สกศ. เปิดโต๊ะไอเดีย “ยกระดับสมรรถนะการศึกษา” หวังขยับอันดับ IMD ในเวทีสากล
วันที่ 12 มิถุนายน 2567 สำนักประเมินผลการจัดการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุมผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อพิจารณาความก้าวหน้ารายงานสมรรถนะการศึกษาไทยในเวทีสากล ปี 2566 (IMD 2023) โดยมี ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เป็นประธาน พร้อมด้วย นางอำภา พรหมวาทย์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนการศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ นางสาวจุไรรัตน์ แสงบุญนำ นายรังสรรค์ มณีเล็ก นางขนิษฐา ห้านิรัติศัย นายปราโมทย์ ด้วงอิ่ม รศ.ดร.กัญญารัตน์ สานโอฬาร ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ข้าราชการและบุคลากร สกศ. ร่วมประชุม ณ ห้องสิปปนนท์ เกตุทัต ชั้น 2 อาคาร 2 สกศ. ควบคู่กับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
ที่ประชุมรับฟังการนำเสนอ (ร่าง) รายงานสมรรถนะการศึกษาไทยในเวทีสากล ปี 2566 (IMD 2023) โดย กลุ่มวิเคราะห์สภาวการณ์ทางการศึกษา จากนั้นร่วมให้ข้อคิดเห็นชี้แนะแนวทางการดำเนินงานในการจัดทำรายงานฯ ทั้งส่วนของข้อมูลพื้นฐานและบทวิเคราะห์แนวโน้มสมรรถนะการศึกษาไทยในเวทีสากลจากตัวชี้วัดของสถาบันนานาชาติเพื่อพัฒนาการจัดการ (International Institute For Management Development : IMD) เป็นกรอบหลักโดยเน้นวิเคราะห์ตัวชี้วัดด้านการศึกษา ซึ่งในปี 2023 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 30 (ปี 2022 อันดับ 33) จากจำนวน 64 ประเทศ เมื่อพิจารณาประเทศที่มีค่า IMD อยู่อันดับต้น ๆ พบว่ามีตัวชี้วัดที่ดีช่วยดึงดูดนักลงทุน คือ Skilled Workforce และ High Educational ซึ่งจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งทางด้านเทคโนโลยี เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดความต้องการทักษะใหม่ที่สอดรับกับสถานการณ์โลก ภาคการศึกษาจึงจำเป็นต้องเร่งยกระดับศักยภาพผู้เรียนให้สอดคล้องกับแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลง
การพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันทางการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐาน จากผลรายงานเล็งเห็นให้เร่งพัฒนาตัวชี้วัดอัตราการไม่รู้หนังสือของประชากร อายุ 15 ปี ขึ้นไป และตัวชี้วัดความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ ควรเพิ่มการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นและภาคเอกชน ซึ่งจะนำไปสู่การอัปเดตข้อมูลสถิติที่ทันสมัย แลกเปลี่ยนแนวคิดเพื่อดำเนินงานสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การเข้าสู่สังคมสูงวัยที่ทำให้ความต้องการแรงงานสูงขึ้น โดยเฉพาะช่างฝีมือแรงงาน (skilled labor) ดังนั้นจุดเน้นที่สำคัญคือ การผลิตกำลังคนและพัฒนาทักษะที่ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน ระบบธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) ได้ทลายกำแพงอาชีพและข้อจำกัดต่างๆ ในการพัฒนาตนเอง สามารถเทียบโอนความรู้ Re-Skill หรือ Up-Skill อย่างไรก็ตามควรส่งเสริมวิจัยในชั้นเรียนและการพัฒนาหลักสูตรที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนไปสู่การยกระดับการศึกษาไทยให้ก้าวทันโลก เทคโนโลยี และการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป
ทั้งนี้ สกศ. ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและวางแผนการศึกษาของประเทศ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนการศึกษาเพื่อพัฒนาศักยภาพคนไทยให้มีขีดความสามารถเต็มตามศักยภาพ จะรวบรวมและวิเคราะห์ผลการสะท้อนการพัฒนาและยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้านการศึกษา เพื่อจัดทำรายงานเป็นฐานข้อมูลแก่หน่วยงานต่าง ๆ ให้พร้อมร่วมมือพัฒนาการศึกษาไทยทัดเทียมกับนานาชาติต่อไป