สกศ. เปิดเวทีหาทางออกวิกฤต O-NET ไทย ยกระดับการศึกษาชาติเทียบนานาประเทศ
วันที่ 20 มิถุนายน 2567 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น เรื่อง แนวทางการพัฒนาระบบการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET: Ordinary National Educational Test) โดยมี ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานเปิดการประชุม พร้อมด้วย ดร.ภูมิพัทธ เรืองแหล่ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา นางอำภา พรหมวาทย์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนการศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหารสถานศึกษา ครู และบุคลากร สกศ. ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร ชั้น 3 อาคาร 56 ปี สกศ.
สืบเนื่องจากการประชุมประสานภารกิจของกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 19/2567 เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มีข้อสั่งการมอบหมายให้ สกศ. รวบรวมข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นถึงแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET: Ordinary National Educational Test) จากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในด้านผลการดำเนินงาน ปัญหา อุปสรรค ปัจจัยความสำเร็จ และการใช้ประโยชน์จากผลการทดสอบ O-NET ซึ่งจะเป็นข้อมูลประกอบการวิเคราะห์และจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย สู่การพัฒนานโยบายและขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศสู่การปฏิบัติที่มีความครอบคลุม ครบถ้วน และสมบูรณ์
ที่ประชุมรับฟังการนำเสนอผลการวิเคราะห์แนวทางการพัฒนาระบบการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) โดย ศาสตราจารย์ ดร.ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ กรรมการสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ทรงคุณวุฒิ จากนั้นที่ประชุมร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงสาเหตุและปัจจัยที่ส่งผลให้การทดสอบ O–NET มีผลคะแนนต่ำ ซึ่งพบว่า นักเรียนจำนวนมากไม่เห็นความสำคัญหรือเห็นประโยชน์ของการสอบ O – NET นักเรียนไทยคุ้นเคยกับการจัดการเรียนการสอนที่เน้นการจำความรู้ และไม่ชอบอ่านบทความยาวๆ ได้จนจบหรือไม่สามารถจับสาระสำคัญได้ ทำให้บางส่วนเลือกที่จะเดาคำตอบ ตลอดจนบางโรงเรียนขาดแคลนห้องปฏิบัติการทำให้นักเรียนไม่มีโอกาสฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์จากการปฏิบัติจริง โดยมีปัจจัยที่ส่งผลต่อการยกระดับผลการทดสอบ O – NET คือ ภาวะผู้นำของผู้บริหารสถานศึกษาในการตัดสินใจ คิดริเริ่มสร้างสรรค์ และการรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น คุณภาพและทักษะความรู้ของครูผู้สอน การสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาจากภาคส่วนต่างๆ
อีกทั้ง ที่ประชุมมีข้อเสนอแนะในการพัฒนาการทดสอบ O – NET โดยเสนอให้เพิ่มมาตรการหรือแรงจูงใจให้นักเรียนเห็นความสำคัญของการทดสอบ O – NET การนำผลทดสอบ O – NET มาใช้ในการวัดคุณภาพขั้นต่ำของสถานศึกษา การเปลี่ยนนโยบายจากการทดสอบโดยสมัครใจเป็นการทดสอบทุกคน การปรับรูปแบบการทดสอบเป็นทดสอบด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ (Computer Base) เพื่อลดอคติจากตัวผู้ตรวจและร่นระยะเวลาในการตรวจข้อสอบ รวมถึงการปรับรูปแบบและแนวทางการทดสอบ O-NET ให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน
ทั้งนี้ สกศ. จะรวบรวมข้อมูลและข้อคิดเห็นที่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันจากการประชุมในครั้งนี้ไปใช้ประโยชน์ในการบูรณาการการทำงานกับหน่วนงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมมือกันในการจัดทำข้อเสนอแนวทางการพัฒนาการทดสอบ O-NET นำไปสู่การพัฒนานโยบายการศึกษาและยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยให้ดียิ่งขึ้นต่อไป