สกศ. มุ่งขับเคลื่อนส่งเสริมงานวิจัยสู่การปฏิบัติ

image

วันที่ 25 มิถุนายน 2567 สำนักวิจัยและพัฒนาการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จัดประชุม
ขับเคลื่อนการนำแนวทางการส่งเสริมงานวิจัยสู่การปฎิบัติ โดยมี ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม พร้อมด้วย ดร.ภูมิพัทธ เรืองแหล่ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา ดร.รุ่งนภา จิตรโรจนรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหารสถานศึกษา ครู ศึกษานิเทศก์ หน่วยงานทางการศึกษาทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค และบุคลากร สกศ. ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ณ ห้องประชุมอัศวินแกรนด์ เอ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น จังหวัดกรุงเทพมหานคร 

การวิจัยเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ทำให้เกิดการพัฒนาและยกระดับการศึกษาไทย ซึ่งประเทศไทยประกอบไปด้วยบุคลากรและหน่วยงานด้านการศึกษาที่มีความสามารถและผลิตงานวิจัยที่มีคุณภาพมากมาย โดย ดร.อรรถพล สังขวาสี ได้กล่าวถึงความสำคัญของการวิจัยที่ดีต้องมีข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ครบถ้วน สมบูรณ์ เชื่อถือได้ รวมทั้งต้องมีการกำหนดกรอบทิศทางในการดำเนินงานให้มีความชัดเจน โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาพร้อมสนับสนุนงานวิจัยให้บุคลากรทางการศึกษาได้นำไปใช้ได้จริง สร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อพัฒนาการศึกษาไทย จากนั้น ดร.รุ่งนภา จิตรโรจนรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการศึกษา บรรยายพิเศษในหัวข้อ บทบาทของการวิจัยทางการศึกษาในยุคดิจิทัล เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีในกระบวนการวิจัยในยุคปัจจุบัน โดยแบ่งเป็น 2 รูปแบบหลัก คือ 1) การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการดำเนินการวิจัย 2) การใช้อินเทอร์เน็ตเป็นแหล่งข้อมูลในการทำวิจัย ถึงอย่างนั้นผู้วิจัยเองก็ควรตระหนักในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลโดยควรมุ่งหมายให้เกิดผลสัมฤทธิ์กับงานให้มากที่สุด

จากนั้นผู้เข้าร่วมประชุมได้เสวนาวิชาการ ในหัวข้อ แลกเปลี่ยนเรียนรู้นโยบานและประสบการณ์การส่งเสริมงานวิจัยสู่การปฏิบัติ รศ.ดร.อิทธิพัทธ์ สุวทันพรกูล ได้ให้คำนิยามของงานวิจัยว่างานวิจัยต้องง่ายและใช้ได้จริง พร้อมทั้งแนะแนวทาง 4P Model ประกอบไปด้วย 1) Policy การพัฒนาระบบบริหาร และมีการติดตาม 2) Professional Performance การพัฒนาบุคลากร ยกระดับสมรรถนะ 3) Partnership การพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือ และ 4) Platform พัฒนาระบบสนับสนุน เน้นการสนับสนุนเป็นแนวทางบุคลากร นอกจากนี้ ดร.นิภาพร กุลสมบูรณ์ ได้กล่าวถึงงานวิจัยและบริบทการศึกษาในสิงคโปร์ ที่มีหน่วยงาน NIE ในการประสานความร่วมมือและสนับสนุนด้านทุนทรัพย์ในการพัฒนางานวิจัย สำหรับมุมมองของบุคลากรทางการศึกษาที่นำไปใช้ก็เห็นด้วยว่าการการสนับสนุนงานวิจัยของภาครัฐหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนงานวิจัยให้สามารถนำไปใช้ปฏิบัติในผู้เรียนได้จริง 

ดังนั้นเพื่อให้งานวิจัยสามารถใช้ประโยชน์ในทางปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับบริบทของโลกที่เปลี่ยนไป สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา พร้อมร่วมมือ สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมงานวิจัยทางการศึกษาสู่การปฏิบัติ เพื่อให้องค์ความรู้ที่เกิดขึ้นมีความน่าเชื่อถือ และนำงานวิจัยไปใช้อย่างเป็นรูปธรรมในการพัฒนาการศึกษาไทยให้มีคุณภาพต่อไป

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด