ ครอบคลุมทั่วประเทศต่อไป

ที่ประชุมร่วมรับฟังการอภิปราย เรื่อง การจัดทำแผนการศึกษาจังหวัดตามกรอบแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2579 และสอดคล้องตามอัตลักษณ์ของจังหวัดนำร่อง 9 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ชัยนาท ชุมพร นราธิวาส แม่ฮ่องสอน ร้อยเอ็ด สระบุรี สระแก้ว และสุราษฎร์ธานี ที่มีจุดแข็งตามความหลากหลายในด้านภูมิศาสตร์ ซึ่งมีการทบทวนองค์ประกอบของ (ร่าง) แผนฯ ที่สำคัญ คือ ส่วนที่ 1 บทสรุปผู้บริหาร เน้นให้มีการนำเสนอ บทนำ กรอบการจัดทำแผน สรุปข้อมูลจังหวัด สรุปการวิเคราะห์ SWOT และสรุปแผนการศึกษาจังหวัดที่สั้นกระชับได้ใจความ ส่วนที่ 2 การศึกษา วิเคราะห์ สรุปประเด็นที่ได้จากการศึกษาแผนแต่ละระดับ ทั้งด้านเป้าหมาย ทิศทางการจัดการศึกษาของประเทศ และกำหนดกรอบ/ประเด็นการจัดทำแผนฯ และส่วนที่ 3 การวิเคราะห์และกำหนดองค์ประกอบแผนฯ เพื่อกำหนดทิศทางการจัดการศึกษาของจังหวัด

จากนั้นที่ประชุมร่วมทบทวนการจัดทำแผนฯ โดยเฉพาะการวิเคราะห์ปัจจัยหรือสภาพแวดล้อมภายในและภายนอก ตามกรอบการจัดทำแผนที่สรุปในส่วนที่ 2 ในลักษณะ SWOT Analysis ซึ่ง ดร.ชัยยศ ให้ข้อคิดว่า “Pain Point ด้านการศึกษาจะเป็นตัวชี้วัดความจำเป็นที่จะต้องวางแผนการศึกษาที่ตรงประเด็นที่สุด” ดังนั้น เมื่อเห็นจุดแข็ง-จุดอ่อน โอกาส-อุปสรรค ให้นำมาเปรียบเทียบกัน เพื่อทราบสถานการณ์ที่กำลังเผชิญรวมถึงสิ่งที่ควรปฏิบัติ แล้วสรุปเป็นเป้าหมายสู่การวางกลยุทธ์การดำเนินงานของจังหวัดให้มีประสิทธิผล ทั้งนี้ จะมีการนำเสนอแผนฯ ของทั้ง 9 จังหวัดร่วมกัน และ สกศ. รวบรวมเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายเสนอต่อคณะกรรมการสภาการศึกษาและคณะรัฐมนตรีต่อไป

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด