กระทรวงศึกษาธิการไทยสานสัมพันธ์ทางการศึกษา พัฒนาการเทียบเคียงคุณวุฒิกับสาธารณรัฐประชาชนจีน

image

วันที่ 24 – 27 มิถุนายน 2567 ดร.สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย พร้อมด้วย ดร.นิติ นาชิต รองเลขาธิการสภาการศึกษา ดร.ศิริพรรณ ชุมนุม นางปัทมา วีระวานิช ผู้ทรงคุณวุฒิ นางรัชนี พึ่งพาณิชย์กุล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา ดร.กาญจนา หงษ์รัตน์ ผู้อำนวยการกลุ่มนโยบายกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ นางอรุณี จักษ์ตรีมงคล คณะทำงานสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล และ Ms. Guo Ting รองผู้จัดการบริษัท ถังอินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเคชั่นแอนเทคโนโลยี จำกัด ประเทศไทย พร้อมด้วยบุคลากรสำนักกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ดำเนินการ “โครงการประชุมหารือความร่วมมือเพื่อศึกษาแนวทางการเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิแห่งชาติของไทยและกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนกับระบบคุณวุฒิของสาธารณรัฐประชาชนจีน” ณ กรุงปักกิ่ง และนครเทียนจิน สาธารณรัฐประชาชนจีน 

วันที่ 24 – 25 มิถุนายน 2567 ได้มีการประชุมหารือความร่วมมือ เพื่อพัฒนาความร่วมมือ และจัดทำแนวทางการเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิแห่งชาติของไทยและกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนกับระบบคุณวุฒิของสาธารณรัฐประชาชนจีน ณ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเขตเฟิงไถแห่งกรุงปักกิ่ง (Beijing Fengtai District Vocational Education Center School) และการใช้เทคโนโลยีในการจัดการเรียนรู้ตามนโยบายเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime) ของบริษัทถังฟงกรุ๊ป และบริษัทหัวเว่ย (Huawei)

ในภาคเช้า คณะผู้แทนไทยได้ประชุมหารือความร่วมมือและเข้าศึกษาดูงาน ณ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเขตเฟิงไถแห่งกรุงปักกิ่ง โดยมีนางจ้าว อ้ายฉิน ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาเขตเฟิงไถแห่งปักกิ่ง นายหลี่ จิ้นซง ประธานบริษัทการศึกษานานาชาติถังฟง กรุ๊ป พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและคณะครูวิทยาลัยอาชีวศึกษาเขตเฟิงไถแห่งกรุงปักกิ่งให้การต้อนรับ

การศึกษาดูงานและประชุมหารือการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการจัดการเรียนรู้ ในประเด็นการจัดการเรียนรู้ตามนโยบายเรียนรู้ Anywhere Anytime โดยวิทยาลัยอาชีวศึกษาเฟิงไถแห่งกรุงปักกิ่งเป็นวิทยาลัยที่เป็นต้นแบบในการจัดการอาชีวศึกษาสมัยใหม่ของจีน ให้ความสำคัญกับการสร้างความร่วมมือทางการศึกษาที่มีคุณภาพกับสถานศึกษาและสถานประกอบการทั้งในและต่างประเทศ ในด้านการพัฒนาหลักสูตร สื่อการสอน การพัฒนาครู ทุนการศึกษา ส่งเสริมให้ผู้เรียนแข่งขันทักษะฝีมือ โดยใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา โดยวิทยาลัยฯ จัดการเรียนการสอนในสาขาวิชาต่าง ๆ อาทิ ฟิลม์และภาพยนตร์ อาหารจีน อาหารตะวันตก กาแฟและการบริการ ในหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประการศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) โอกาสนี้ ได้เยี่ยมชมการจัดการเรียนการสอนของนักศึกษาชั้น ปวช. 3 ในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ทวิวุฒิไทย-จีน โดยเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วผู้เรียนจะได้รับคุณวุฒิการศึกษาระดับ ปวช. ในสาขาอาหารและโภชนาการของสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาควบคู่กับหลักสูตรสาขาอาหารจีน (Chinese cuisine cooking) ของวิทยาลัยฯ โดยใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลในการจัดการเรียนการสอน เพื่อให้เด็กไทยเรียนรู้ภาษาจีน ทักษะการทำอาหาร และวัฒนธรรมจีน 

ดร.สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ กล่าวปาฐกถา แสดงนโยบายหลักของกระทรวงศึกษาธิการที่สำคัญ 2 นโยบาย คือ 1) นโยบายเรียนทุกที่ทุกเวลา และ 2) นโยบายที่พัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะ เรียนจบแล้วมีงานทำ โดยกระทรวงศึกษาธิการไทยยินดีให้การสนับสนุนความร่วมมือการจัดการศึกษา พร้อมนำปรัชญาของวิทยาลัยฯ ไปปรับใช้ในการพัฒนาผู้เรียนให้ผู้มี “ทักษะ มีความเชื่อมั่น กล้าแสดงออก และมีความทะเยอทะยาน” ในช่วงท้ายของการประชุมเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นมาตรฐานอาชีพและการเทียบเคียงคุณวุฒิระหว่างไทยและอาเซียนกับสาธารณรัฐประชาชนจีน

ในช่วงบ่ายของวันที่ 24 มิ.ย. 67 เป็นการสัมมนาความร่วมมือในการพัฒนาการศึกษาระบบทวิวุฒิไทย- จีน 210 สาขา ในระดับอาชีวศึกษา โดยมีนายหลี่ หยู ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเขตปักกิ่งกล่าวต้อนรับ และกล่าวถึงความสัมพันธ์ไทย-จีน ตามนโยบายหลัก “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” (One belt one road) ซึ่งในปี พ.ศ. 2568 จะเป็นปีที่ครบรอบการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน ครบรอบ 50 ปี ทั้งนี้ สาธารณรัฐประชาชนจีนให้ความสำคัญกับการอาชีวศึกษา โดยรัฐบาลจีนกำหนดสัดส่วนผู้เรียนอาชีวศึกษาเป็นร้อยละ 50 ของประชากรวัยเรียน กรุงปักกิ่งเป็นเขตพัฒนาอาชีวศึกษาของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยวิทยาลัยอาชีวศึกษาเขตเฟิงไถแห่งกรุงปักกิ่งเป็นวิทยาลัยนำร่องของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่พัฒนาร่วมมือทางการศึกษากับสถานศึกษาในประเทศต่าง ๆ สำหรับประเทศไทยได้ทำความร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา คณะกรรมการการศึกษากรุงปักกิ่งได้ให้ความสำคัญกับโครงการความร่วมมืออาชีวศึกษาไทย-จีน 210 สาขา ซึ่งเป็นโครงการที่ยกระดับความร่วมมือด้านการอาชีวศึกษา และความร่วมมือทางการศึกษานี้จะเป็นการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของทั้ง 2 ประเทศ 

ดร.สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ได้นำเสนอนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการภายใต้การนำของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โครงสร้างหน่วยงานและระบบการศึกษาไทย โดยนโยบายเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime) และระบบธนาคารหน่วยกิต (Credit bank system) เป็นนโยบายที่กระทรวงศึกษาธิการไทยให้ความสำคัญ แต่สิ่งที่ท้าทายคือการนำระบบธนาคารหน่วยกิตมาใช้ให้เกิดการยอมรับระหว่างในประเทศและต่างประเทศ ในส่วนของ สกศ. ดร.นิติ นาชิต ได้นำเสนอการเชื่อมโยงโครงสร้างระบบการศึกษาไทยกับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ การเชื่อมโยงกรอบคุณวุฒิแห่งชาติของไทยกับกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนกับระบบคุณวุฒิของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยศึกษาจากสถานศึกษาที่เป็นคู่ความร่วมมือระหว่างไทย-จีนใน 3 ระดับ คือ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับอาชีวศึกษา และระดับอุดมศึกษา เพื่อประโยชน์ในการเทียบเคียงคุณวุฒิระหว่างกรอบคุณวุฒิแห่งชาติของไทยและกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนและระบบคุณวุฒิของสาธารณรัฐประชาชนจีน การเทียบโอนผลการเรียนรู้ระหว่างประเทศ การพัฒนาระบบทวิวุฒิ (Dual degree) และเป็นการสร้างแรงจูงใจการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนและการเคลื่อนย้ายของคนวัยทำงาน

นอกจากนี้แล้ว นายหลี่ จิ้นสง ประธานบริษัทการศึกษานานาชาติถังฟง กรุ๊ป ได้กล่าวถึง นโยบายและความก้าวหน้าในการดำเนินงานของบริษัทฯ ในการสร้างความร่วมมือการอาชีวศึกษาไทย-จีน ในรูปแบบทวิวุฒิ โดยนำแพลตฟอร์มดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือในการดำเนินงาน

จากนั้น ผู้อำนวยการ/ผู้แทนวิทยาลัยอาชีวศึกษาของสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้แก่ วิทยาอาชีวศึกษาหัวเป๋ย (Hubei Urban Construction Vocational and Technology College)  และวิทยาลัยอาชีวศึกษาเฟิงไถแห่งกรุงปักกิ่ง กล่าวรายงานความก้าวหน้าและความสำเร็จของโครงการทวิวุฒิไทย-จีน 210 สาขา ระดับอาชีวศึกษา 
นอกจากความร่วมมือการอาชีวศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) แล้ว สาธารณรัฐประชาชนจีนได้หารือความร่วมมือในการขยายการพัฒนาหลักสูตรทวิวุฒิในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) รวมถึงการจัดตั้งศูนย์ฝึกงาน อาทิ สาขารถไฟฟ้า (EV) ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) การพัฒนาครู และผู้เรียน เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศ

สำหรับ วันที่ 25 มิ.ย. 67  ได้มีการหารือความร่วมมือและศึกษาเรียนรู้ ณ Huawei Da Vinci Exhibition Hall เพื่อศึกษาเรียนรู้นโยบายเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime) การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ อาทิ ห้องเรียนอัจฉริยะ (Smart Classroom) แพลตฟอร์มการเรียนแบบออนไลน์ (e-learning Platform) ระบบการเรียนรู้ทางไกลแบบโต้ตอบ (Interactive Distance Learning System) ทั้งนี้ Huawei ได้มุ่งเน้นการสร้างสภาพแวดล้อมดิจิทัลในการพัฒนาเศรษฐกิจและการศึกษา นอกจากจะพัฒนาผู้เรียนให้เป็นพลเมืองดิจิทัลแล้ว ยังช่วยลดช่องว่างการขาดแคลนทรัพยากรทางการศึกษาและการขาดแคลนครูได้อีกด้วย 

กระทรวงศึกษาธิการโดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจะได้นำข้อหารือไปจัดทำข้อเสนอในการพัฒนาระบบการศึกษาของไทยภายใต้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในประเทศและสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมถึงรายงานการศึกษาต่อไป

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด