ไทยพร้อมเดินหน้าหารือความร่วมมือสานสัมพันธ์ไทย-จีน: ขับเคลื่อนการเทียบเคียงคุณวุฒิ สู่การพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง

image

วันที่ 23 – 28 มิถุนายน 2567 กระทรวงศึกษาธิการ ประเทศไทย โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้ดำเนินการ “โครงการประชุมหารือความร่วมมือเพื่อศึกษาแนวทางการเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิแห่งชาติของไทยและกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนกับระบบคุณวุฒิของสาธารณรัฐประชาชนจีน” ณ กรุงปักกิ่ง และนครเทียนจิน สาธารณรัฐประชาชนจีน

ในระหว่างวันที่ 26 – 27 มิถุนายน คณะผู้แทนประเทศไทย โดยมี ดร.สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ เป็นหัวหน้าคณะ พร้อมด้วย ดร.นิติ นาชิต รองเลขาธิการสภาการศึกษา นางรัชนี พึ่งพาณิชย์กุล รักษาการที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา ดร.ศิริพรรณ ชุมนุม นางปัทมา วีระวานิช ผู้ทรงคุณวุฒิ และบุคลากรสำนักกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ได้หารือความร่วมมือทางการศึกษากับสภาการศึกษานครเทียนจิน และประชุมหารือพร้อมเยี่ยมชมการจัดการเรียนการสอนของสถาบันการศึกษาที่มีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาไทย ทั้งในระดับมัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา โดยมีผลการหารือที่เป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนงานพัฒนากำลังคนตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (National Qualifications Framework: NQF) และกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (ASEAN Qualifications Reference Framework: AQRF) ดังนี้

• การประชุมหารือความร่วมมือในการกำหนดนโยบายและการพัฒนากำลังคนของกระทรวงศึกษาธิการ และสภาการศึกษานครเทียนจิน โดยมีนายเซิน จงเหล่ย ผู้อำนวยการฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ และ นายจวี เฟิง หัวหน้าฝ่ายอาชีวศึกษา สภาการศึกษานครเทียนจิน นำเสนอข้อมูลการจัดการศึกษาของนครเทียนจินและความร่วมมือกับต่างประเทศ โดยนครเทียนจินส่งเสริมการพัฒนาการศึกษาทุกระดับ และพร้อมพัฒนาความร่วมมือกับไทยและต่างประเทศ โดยมีความร่วมมือกับสถานศึกษาและให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาทั่วโลก โดยเฉพาะในส่วนของความร่วมมือภายใต้การดำเนินงานของสถาบันขงจื่อสายไหมทางทะเล ปัจจุบันมีนักเรียนและนักศึกษาไทย จำนวน 737 คน ศึกษาอยู่ในนครเทียนจิน และได้มีการส่งครูไปสอนที่ประเทศไทย จำนวน 535 คน

• การหารือความร่วมมือในการเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิแห่งชาติของไทย และกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน กับระบบคุณวุฒิของจีน จากการผลการหารือร่วมกับการศึกษาระบบการศึกษาของทั้งสองประเทศ และระบบคุณวุฒิแล้วสามารถดำเนินการพัฒนาความร่วมมือได้ โดยนำสมรรถนะของผู้เรียนตามระดับ NQF มีกำหนดสมรรถนะเป้าหมายของผู้เรียนในแต่ละระดับและแต่ละสาขาอาชีพ ร่วมกับการวิเคราะห์ความต้องการกำลังคน และการพัฒนาสมรรถนะภาษาจีน ซึ่งอาจเริ่มดำเนินการจากฐานความร่วมมือระหว่างสถานศึกษาที่มีอยู่ เช่น (๑) ระดับ ปวส. ระหว่างวิทยาลัยเทคนิคอาชีวศึกษาเทียนจินโป๋ห่าย (Tianjin Bohai Vocational Technical College) กับวิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา (๒) ระดับปริญญาตรี ระหว่างมหาวิทยาลัยครุศาสตร์เทียนจิน (Tianjin Normal University) กับสถาบันอุดมศึกษาในไทยที่มีความร่วมมือ เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เป็นต้น

• การหารือความร่วมมือในการเทียบเคียงคุณวุฒิระดับอุดมศึกษากับมหาวิทยาลัยครุศาสตร์เทียนจิน ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยผลิตครู 1 ใน 5 แห่งของจีน เปิดสอนในระดับปริญญาตรี โท เอก และหลักสูตรฝึกอบรมภาษาจีนระยะสั้น โดยมีความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาของไทยภายใต้การดำเนินงานของสถาบันขงจื่อฯ มีการจัดสรรทุนอบรมครูไทย เพื่อมาศึกษาวิธีการจัดการเรียนการสอน และการแลกเปลี่ยนผู้เรียน โดยมหาวิทยาลัยได้มุ่งเน้นการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ และนำเทคโนโลยีมาใช้ในการฝึกฝนนักศึกษาให้มีความพร้อมในการเป็นครู
• การหารือความร่วมมือในระดับอาชีวศึกษาในการขยายผลการพัฒนาหลักสูตรทวิวุฒิ (Dual Qualifications) จีนได้สนับสนุนการพัฒนาผู้เรียนอาชีวศึกษาโดยการจัดตั้งสถาบันลูปันแห่งแรกที่วิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา โดยการให้การสนับสนุนสื่ออุปกรณ์การเรียนรู้ การอบรมครู บุคลากร และการพัฒนาหลักสูตรทวิวุฒิร่วมกัน ในปัจจุบันการส่งนักศึกษาไทยมาศึกษาในหลักสูตรทวิวุฒิ ที่วิทยาลัยเทคนิคอาชีวศึกษาเทียนจินโป๋ห่าย ใน 4 สาขา ได้แก่ EV, IOT, Mechatronic and Robotic, CNC (Computer Numerical Control) Technology

• การหารือความร่วมมือทางการศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยโรงเรียนสาธิตมัธยมเทียนจิน (Tianjin Experimental High School) มีการวางแผนการจัดการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง โดยรัฐบาลกำหนดโครงสร้างหลักสูตรเป็น 3 ระดับ เพื่อให้นครหรือเขตการศึกษา รวมถึงสถานศึกษานำหลักสูตรแกนกลางดังกล่าวไปปรับใช้ ตามรายวิชาหลักทั้ง 14 รายวิชา ทั้งนี้ โรงเรียนได้มีความร่วมมือกับโรงเรียนต่าง ๆ ในไทย เช่น โรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และโรงเรียนวุฒิวิทยา 2 สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนในการส่งผู้เรียนระดับมัธยมศึกษามาแลกเปลี่ยน ซึ่งในอนาคตมีความเป็นไปได้ในการเทียบเคียงคุณวุฒิระหว่างไทยและจีน โดยต้องได้รับการอนุมัติจากสภาการศึกษานครเทียนจิน

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจะได้นำข้อมูลและผลการปรึกษาหารือไปจัดทำรายงานการศึกษาแนวทางการเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิแห่งชาติของไทยภายใต้การศึกษาทั้ง 3 ระดับกับจีน และข้อเสนอในความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนกับจีนในการเทียบเคียง AQRF กับระบบคุณวุฒิของจีน เพื่อรายงานต่อคณะกรรมการกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนต่อไป

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด